ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อยู่หลายคราว ซึ่งการเสด็จแปรพระราชฐานยังพระราชวังแห่งนี้ ได้ก่อให้เกิดเมนูอาหารใหม่ๆ ขึ้น เช่น ข้าวผัดไกลกังวล
ข้าวผัดไกลกังวล เมนูที่เกิดจากในหลวงเสด็จแปรพระราชฐาน
ในหนังสือชุด “บันทึก นึกอร่อย” เล่ม 3 จานข้าว จานเส้น สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมตำรับอาหารของ ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ต้นเครื่องพระกระยาหารไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผู้ถวายงานด้านอาหารมานานกว่า 40 ปี อธิบายไว้ว่า
ข้าวผัดไกลกังวล สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงที่รัชกาลที่ 9 เสด็จประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน เป็นข้าวผัดที่อุดมไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก และเครื่องเคราอื่นๆ ที่สร้างรสสัมผัสหลากหลายในหนึ่งคำ
เครื่องปรุงของข้าวผัดตำรับนี้มีเช่น สับปะรดขนาดลูกเล็ก 1 ผล กุ้งชีแฮ้ ปูทะเล หอยลาย ปลาหมึกตัวเล็ก กุ้งแห้งทอดกรอบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ลูกเกด หอมฝรั่ง พริกหวานฝรั่ง มะเขือเทศ น้ำมันมะกอก เป็นต้น
เมื่อนำเครื่องเคราทั้งหลายมาปรุงเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะออกมาเป็นข้าวผัดหน้าตาชวนรับประทาน คล้ายคลึงกับข้าวผัดสับปะรด ที่มีการนำข้าวผัดไปจัดใส่ในสับปะรด
เมนูนี้มีหลากหลายรสชาติ ที่สำคัญคืออุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น ทั้งจากท้องทะเล และผลไม้อย่างสับปะรด ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชสำคัญของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเป็นพืชที่มีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ต้นเครื่องพระกระยาหารไทย เล่า “พระกระยาหารโปรด” ในหลวงรัชกาลที่ 9
- เค้กโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือเค้กอะไร?
ที่มานาม “พระราชวังไกลกังวล”
พระราชวังไกลกังวล มีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ราว 100 ปีก่อน เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สำหรับใช้เป็นที่ประทับในฤดูร้อน และพระราชทานแด่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถาน เป็นผู้ออกแบบและอำนวยการสร้าง
การเตรียมปลูกสร้างเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพิธีก่อพระฤกษ์รากพระตำหนักเปี่ยมสุขด้วยพระองค์เองในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2470 พร้อมกับเริ่มก่อสร้างอาคารต่างๆ
เมื่อการก่อสร้างพระตำหนักเปี่ยมสุขแล้วเสร็จ รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชพิธีคฤหมงคลขึ้นองค์พระตำหนักเปี่ยมสุข ระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน พ.ศ. 2472 จากนั้นก็มีการสร้างอาคารภายในพระราชวังไกลกังวลเพิ่มเติมเรื่อยมา
พญ. กรรณิการ์ ตันประเสริฐ เล่าไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
แรกสร้างพระราชวังไกลกังวล รัชกาลที่ 7 ยังมิได้พระราชทานนาม เห็นได้จากหนังสือกราบบังคมทูลของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2470 ทูลขอตราและนามพระราชวังเพื่อสั่งซื้อสิ่งของเครื่องใช้ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสตอบกลับว่า “เวลานี้ยังนึกไม่ออก”
นาม “สวนไกลกังวล” ปรากฏใน “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน รัชกาลที่ 7” เป็นครั้งแรก ดังข้อความว่า “3 กันยายน 2470 เสด็จฯ หัวหิน พักที่ตำหนักแสนสำราญ เสด็จทอดพระเนตรการก่อสร้างสวนไกลกังวล”
แสดงว่า นาม “สวนไกลกังวล” ได้รับพระราชทานมาในช่วงเวลาระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน พ.ศ. 2470 ก่อนพิธีก่อพระฤกษ์รากพระตำหนักใหญ่ ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 21 กันยายน ปีเดียวกัน
“ไกลกังวล” เป็นนามที่สื่อความหมายในตัวเองอย่างลึกซึ้ง และมีสัมผัสสละสลวยงดงาม หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งถวายการรับใช้รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งพระองค์ประทับ ณ ประเทศอังฤษ เล่าว่า
“ทรงได้ชื่อมาจากเยอรมัน กษัตริย์เยอรมันให้ซื้อที่ดินแห่งหนึ่งว่า SANS SOUCI ‘ซองซูซี’ เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Without Care ไม่มีกังวล…”
พระราชวังซองซูซี อยู่ในเมืองพ็อทซ์ดัม (Potsdam) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี สร้างใน พ.ศ. 2288 (ค.ศ. 1745) โดยพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 หรือเฟรเดอริกมหาราช กษัตริย์ปรัสเซีย ผู้ทรงเป็นทั้งนักรบและนักปราชญ์ โปรดปรานดนตรี ศิลปะ และวรรณกรรม
เมนู “ข้าวผัดไกลกังวล” จึงไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่ยังสะท้อนประวัติศาสตร์ไทยที่เชื่อมโยงได้ถึงประวัติศาสตร์อีกซีกโลก
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาของอาหารชาววัง “สายเยาวภา” สู่ตำราอาหารของพระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
- “ตลาดฉัตร์ไชย” แหล่งช้อปปิ้งชื่อดังเมืองหัวหิน มาจากชื่อใคร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หนังสือชุด บันทึก นึกอร่อย ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เล่ม 3 จานข้าว จานเส้น. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2566.
ผู้สนใจหนังสือชุด “บันทึก นึกอร่อย” ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล สอบถามได้ที่ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา (โทร. 0 2447 8585-8 ต่อ 103) ร้านภัทรพัฒน์ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
กรมศิลปากร. “วังไกลกังวล”.
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ. จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ตุลาคม 2567