เปิดข้อสันนิษฐาน ทำไมคนไทยเรียกขนมว่า “ขนม”?

ขนมไทย ขนม ขนมหวาน
ขนมไทย (ภาพจาก : เส้นทางเศรษฐี)

ถ้าพูดถึงคำว่า “ขนม” คงจะนึกถึง “ขนมหวาน” ต่าง ๆ เหมารวมไปถึงขนมกรุบกรอบที่ขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งคำนี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติความหมายไว้ว่า “ของกินที่ไม่ใช่กับข้าว มักปรุงด้วยแป้งหรือข้าวกับกะทิหรือนํ้าตาล, ของหวาน” 

ทำไมคนไทยต้องเรียกสิ่งนี้ว่าขนม?

ฝอยทอง ขนมไทยที่เชื่อกันว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้คิดค้น หรือทำให้แพร่หลาย (By Takeaway, via Wikimedia Commons)

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานไว้ว่า เหตุที่เรียกว่า “ขนม” มีที่มาจากคำว่า “เข้าหนม” ในสมัยก่อน โดย เข้า คือการเขียนแบบโบราณที่หมายถึง ข้าว ส่วน หนม แปลว่า หวาน รวมกันเป็นเข้าหนม นานวันเข้าก็มีการเปลี่ยนแปลงเสียงเป็น “ขนม”

Advertisement

ขณะที่ ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.  2553 มีความเห็นคล้ายกับกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ โดยอธิบายคำนี้ไว้ในหนังสือ “ขนมแม่เอ๊ย” ว่า ในภาษาถิ่นแถบอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม และบ้านเซบั้งไฟ ในประเทศลาว ปรากฏคำว่า “หนม” ที่เป็นกิริยา หมายถึง นวด ส่วนพงศาวดารเมืองน่านเรียกขนมว่า เข้าหนม เหมือนกับภาษาไทยลื้อว่า “เข้าหนม” 

จึงทำให้ ส. พลายน้อย สันนิษฐานว่าขนมก็น่าจะมาจากคำว่า “เข้าหนม” เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อสันนิษฐานว่า ขนมอาจมาจากภาษามอญว่า “คนุม” หรือ “คนอม” ก็เป็นได้ 

แม้จะไม่รู้แน่ชัดว่าท้ายที่สุดแล้วคำว่าขนมมีที่มาจากอะไรกันแน่ แต่คำว่าขนมในปัจจุบันก็แปรเปลี่ยน จากเดิมที่เรียกแค่ ขนมหวาน ก็เหมารวมไปถึง ขนมขบเคี้ยว ขนมที่ไม่ได้มีรสชาติหวาน เป็นต้น

ขนมหม้อแกงเพ็ญศรี นอกจากขนมหม้อแกงแล้วยังมีขนมไทยอีกหลายชนิด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/culture/article_66590


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2566