ผู้เขียน | ชีวิน เหล่าเขตรกิจ |
---|---|
เผยแพร่ |
พบสูตรกับข้าว อย่าง แกงบวน และแกงพะแนง ใน “สมุดไทย” สมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2391 แถมอยู่หน้าสุดท้ายสมุดไทย เอกสารนี้สำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์?
ในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผมได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ห้องเอกสารโบราณ ชั้น 4 หอสมุดแห่งชาติ เปิดเอกสาร “สมุดไทย” จดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 ชิ้นหนึ่งให้ค้นคว้า เป็นหนังสือราชการเกี่ยวข้องกับ “อากรสมพัตสร” (เก็บคนทำสวนผลไม้) และอากรยาสูบ 4 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรก เป็นข้อพิพาทของหมื่นเทพอากร ที่มีหน้าที่เก็บอากรสมพัตสร ณ บ้านคุ้งสำเภา เมืองชัยนาท แต่ถูกขัดขวางโดยขุนวิเศษ นายอำเภอบ้านดักคะนน (ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอมโนรมย์) ทางราชการจึงเรียกตัวขุนวิเศษมาไต่สวนเอาโทษที่กรุงเทพฯ
เรื่องที่ 2 ข้อพิพาทเขตแดนของเมืองชัยนาทกับเมืองอุทัยธานี บ้านเนินตูม เนินกำแพง ทุ่งแฝก เดิมเป็นของเมืองชัยนาท ต่อมาพระยาอุทัยธานีกล่าวว่าเป็นของเมืองอุทัยธานี ทางราชการให้หมื่นเทพอากรไปเก็บภาษี และบอกพระยาอุทัยธานีว่า บ้านทุ่งแฝก เป็นของเมืองชัยนาท แต่บ้านเนินตูม เนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นของเมืองอุทัยธานี เพื่อให้ราชการดำเนินการเก็บอากรสมพัตสรได้สะดวก จึงให้ข้าราชการทั้ง 2 เมืองทำแผนที่ (ทิวแขตแดน) ส่งไปยังกรุงเทพฯ
เรื่องที่ 3 เมื่อแผนที่ที่พระยาอุทัยธานีทำส่งไปยังกรุงเทพฯ แล้ว ภายหลังหมื่นเทพอากรได้สอบถามผู้ใหญ่บ้านเนินตูม เนินกำแพง ทุ่งแฝก ว่าอยู่ในเขตเมืองใด? ผู้ใหญ่บ้านตอบว่าอยู่เมืองชัยนาท จึงให้มีการไต่สวน เนื่องจากจะเป็นปัญหาในการเก็บอากรสมพัตสรในภายภาคหน้า
ได้ความว่า บ้านทั้ง 3 ตั้งอยู่แขวงเมืองชัยนาท แต่พระยาอุทัยธานีคนเก่า ได้ขอมาตั้งบ้านเรือน เนื่องจากที่ตั้งบ้านเดิมอยู่ในชัยภูมิที่ไม่ดีนัก (อำเภอหนองฉางเป็นที่ดอนอยู่ไกลจากแม่น้ำใหญ่ ทำให้ค้าขายไม่สะดวก) เมื่อไต่สวนเสร็จสิ้น ข้าราชการเมืองชัยนาท จึงให้คนเก็บอากรสมพัตสรจากบ้านดังกล่าวส่งให้หมื่นเทพอากรเช่นเดิม
เรื่องที่ 4 แตกต่างออกไป คำสั่งให้ขุนจำนงสมบัติ (จีน) นายประกันติดตามตัว จีนเทียว นายอากรยาสูบ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย หนีไม่ได้ส่งเงินหลวง เมื่อหาตัวพบให้เจ้าเมืองหรือกรมการเมืองทั้ง 3 เมือง ติดตามส่งเงินเข้าท้องพระคลังใช้สอยจับจ่ายราชการต่อไป
แต่ที่น่าประหลาดใจ คือหน้าสุดท้ายของเอกสารชิ้นนี้มีคำว่า “ต้มหมู” “ตำกะปิ” และ “ละลายน้ำตาล” ทำให้ผมรู้สึกว่าเนื้อความในเอกสารหน้านี้จะต้องเป็นสูตรกับข้าวแน่ๆ แต่เนื่องจากลายมือที่ใช้บันทึกเอกสารในส่วนนี้เขียนด้วยอักษรไทยแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นลายมือที่ค่อนข้างหวัด ทำให้อ่านจับใจความส่วนใหญ่ในเอกสารหน้าสุดท้ายนี้แทบไม่ได้
ผมจึงให้ขอหอสมุดแห่งชาติถ่ายเอกสารทั้งเล่ม เพื่อค้นคว้าและถ่ายถอดเป็นคำในภาษาไทยปัจจุบัน และเผยแพร่ให้สะดวกกับผู้สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ได้ค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญในด้านภาษาโบราณ คุณนรนท สุขวณิช, คุณจิรวัฒน์ ทศศะ, อ.ดอกรัก พยัคศรี, ดร.ตรงใจ หุตางกูร และนักโบราณคดีพฤกษคดี คุณ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา ที่ให้ความช่วยเหลือจนถอดคำในเอกสารได้เสร็จสิ้น
สูตรกับข้าว แกงบวน และแกงพระนัน (พะแนง) อยู่ในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 จุลศักราช 1210 (พ.ศ.2391) เลขที่ 190 ร่างสารตราพระยามหาอำมาตย์ เรื่องให้เอาตัวขุนวิเศษนายอำเภอมาไต่สวน มีรายละเอียดดังนี้
รสชาติ แกงบวน และแกงพะแนง ตามสูตรโบราณนี้จะเป็นอย่างไร เห็นทีต้องลองปรุงชิมกันดู
อ่านเพิ่มเติม :
- “สมุดไทย” สมัยก่อน ผลิตจาก “ต้นข่อย” มีกรรมวิธีอย่างไร
- “กระดาษกับคนเรา ของคู่กัน” มากกว่าจดบันทึก คือวัฒนธรรมที่สืบต่ออย่างบรรจง
- สืบสาวกําเนิดหอสมุดแห่งชาติ : หนังสือกับความเป็นชาติ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2567