ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“กุ้งแชบ๊วย” คือกุ้งทะเลชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ “กุ้งแช่บ๊วย” หรือการเอากุ้งไป “แช่” บ๊วยแต่อย่างใด แล้ว “แชบ๊วย” แปลว่าอะไร ทำไมมาเป็นชื่อกุ้ง?
กุ้งแชบ๊วยถูกนำมาประกอบอาหารคู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน เพราะมีรสชาติอร่อย เหมาะสำหรับทุกเมนู ไม่ว่าจะต้มผัดแกงทอด ทำเป็นกุ้งอบวุ้นเส้น หรือเป็นกุ้งเผาก็ได้
กุ้งชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มกุ้งทะเลชนิด Penaeus merguiensis De Man ในวงศ์ Penaeidae ลักษณะทั่วไปคือมีลำตัวเรียวยาว เปลือกใส สีขาวครีม หรือขาวอมเหลืองอ่อน กรีเรียวแหลมรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลปนแดง โคนสีดำ และมีจุดสีน้ำตาล สีเขียวแก่-อ่อน กระจายอยู่ทั่วสันบนปล้องท้อง ส่วนแพนหางสีแดง ขนาดทั่วไปของกุ้งแชบ๊วยจะใหญ่กว่ากุ้งขาวที่เป็นกุ้งน้ำจืด แต่มีขนาดเล็กว่ากุ้งกุลาดำเล็กน้อย สามารถพบได้ทั้งในชายฝั่งทะเลและน้ำกร่อย
“แชบ๊วย” ในภาษาแต้จิ๋ว
ข้อสังเกตคือ คำว่า “แชบ๊วย” นั้น เป็นคำยืมจากภาษาจีนแต้จิ๋ว คือ 青尾 (qīng wěi) แปลว่า “หางเขียว/น้ำเงิน” ส่วนกุ้งแชบ๊วยในภาษาจีนคือ 海虾 (hǎi xiā) แปลว่า กุ้งทะเล
ตรงนี้เองที่ค่อนข้างน่าฉงนหากจะบอกว่าชื่อ “แชบ๊วย” มีที่มาจากสีของหางกุ้งชนิดนี้ เพราะหางกุ้งแชบ๊วยจริง ๆ แล้วออกไปทางสีแดง ไม่ใช่สีเขียวหรือน้ำเงินแต่อย่างใด
ขณะที่กุ้งหางสีเขียวหรือน้ำเงินที่แท้จริงคือ กุ้งกุลาดำ หรือกุ้งม้าลาย, กุ้งลายเสือ
จึงสันนิษฐานได้ว่า ก่อนกุ้งทะเลชนิดนี้จะมีชื่อติดปากว่า “แชบ๊วย” คนสมัยก่อนอาจตั้งใจหมายถึงกุ้งกุลาดำนั่นแหละ แต่เพราะความสับสนระหว่างกุ้งทั้ง 2 สายพันธุ์ที่มีขนาดและลักษณะทั่วไปคล้ายกัน เพียงแต่กุ้งกุลาดำมีสีเข้มกว่า จึงเรียกเหมารวมกันไป
ท้ายที่สุด แชบ๊วยจึงถูกจดจำเป็นชื่อเรียกของกุ้งแชบ๊วยที่เรารู้จักในปัจจุบัน คือเรียกตามกันมาโดยไม่ได้สนใจว่า “แชบ๊วย” แปลว่า หางเขียว/น้ำเงิน นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- บางปะกง แม่น้ำกุ้งชุม กลายคําจากภาษาเขมร?
- “ซามารอเด็ง” หรือ “กือโป๊ะ” อาหารทานเล่นของคนใต้ ต้นตำรับ “ข้าวเกรียบปลา”
- ความจริงของ “หมาล่า” ปิ้งย่างสไตล์สิบสองปันนา คำที่ไม่ได้เรียกชื่ออาหารแบบที่เข้าใจ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กรมประมง. กุ้งแชบ๊วย. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567. (ออนไลน์)
Wordy Guru. แชบ๊วย. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567. (ออนไลน์)
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554. แชบ๊วย. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567. จาก https://dictionary.orst.go.th/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567