ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หากยังจำกันได้ จะเห็นว่าละคร พรหมลิขิต ที่ดำเนินเรื่องราวในสมัย “พระเจ้าท้ายสระ” พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เผยว่า พระองค์เป็นผู้ขึ้นชื่อว่าโปรดเสวย “ปลาตะเพียน” มาก เรื่องนี้มาจากหลักฐาน พระราชพงศาวดารฉบับบริติช มิวเซียม ซึ่งบันทึกว่า พระองค์โปรดปลาตะเพียนถึงขนาดห้ามไม่ให้ราษฎรกินปลาตะเพียน มิเช่นนั้นจะต้องถูกปรับเลยทีเดียว
ทำไมพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียน ?
“ปลาตะเพียน” มีดีอะไร? ทำไมพระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดเสวยขนาดนั้น ศิลปวัฒนธรรม ได้สอบถามไปยัง กฤช เหลือลมัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร และคอลัมนิสต์ “ต้นสายปลายจวัก” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า ทำไมคนถึงนิยมกินปลาตะเพียน ทั้งที่มีก้างเยอะ ซึ่งคุณกฤชให้คำตอบไว้ว่า “มันอร่อยครับ มีความมันมาก เนื้อปลาตะเพียนหวาน มีความนิ่ม เนื้อละเอียด ซุย ๆ ถึงจะมีก้างเยอะ แต่คนก็มีหลายวิธีที่จะเอามาทำกินได้อร่อย อีกอย่างก็คือมันหาได้มาก ติดแหมาเป็นฝูงได้ง่าย ๆ”
คุณกฤชยังแนะนำเมนูเด็ดจากปลาตะเพียน โดยนำปลาตะเพียนไปทอดในน้ำมันทั้งเกล็ดก่อน แล้วจึงต้มรุมไฟอ่อน ๆ เติมเครื่องปรุงให้ได้รสแบบต้มเค็มหวาน หรือต้มขิงก็ได้ ต้มกันข้ามวันข้ามคืนจนเปื่อยทั้งเกล็ดและก้างกลาง แบบนั้นจะกินได้ทั้งตัว
“หรือเอามีดคม ๆ บั้งขวางตัวถี่ ๆ ลึกถึงกระดูกกลาง วิธีนี้จะทำให้เมื่อทอดน้ำมัน ก้างเล็ก ๆ ยิบย่อย ๆ จะกรอบจนกินได้หมด ที่เรียก ‘ตะเพียนไร้ก้าง’ หรือเอาไปหมักข้าวสุกกระเทียมทำเป็นปลาส้ม, รมควันตากแห้งเป็นปลาย่าง เนื้อปลาตะเพียนทอดทั้งตัวนี่จะนุ่มนิ่มอร่อย ดีพอ ๆ กับปลากะมัง (น้ำจืด) หรือปลาใบขนุน (น้ำเค็ม) เลยทีเดียวครับ”
เมื่อสอบถามคุณกฤช ในฐานะคอลัมนิสต์ด้านอาหาร ด้วยประเด็นว่า ทำไมพระเจ้าท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียน คุณกฤชให้ความเห็นว่า หากไม่ใช่พงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมใส่ร้ายให้พระองค์ดูเป็นกษัตริย์ที่เอาแต่พระทัยจนเบียดเบียนริบเอาปลาตะเพียนที่ไพร่ฟ้าหามากินได้ง่าย ๆ ก็ต้องเป็นเพราะปลาตะเพียนอร่อยถูกพระทัยพระองค์จริง ๆ นั่นแหละ
คุณกฤชกล่าวส่งท้ายว่า “เพราะมันอร่อยน่ะครับ โดยเฉพาะไข่ปลาตะเพียน ที่อาจเอามาทำทั้งส้มไข่ปลา, หมกไข่ปลา, แกงส้ม ต้มยำไข่ปลาได้ ผมรู้สึกว่า ปลาตะเพียนทอง ที่หางแดงๆ ตัวย่อมๆ จะยิ่งมีเนื้อที่รสชาติอร่อยหวานกว่าตะเพียนธรรมดาด้วยซ้ำครับ”
บางที “ตะเพียนไร้ก้าง” ทอดในน้ำมัน จนก้างเล็ก ๆ กรอบเกรียมกินได้หมด อาจจะเป็นเมนูโปรดของพระเจ้าท้ายสระจริง ๆ ก็ได้ ใครจะรู้…?
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนาน “พระเจ้าท้ายสระ” โปรดเสวย “ปลาตะเพียน” มาจากไหน?
- รู้จัก “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” สุดอลังการ ที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
- “พระเจ้าท้ายสระ” โปรดการฆ่าสัตว์เหมือน “พระเจ้าเสือ” เคยฆ่านก ปลา ช้าง จำนวนมาก?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2566