สมัยรัชกาลที่ 4-5 เดินทางไป “เชียงใหม่” ทางไหน? อย่างไร?

วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (Image by lifeforstock on Freepik)

การเดินทางไป-กลับเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ในอดีต เช่นในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นเรื่องยากลำบากมาก ถึงอย่างนั้นก็ยังมีการเดินทางไปมาระหว่างกันอยู่เรื่อยๆ

เส้นทางที่ใช้กันหลักๆ มีทางบกและทางน้ำ การเดินทางทางบกมักเดินทางด้วยช้างหรือม้า เพราะจำเป็นต้องปีนป่ายไปตามภูเขาสูง ส่วนการเดินทางทางน้ำนั้นเป็นที่นิยมมากกว่า โดยจะใช้เรือแม่ปะหรือเรือหางแมงป่อง ซึ่งเป็นเรือท้องแบน ทำจากไม้ต้นเดียว กลางลำเรือมีหลังคาโค้งทำขึ้นจากไม้ไผ่สานไว้ป้องกันแดดและฝน เป็นพื้นที่สำหรับบรรทุกสินค้า เรือแมงป่องบางลำสามารถบรรทุกน้ำหนักสินค้าได้มากถึง 2.5 ตัน เรือหางแมงป่องนี้บริเวณท้ายเรือจะสูงและเชิดคล้ายหางแมงป่อง เป็นที่มาของชื่อเรือนั่นเอง

การเดินทางขาไป “เชียงใหม่” เริ่มเดินทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา มุ่งสู่แม่น้ำปิงที่เมืองนครสวรรค์ มักแวะพักที่เมืองระแหง หรือเมืองตาก และอาจเดินทางต่อด้วยเรือ หรือเปลี่ยนเป็นเดินทางทางบกด้วยช้างหรือม้า

ในหนังสือ A half century among the Siamese and the Lao เขียนโดย ศาสนาจารย์ ดอกเตอร์ แมคกิลวารี มิชชันนารีชาวอเมริกัน ที่เดินทางเข้ามาสยามเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แมคกิลวารี พร้อมคณะมิชชันนารีที่มีโอกาสได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ได้บันทึกการเดินทางครั้งหนึ่งว่า ท่านออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2406 เดินทางด้วยเรือมุ่งสู่ตาก จากนั้นเปลี่ยนมาเดินทางด้วยช้าง และเดินทางถึงเชียงใหม่ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2407 (นับศักราชแบบใหม่) ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 49 วัน

คณะมิชชันนารีได้พำนักที่ เมืองเชียงใหม่ 10 วัน จากนั้น แมคกิลวารี พร้อมคณะมิชชันนารีเดินทางกลับมากรุงเทพฯ ด้วยเรือจากเชียงใหม่ และกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 30 มกราคม ปีเดียวกัน ดังนั้นการเดินทางขากลับด้วยเรืออาจใช้ระยะเวลาประมาณ 13 วัน

ต่อมาวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2410 (นับศักราชแบบใหม่) แมคกิลวารีพร้อมคณะมิชชันารีเดินทางไปเชียงใหม่อีกครั้ง การเดินทางครั้งใหม่นี้ท่านบันทึกไว้ว่า “การเดินทางเป็นไปอย่างเชื่องช้าแต่เราก็สนุกกับมัน” การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงตาก ใช้ระยะเวลาราว 4 สัปดาห์ และต้องเปลี่ยนมาขึ้นเรือลำใหม่ จากตากไป “เชียงใหม่” คณะมิชชันนารีใช้ระยะเวลาอีกราว 1 เดือน ต้องผ่านเกาะแก่งต่าง ๆ มากถึง 32 แห่ง

แม่น้ำปิง เส้นทางเดินเรือจากรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ของโซเฟีย และดาเนียล แมคกิลวารี ในครั้งนั้น

การเดินทางด้วยเรือนั้นต้องลัดเลาะไปตามลำน้ำปิง บางจุดเป็นทางน้ำแคบ กระแสน้ำแรง เนื่องจากเป็นช่วงในหุบเขา และยังมีเกาะแก่งหลายแห่ง เป็นการเดินทางที่แสนทรหดมาก ตามที่แมคกิลวารีบันทึกจนเห็นภาพ ความว่า

“พวกเราติดอยู่ในแก่งนานจนเกินไป ห่างจากภูเขาลูกสุดท้ายไม่มากนัก คือที่ราบหุบเขาอันกว้างใหญ่ของเชียงใหม่และลำพูน ทั้งผู้โดยสารและคนเรือต่างก็ถอนหายใจอย่างโล่งอก เมื่อภูมิประเทศเปิดโล่งออกไป ดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงจ้าตลอดวันกลับมาให้พวกเราเห็นอีกวาระหนึ่ง กอไผ่ที่มีกิ่งก้านสาขาพริ้วไหวตามลมราวกับขนนกทำให้ชื่นตาชื่นใจยิ่งนัก”

คณะมิชชันนารีได้เดินทางถึง เมืองเชียงใหม่ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2410 ใช้เวลาไปทั้งสิ้น 3 เดือนเต็ม

ในพงศาวดารล้านนา ก็มีบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ โดยในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่เสด็จมาถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2413 เสร็จแล้วได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ทั้งนี้ในพงศาวดารมิได้ระบุว่าเสด็จกลับทางเรือ ระบุเพียงความว่า “ขึ้นไปถึงบ้านท่าพระเนตรในเขตเมืองนครเชียงใหม่” จึงสันนิษฐานว่าอาจเสด็จโดยทางเรือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสด็จถึงบ้านท่าพระเนตร เมื่อเดือนแปด แรมสองค่ำ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัยเพียง 1 วันก่อนถึงตัวเมืองเชียงใหม่ จึงอาจเปรียบได้ว่าการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ของคณะทูตเชียงใหม่คราวนี้ใช้ระยะเวลาราว 2 เดือน

อีกหลักฐานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในเส้นทางนี้คือ “ลิลิตพายัพ” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองเหนือ และเมื่อเสร็จพระกรณียกิจแล้ว ได้ออกเดินทางจากเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2449 และถึงตากเมื่อวันที่ 12 มกราคม ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 8 วันเท่านั้น และเสด็จฯ ถึงสถานีรถไฟบางปะอิน เมื่อวันที่ 31 มกราคม และหากตัดวันที่ต้องปฏิบัติพระกรณียกิจในแต่ละท้องที่ออกไป จะใช้ระยะเวลาเดินทางไม่ถึงหนึ่งเดือน 

เส้นทางคมนาคมทางน้ำ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ นั้นเสื่อมความนิยมลงเมื่อรถไฟเข้ามาถึงสยาม กระทั่งเส้นทางรถไฟสายเหนือมาถึงเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2464 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เส้นทางคมนาคมทางน้ำจึงหมดความสำคัญลงไปในที่สุด เพราะรถไฟมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าทางเรือหลายเท่าตัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562