ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สังฆราชปาเลอกัวซ์ (พ.ศ. 2348-2405) นักบวชชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทย ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพำนักอยู่ในเมืองไทยยาวนาถึง 24 ปี (พ.ศ. 2372-2396) ทำให้เห็นเรื่องราวต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะการลิ้มลองอาหารการกินท้องถิ่น ซึ่งบางชนิด “ฝรั่ง” หลายคนอาจไม่ชอบ หรือสำหรับบางคนก็กินไม่ได้เลย ตัวอย่างปราบเซียนเช่นนี้ก็ต้องยกให้ “ทุเรียน”
ลาลูแบร์ (ค.ศ. 1642-1729) ราชทูตจากฝรั่งเศส ที่เข้ามาเมืองไทยประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาอยู่เมืองไทยประมาณ 3-4 เดือน กล่าวถึงทุเรียนไว้ในในบันทึกของเขาว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทนไม่ไหวเพราะกลิ่นอันเลวร้ายของมัน”
ขณะที่ อ็องรี มูโอต์ (ค.ศ. 1826-1861) นักสำรวจ นักธรรมชาติวิทยา และนักโบราณคดี ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้าในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 เดินทางไปหลายพื้นที่ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอยู่เกือบ 2 ปี สามารถญาติดีกับทุเรียน หลังจากลองกินหลายๆ ครั้ง จึงกล่าวว่า “ต้องลองพยายามใหม่จนครั้งที่สี่ที่ห้า ถึงรู้สึกว่ากลิ่นนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นหอมหวนชวนชื่นใจเป็นที่สุด”
ส่วนปาเลอกัวซ์ เป็นอีกคนที่สามารถผ่านด่านเรื่องกลิ่นทุเรียน จนสามารถกินมันอย่างเอร็ดอร่อยได้ เขาบันทึกถึงประสบการณ์เกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า
“ในประเทศสยาม ทุเรียน นั้นเป็นราชาแห่งผลไม้ทีเดียว ต้นไม้ที่ให้ผลชนิดนี้มีทรงสูงสง่า และทอดกิ่งออกไปตรงแทบจะเป็นเส้นขนานราบกับพื้นดิน ผลของมันมีเปลือกแข็ง มีหนามทรงกรวยคว่ำโดยรอบ ผลใหญ่ขนาดสักเท่าแตงโม เมื่อผลไม้สุกแล้ว เปลือกของมันซึ่งเป็นกลีบจะแตกออกเป็น 4 พู หรือ 4 ห้อง สุดแท้แค่จะเรียกกัน
ในนั้นมีเนื้อสีขาวอันวิเศษและเลิศรสยิ่งกว่าครีมอย่างดีเสียอีก กลิ่นของทุเรียน นั้นฉุนและน่ารังเกียจสำหรับชาวยุโรปที่เพิ่งมาถึงเมืองไทยใหม่ๆ เอาไปเปรียบกับกลิ่นอุจจาระ แต่ทว่า (สิ่งที่แปลกเหลือหลาย) เมื่อเราบริโภคเนื้อบริโภคผลไม้นี้เข้าไปแล้ว กลิ่นของมันจะเปลี่ยนเป็นหอมไปได้อย่างน่าอัศจรรย์” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
ไม่เพียงเท่านั้น หากปาเลอกัวซ์ยังนับว่า “เหนือชั้น” ในการกินทุเรียนอีกด้วย บันทึกของเขายังกล่าวถึง การกินมังคุดแก้ความร้อนของทุเรียนไว้ว่า
“เมื่อเรากินทุเรียนแล้ว มีระเบียบอยู่ว่าเราจะต้องกันมังคุดด้วย กล่าวกันว่า ทุเรียนนั้นร้อน จำเป็นที่จะต้องบรรเทาอุณหภูมิลงเสียบ้างด้วยสิ่งที่ชุมอกชุ่มคอ ต้นมังคุดนั้นใบดกเป็นพุ่ม สูงประมาณ 15 บีเอด์ ผลของมันขนาดเท่าส้ม เปลือกเป็นสีน้ำตาลแก่ทางด้านนอก และสีแดงทางด้านในส่วนโค้งในเปลือกที่หุ้มเนื้อในแบ่งออกเป็นห้องๆ มีเนื้อขาวอิ่มน้ำหุ้มเมล็ดขม
ผลมังคุดนั้นชวนกินทั้งกลิ่นทั้งรส มีกลิ่นน่าชื่นใจคล้ายกลิ่นผลแร็สพเบอร์รี่ ชุ่มคอ, สะอาดมากไม่ทำให้ท้องเสียเลย พวกชาวยุโรปจึงเยินยอกันนักว่าเป็นผลไม้จำพวกรสดีที่สุดในภาคอินเดีย…” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
- บันทึกเรื่อง “ทุเรียน” ในประวัติศาสตร์ไทย ลาลูแบร์บอก “กลิ่นเกินทน”
- อ็องรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสบันทึกประสบการณ์กิน “ทุเรียน” เมืองจันท์
ข้อมูลจาก :
สังฆราช ปาเลกัวซ์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. เล่าเรื่องเมืองไทย, สนพ.ก้าวหน้า, พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2506
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2565