ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเสวยเมนูทั่วไปเช่นเดียวกับพสกนิกร (คลิกอ่าน “พระกระยาหารโปรดในหลวงรัชกาลที่ 9” ได้ที่นี่) นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดเสวยขนมหวาน เช่น เค้ก อีกด้วย ซึ่งเค้กโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “เค้กช็อคโกแลตอัลมอนด์” ที่ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ต้นเครื่องพระกระยาหารไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นผู้ทำถวาย
“เค้กช็อคโกแลตอัลมอนด์” เค้กโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9
ในหนังสือชุด “บันทึก นึกอร่อย” เล่ม 4 ของว่าง ของหวาน สนับสนุนการจัดพิมพ์โดย มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่รวบรวมสูตรของว่างและขนมหวานต่างๆ ที่ ท่านผู้หญิงประสานสุขเป็นผู้จดบันทึกมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี เล่าถึงเค้กช็อคโกแลตอัลมอนด์ว่า
เค้กตำรับนี้ ท่านผู้หญิงประสานสุขได้จากแหม่มชาวเยอรมัน แม้สูตรการปรุงที่มีในบันทึกจะไม่ครบสมบูรณ์ แต่เป็นเค้กที่ร่ำลือกันว่า ท่านผู้หญิงประสานสุขทำได้อร่อยมาก และเป็นเค้กโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเครื่องปรุงหลักๆ ของเค้กช็อคโกแลตอัลมอนด์ มีเช่น แป้งข้าวโพดร่อนแล้ว ผงฟู น้ำตาลละเอียด ไข่ไก่ โกโก้ ฯลฯ
พระองค์โปรดเสวยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับตรัสถามท่านผู้หญิงบ่อยครั้งว่า “เมื่อไหร่จะทำให้ฉันกินอีก”
“ท่านผู้หญิงประสานสุข” ต้นเครื่องพระกระยาหารไทยกว่า 4 ทศวรรษ
ท่านผู้หญิงประสานสุขเป็นต้นเครื่องพระกระยาหารไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นเวลากว่า 40 ปี ประวัติของท่านผู้หญิงนั้น เดิมชื่อสกุลคือ คุณประสานสุข นทิคามิน เกิดและเติบโตที่จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้สมรสกับ คุณอารีย์ ตันติเวชกุล อดีต สส. จังหวัดนครราชสีมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสหกรณ์ มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน คือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา
คุณประสานสุขชื่นชอบการทำอาหารและขนมหวานอย่างมาก ครั้งหนึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ จังหวัดเพชรบุรี ท่านได้มีโอกาสทำของหวาน มอบให้ท่านผู้หญิงเจือทอง อุรัสยะนันทน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้นำไปถวายขึ้นโต๊ะเสวย
วันหนึ่ง ใน พ.ศ. 2508 ท่านผู้หญิงเจือทองแจ้งคุณประสานสุขว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีรับสั่งขอให้ท่านเข้ามาเป็นต้นเครื่องไทย คุณประสานสุขปฏิเสธไป 2-3 ครั้ง แต่ก็ทรงมีรับสั่งขอให้เข้าไปทำหน้าที่นี้ และทรงมีรับสั่งอีกว่า ทำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร จะส่งไปเรียนตามวังต่างๆ
กาลต่อมา คุณประสานสุขได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งต้นเครื่องไทย ประจำพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งด้วยการถวายงานอย่างจงรักภักดี มีใจเมตตา จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และคำนำหน้าว่าท่านผู้หญิง ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2545 สิริอายุ 83 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ต้นเครื่องพระกระยาหารไทย เล่า “พระกระยาหารโปรด” ในหลวงรัชกาลที่ 9
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
- หม่อมถนัดศรี เผยรสชาติ-ข้อกำหนดอาหารในวัง และเหตุถูกแซวเป็น “พระยาโบราณทำลายราชประเพณี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
หนังสือชุด บันทึก นึกอร่อย ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล เล่ม ๔ ของว่าง ของหวาน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2566.
ผู้สนใจหนังสือชุด “บันทึก นึกอร่อย” ท่านผู้หญิงประสานสุข ตันติเวชกุล สอบถามได้ที่ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา (โทร. 0 2447 8585-8 ต่อ 103) ร้านภัทรพัฒน์ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2567