การค้นพบซาก “ปลาร้า” เฉียดหมื่นปีนับหมื่นตัวในสวีเดน บ่งชี้วิถียุคก่อนประวัติศาสตร์

ปลาร้า
ปลาร้า ปลาหมักประเภทต่างๆ ที่พบในตลาดสดของประเทศไทย (ภาพจาก มติชนออนไลน์)

ปลาร้า ที่เก่าแก่ที่สุดกว่า 9,200 ปี ถูกนักวิจัยในสวีเดนเผยแพร่การค้นพบเมื่อปี 2016 แหล่งชุมชนที่ทำปลาร้าโบราณดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่เคยเป็นทะเลสาบในเบลกิงจ์ (Blekinge) ทางตอนใต้ของสวีเดน โดยซากปลาที่พบมีมากนับหมื่นๆ ตัว

การค้นพบครั้งนี้อาจถือเป็นพลิกหน้าประวัติศาสตร์การศึกษากลุ่มวัฒนธรรมนอร์ดิกในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยการค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ชุมชนนอร์ดิก (ชนพื้นเมืองในสแกนดิเนเวีย) ในยุคดังกล่าวมีความซับซ้อนกว่าที่เคยคาดหมายไว้มาก

“การค้นพบปลาร้าหมักซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการถนอมอาหารตามประเพณีเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้คือที่ตั้งของชุมชน แต่มันยังช่วยยืนยันการรองรับสมาชิกชุมชนจำนวนมากได้อีกด้วย” อดัม โบเธียส (Adam Boethius) ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกจากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) กล่าว

การค้นพบนี้ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าชุมชนนอร์ดิกเมื่อ 9,200 ปีก่อนมีความก้าวหน้ากว่าที่เคยเชื่อกัน และอาจมีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งบ้างแล้ว หลังจากที่เคยเชื่อกันมานานว่าชาวนอร์ดิกในยุคดังกล่าวมักมีความเป็นอยู่อย่างเร่ร่อน ต่างจากกลุ่มชนในเลอแวนต์ (Levant พื้นที่ขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางด้านที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ที่มีการปักหลักทำการเกษตร และปศุสัตว์มานานก่อนหน้าชาวนอร์ดิก

“สิ่งที่เราพบในครั้งนี้ยืนยันข้อเท็จจริงที่ต่างออกไป ด้วยชาวนอร์ดิกได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานมานานกว่าที่เคยคิดไว้มาก และได้อาศัยประโยชน์จากทะเลและทะเลสาบในการล่าและแปรรูปปลา ซึ่งหากมองเทียบกับชุมชนอื่นๆ ในระดับโลก พัฒนาการในภูมิภาคนอร์ดิกอาจทัดเทียมกับภูมิภาคตะวันออกกลางในช่วงเวลาเดียวกัน” โบเธียส กล่าว

โบเธียสกล่าวว่า การค้นพบซากปลาเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องมากจากก้างปลาค่อนข้างเปราะบางและย่อยสลายง่าย เมื่อเทียบกับกระดูกของสัตว์บก แต่ในกรณีนี้ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นใจช่วยให้ซากปลาโบราณเหล่านี้หลงเหลือเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน

สำหรับกระบวนการหมักถือว่ามีความซับซ้อนมาก ด้วยเหตุที่สมัยนั้นคนยังไม่มีเกลือและเครื่องเซรามิกไว้ใช้งาน พวกเขาจึงต้องหมักปลาด้วยเปลือกไม้สนและไขมันแมวน้ำ จากนั้นจึงห่อหุ้มด้วยหนังแมวน้ำหรือหนังหมี แล้วนำไปฝังดินแล้วกลบด้วยดินโคลน ซึ่งการหมักเช่นนี้ทำได้เฉพาะในสภาพอากาศที่หนาวเย็นเท่านั้น

คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและชมภาพการขุดค้นครั้งนี้ได้ที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยลุนด์ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2560