
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สะใภ้หลวง หรือ สะใภ้เจ้า ที่คนไทยพอจะคุ้นชื่อกันคือ “หม่อมคัทริน” ชายาชาวรัสเซียใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ส่วน “สะใภ้เจ้า” อีกหลายท่าน อาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าใดนัก หนึ่งในนั้นคือ หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา ใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ต้นราชสกุล “รังสิต”
หม่อมเอลิซาเบธ มีนามเดิมว่า เอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์ (Elisabeth Scharnberger) เป็นชาวเยอรมัน พบรักกันขณะที่พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (พระนามเดิมของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง เสด็จไปทรงศึกษาที่เมืองไฮเดิลแบร์ก ประเทศเยอรมนี
หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ทรงพาไปพบนางสาวเอลิซาเบธว่า
“อีกแห่งหนึ่งที่เสด็จฯ ทรงพาไปนั้น เจ้าของบ้านเป็นกุลสตรีหม้าย ผู้มีอายุสูงมีบุตรอยู่ด้วยกัน 3 คน คนเล็กที่สุดมีอายุ 17 ปี คนนี้แหละในกาลต่อมาได้เป็นหม่อมห้ามของเสด็จพระองค์รังสิตฯ”
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระราชโอรสมีพระชายาเป็นชาวต่างชาติ อาจนำสู่คำถามเรื่องลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ และ “สถานภาพ” ของพระโอรสหรือพระธิดาที่จะประสูติออกมาว่าควรมีพระยศชั้นใด ดังเช่นกรณีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่ทรงสมรสกับหม่อมคัทริน
เมื่อเข้าสู่รัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความเข้มงวดเรื่องเจ้านายเสกสมรสกับสตรีชาวต่างชาติก็ดูจะผ่อนคลายลงไปบ้าง เมื่อพระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสมรสกับนางสาวเอลิซาเบธ
ทั้งสองจึงจดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ทำการอำเภอเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2455
เหตุที่ต้องเสด็จไปจดทะเบียนยังกรุงลอนดอน เพราะสมัยนั้นเจ้านายในยุโรปที่ทรงคบหาสมาคมด้วยอย่างกว้างขวาง ทรงถือว่าเป็นเรื่องเสียหายอย่างมากถ้าเจ้านายสมรสกับสามัญชนเพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายต่างๆ ที่เยอรมนี จึงทรงตัดสินพระทัยเดินทางไปจดทะเบียนที่อังกฤษแทน

เมื่อสมรสแล้ว หม่อมเอลิซาเบธได้ติดตามกรมพระยาชัยนาทนเรนทรกลับมายังสยาม ช่วงแรกหม่อมเอลิซาเบธรู้สึกลำบากใจที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในฐานะ “หม่อมห้าม” ทั้งยังมีเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีชาววังที่มีรายละเอียดมากมาย แต่หม่อมเอลิซาเบธก็พยายามศึกษาเรียนรู้ทั้งภาษาไทย ราชาศัพท์ กิริยามารยาทชาววัง มีเจ้านายฝ่ายใน โดยเฉพาะ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระขนิษฐาในกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเป็นผู้อบรมสั่งสอน
ในที่สุด หม่อมเอลิซาเบธก็สามารถนุ่งโจงกระเบน หมอบคลาน และเข้าเฝ้า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระเมตตาเลี้ยงดูอุปการะ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เสมือนพระโอรสของพระองค์เอง ด้วยกิริยามารยาทที่งดงามเรียบร้อย
หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา ได้รับการรับรองเป็น “สะใภ้หลวง” โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน นับเป็นสะใภ้หลวงท่านเดียวที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดนี้
กรมพระยาชัยนาทนเรนทรและหม่อมเอลิซาเบธ มีพระโอรส 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต และหม่อมเจ้าสนิทประยูรศักดิ์ รังสิต และมีพระธิดา 1 องค์ คือ ท่านผู้หญิงจารุลักษณ์กัลยาณี บูรณะนนท์ (พระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าจารุลักษณ์กัลยาณี รังสิต)
กรมพระยาชัยนาทนเรนทรสิ้นพระชนม์เมื่อ 7 มีนาคม พ.ศ. 2494 ณ วังถนนวิทยุ ส่วนหม่อมเอลิซาเบธสิ้นชีวิตเมื่อ 29 กันยายน พ.ศ. 2516 ร่างของหม่อมเอลิซาเบธพักผ่อนอย่างสงบชั่วนิรันดร์ ณ เมืองไฮเดิลแบร์ก เยอรมนี
อ่านเพิ่มเติม :
- คำว่า หม่อม ใช้มาตั้งแต่เมื่อใด? หม่อมแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร?
- ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส” หลังชีวิตสมรสล่มสลาย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. “สะใภ้เจ้า: จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2566.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2567