ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สะพานวัดเกต เมืองเชียงใหม่ สะพานไม้สักข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก
สะพานวัดเกต เมืองเชียงใหม่ หรือ ขัวเก่า เป็นสะพานสร้างจากไม้สักไว้ข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกที่เมืองเชียงใหม่ โดยนายแพทย์ เอ็ม. เอ. ชีค (Dr.M.A. Cheek) หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า หมอชีคบ้าง พ่อเลี้ยงชีคบ้าง เป็นผู้สร้างสะพานด้วยเงิน 30,000 รูปี ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เป็นผู้ครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2416-2440)
หมอชีคเป็นแพทย์ชาวอเมริกันที่ทำกิจการป่าไม้จนร่ำรวย มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลสยาม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการค้าไม้สักไทยในตลาดต่างประเทศ และชักชวนให้บริษัทในยุโรปได้เข้ามาทำกิจกรรมป่าไม้สัก
สะพานดังกล่าวเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกตรงหน้าวัดเกตการาม กับฝั่งตะวันตกเหนือตลาดต้นลำไย จึงเรียกสั้นๆ ว่า สะพานวัดเกต มีเรื่องเล่าว่า หมอชีคทำเรื่องเบิกเงินค่าสร้างสะพาน แต่ทางคลังแจ้งกลับมาว่าไม่มีเงินจ่าย หมอชีคจึงตั้งด่านเก็บเงินกับผู้ใช้สะพานแทนค่าก่อสร้าง
ภายหลังเมื่อสร้างสะพานนวรัฐ (เมื่อครั้งยังเป็นสะพานไม้) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งที่ 2 ที่เมืองเชียงใหม่ ประชาชนจึงนิยมเรียกสะพานวัดเกตนี้ว่า “ขัวเก่า-สะพานเก่า”
พ.ศ. 2475 ในช่วงน้ำหลาก สะพานวัดเกตถูกไม้ซุงจำนวนมากที่ล่องมาตามแม่น้ำปิงกระแทกเข้ากับเสาตอม่อสะพาน เสาไม่สามารถต้านทานน้ำหนักของซุงหลายร้อยต้นได้ เกิดเอียงทรุดเสียหาย จนสุดท้ายก็ต้องรื้อทิ้ง ชาวบ้านต้องไปใช้สะพานนวรัฐข้ามลำน้ำปิง ซึ่งก็อยู่ไกลออกไปอีก รัฐจึงสร้างสะพานชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ขัวแตะ” เพื่อแก้ปัญหา แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ขัวแตะก็พังทุกครั้ง กลายเป็นว่าต้องสร้างขัวแตะใหม่ทุกปี
กระทั่ง พ.ศ. 2507 โมตีราม (มนตรี โกสลาภิรมณ์) พ่อค้าชาวอินเดีย บริจาคเงินให้เทศบาลเชียงใหม่ มีการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างสะพานที่มีความคงทน ถาวร ตรงที่ตั้งที่เดิมคือสะพานวัดเกต และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ภรรยาของโมตีรามคือนางจันทร์สม เมื่อสร้างเสร็จก็ได้ตั้งชื่อสะพานนี้ว่า “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์” หรือ “ขัวแขก”
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม “รูปีอินเดีย” จึงนิยมใช้ในล้านนา และเป็นเงินสกุลสำคัญของเศรษฐกิจ
- เปิดภาพ “รถยนต์” คันแรกในเชียงใหม่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
- คดี “กระสือ” ในเชียงใหม่หลายร้อยปีก่อน ไม่ถอดหัว ไม่ลากไส้ แต่แปลงร่างเป็น “แมว”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดร.สุรีย์ ภูมิถาวร. พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2548
บุญเสริม สาตราภัย, สังคีต จันทนะโพธิ. อดีตลานนา, สำนักพิมพ์เรืองศิลป์ ธันวาคม 2520
หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่. “สะพานจันทร์สมอนุสรณ์”. เข้าถึงเมื่อ 17 กรกฎาคม 2566. https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/34610-สะพานจันทร์สมอนุสรณ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2564