ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้ในอดีต “ปลาทู” จะได้ชื่อว่าเป็นอาหารของคนชนชั้นล่าง เพราะอร่อย ถูก และหาง่าย แต่เวลาต่อมามันกลายเป็นปลาที่ใครต่อใครชื่นชอบ เพราะเหตุผลเดียวกัน นั่นคือ รสชาติอร่อย หากินง่าย ราคาไม่แพง

ถึงขนาดที่เหล่าชาววังอย่าง “ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์” เจ้าของตำรับตำราอาหารเล่มแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่าง “แม่ครัวหัวป่าก์” และ “หม่อมหลวง ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์” หัวหน้าพระเครื่องต้นในรัชกาลที่ 9 เคยบันทึกถึงวันเวลาที่ดีที่สุดในการรับประทานปลาชนิดนี้ด้วย
แล้วปลาทู ควรกินเดือนไหน ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในความคิดของชาววัง ?
เรื่องนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ กล่าวไว้ใน วารสาร “ประติทินบัตร แลจดหมายเหตุ” ใน พ.ศ. 2432 ว่า…

ปลาทูควรกินในเดือนพฤศจิกายน และมีปลาน้ำเค็มน้ำจืดหลายชนิดที่ควรกินช่วงนี้
ความเต็มว่า ปลาในฤดูปลาช่อนฤาปลาหาง ปลาหมอน้ำใหม่ ดุกน้ำใหม่ เทโพ สังกะวาด อุก ดุกทะเล กด เนื้ออ่อน คางเบือน กราย ทู กู้เรา ตะพง จาระเมด เข้าเม่า ขนงโกรย กระเบน กระบอก กุ้งฝอย กุ้ง ตาเขบ กุ้งหลวง ปู สแม ปูทะเล หอยนางรม หอยม แลงภู่ หอยกะพง หอยแครง
ส่วน หม่อมหลวง ติ๋ว ชลมารคพิจารณ์ บอกในหนังสืออนุสรณ์วันพระราชทานเพลิงศพของสีหนัดด์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เช่นกันว่า ปลาทูควรกินช่วงพฤศจิกายน ไม่ผิดเพี้ยนกับที่ท่านผู้หญิงเปลี่ยนบอกไว้
ทั้งยังให้เหตุผลว่า เดือนเมษายน เริ่มมีตัวเล็กยังตัวไม่โต เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ตัวโต ชุกมากขึ้นทุกที ปลาทูทำอาหารได้มากอย่างไม่เบื่อง่าย จำนวนมากถึงส่งไปต่างจังหวัดมาก ทำย่าง ทอด นึ่งเป็นปลาแกล้มเครื่องจิ้มก็ดี ฉู่ฉี่น้ำ ฉู่ฉี่ปลา ผัดพริกขิง ใส่ไส้นึ่ง ชุบแป้งทอด ดองน้ำส้ม ห่อหมก ปลาแนม แกงส้ม ต้มส้ม ต้มยำ ต้มเค็ม ทำน้ำยา ทำข้าวต้มก็ดี ยังทำอย่างอื่นได้อีกมาก
เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม กำลังมีมากและดีที่สุด มีไข่อ่อนในท้องมันมาก เป็นปลาโตเต็มที่
พร้อมกับเสริมวิธีการเลือกปลาทูให้สดอร่อยว่า ปลาทูที่ดี ตัวปลาต้องแข็ง เหงือกสีแดงเข้ม ตาไม่ใสขุ่น
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “เดือนพฤศจิกายน” เป็นช่วงที่เหล่าชาววังจะนำปลาทูมารังสรรค์เป็นอาหารรสอร่อยให้รับประทาน
อ่านเพิ่มเติม :
- “กะปิและปลาทู” พระกระยาหารสามัญโปรดของรัชกาลที่ 5
- ย้อนรอย “น้ำพริกปลาทู” เมนูคุ้นเคยคู่ครัว ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคำตอบฮิตเวทีนางสาวไทย
- “ปลาทูซาเตี๊ยะ” สำรับต้นตำรับแห่งแม่กลอง เหตุใดจึงเรียกว่าซาเตี๊ยะ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ธัญญารัตน์ สามัตถิยะ. ความสำคัญของปลาทูต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2397-2496. [ม.ป.ท.]:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:116424.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2568