เปิดภาพ “รถยนต์” คันแรกในเชียงใหม่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

พระยาเจริญราชไมตรี นั่ง รถยนต์
ภาพพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) นั่งรถยนต์นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสของบริษัท de Dion Bouton Mode1 type V.1904 (พ.ศ. 2447) ถ่ายภาพโดยหลวงอนุสารสุนทรกิจ (ภาพจากหนังสือ ภาพถ่ายฟิล์มกระจก เมืองเชียงใหม่ โดย หลวงอนุสารสุนทรกิจ)

“รถยนต์” คันแรก ที่มาถึงเชียงใหม่ เป็นของพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล)

พระยาเจริญราชไมตรีเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาและข้าหลวงพิเศษ มณฑลพายัพ ในช่วง พ.ศ. 2442 – สิงหาคม พ.ศ. 2445

ขณะที่รับราชการที่เชียงใหม่ พระยาเจริญราชไมตรีมีภรรยาคนที่ 3 ชื่อนวลทอง มีลูกด้วยกัน 2 คนคือ นายจำลอง และนายศักดิ์ อมาตยกุล ท่านจึงมีครอบครัวและบ้านพักอยู่ที่เชียงใหม่

แต่ในช่วงเวลาที่พระยาเจริญราชไมตรีนำรถยนต์เข้ามาในเชียงใหม่นั้น ท่านได้ย้ายกลับไปเป็นผู้พิพากษาที่กรุงเทพฯ แล้ว โดยย้ายไปรับราชการที่กรุงเทพฯ หลังเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445

สันนิษฐานว่า รถยนต์คันนี้ถูกนำเข้ามาในเชียงใหม่อย่างเร็วที่สุดคือระหว่าง พ.ศ. 2448-2450 (รถยนต์รุ่นนี้ผลิต พ.ศ. 2447)

ด้วยเหตุที่พระยาเจริญราชไมตรีมีบ้านพักอยู่ที่นี่ จึงต้องมีรถยนต์ใช้ให้สมแก่ฐานะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เมื่อท่านมีโอกาสเดินทางกลับไปเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมครอบครัว หลวงอนุสารสุนทรกิจ (สุ่นฮี้) จึงมีโอกาสถ่ายภาพนี้

สำหรับภาพนี้ พระยาเจริญราชไมตรีกำลังนั่งรถยนต์นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ของบริษัท de Dion Bouton Mode1 type V.1904 ผลิต ค.ศ. 1904 หรือ พ.ศ. 2447

นำ “รถยนต์” เข้ามาเชียงใหม่ได้อย่างไร?

พระยาเจริญราชไมตรีสั่งซื้อรถยนต์แบบแยกชิ้นส่วน นำบรรทุกลงเรือหางแมงป่อง พร้อมน้ำมันเบนซินที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ล่องทวนน้ำปิงจนถึงเชียงใหม่ จากนั้นจึงประกอบรถยนต์เอง และเก็บรักษาไว้ที่บ้านพักของพระยาเจริญราชไมตรี ซึ่งมีนวลทองภริยาคนที่ 3 เป็นผู้ดูแล

ขณะที่การขนส่งด้วยรถไฟมาถึงเชียงใหม่ พ.ศ. 2464 เป็นเวลาสิบกว่าปีให้หลัง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สมโชติ อ๋องสกุล. (กันยายน, 2565). “หลวงอนุสารสุนทรกิจ (สุ่นฮี้) (พ.ศ. 2410-2477) กับฟิล์มกระจก และพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) (พ.ศ. 2412-2487),” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 : ฉบับที่ 11.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2565