ย้อนดูพัฒนาการคำว่า “ห้าง” จากศัพท์จีนทั่วไปสู่คำที่คนไทยติดปาก!

ห้าง เยาวราช ท่องเที่ยว ชาว จีน
เยาวราชชุมชนจีนโพ้นทะเลสำคัญในเมืองไทย

“ห้าง” เป็นคำที่คนไทยมักใช้เรียกแทนสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือสถานที่ประกอบธุรกิจ คำว่าห้างอยู่คู่กับคนไทยมานาน ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “ห้าง” แม้แต่เปิดข้อกฎหมายก็จะพบคำว่า “ห้างหุ้นส่วน” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” แต่รู้ไหมว่าคำว่าห้างไม่ได้มีต้นกำเนิดจากภาษาไทย ทว่ามาจากภาษา “จีน” 

คาดกันว่าคำว่า “ห้าง” ที่คนไทยใช้จวบจนปัจจุบันมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า “ฮั้ง” หรือ “ฮ้าง” ซึ่งเมื่อเทียบกับสำเนียงจีนกลางที่ออกเสียงว่า “หัง” หรือ “หาง” จะมีลักษณะคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ สำเนียงจีนแต้จิ๋วนั้นอยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ จึงทำให้หลายคนสันนิษฐานว่าคำนี้น่าจะมีที่มาจากแต้จิ๋วมากกว่าจีนกลาง 

ในช่วงแรก ห้างในสังคมจีนมักใช้กับร้านรวงที่เป็นระเบียบ อยู่ในห้องแถวแนวยาว ซึ่งไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนห้างในปัจจุบัน กระทั่งชาติตะวันตกเข้ามาทำการค้ากับจีน ห้างร้านแบบเดิมจึงกลายมาเป็นห้างร้านขนาดมโหฬาร ด้วยขนาดที่ใหญ่ ทั้งยังมีระบบระเบียบการจัดการที่ดี คนจีนจึงเรียกสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ว่าห้างไปด้วย

วันเวลาผ่านไป เหล่าคนจีนก็เข้ามาทำธุรกิจ ย้ายถิ่นฐานมาสยาม และได้แพร่กระจายคำว่า “ห้าง” ในสังคมไทย ใช้กันจนติดปากอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันมากมาย ทั้ง ห้างสรรพสินค้า ห้างร้าน นายห้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “คำจีนสยาม : ห้าง.” มติชนสุดสัปดาห์ 26, ฉ. 1,302 (สิงหาคม 2548): 39.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายน 2566