กว่าจะมี “รถบรรทุก” ปรากฏในไทยครั้งแรก ย้อนอดีตยุคก่อนรถยนต์วิ่งว่อน ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

รถบรรทุก สินค้า เกษตร
ภาพถ่าย รถบรรทุก สินค้าเกษตร จอดข้างทางบริเวณถรรทรงวาด ประมาณทศวรรษ 2540 ไฟล์ภาพจากคลังภาพนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

การคมนาคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีการขนส่งทางเรือได้รับความนิยมยาวนานกว่าร้อยปี กระทั่งสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ถนนหนทางเริ่มพัฒนามากขึ้น การขนส่งทางบกที่สะดวกและราคาย่อมเยาเข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เมื่อโลกเริ่มรู้จักกับ รถยนต์” หลังจากนั้นจึงเริ่มมี “รถบรรทุก” ตามเข้ามาในไทย

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย (Edward Van Roy) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชาวจีนในไทยวิเคราะห์ไว้ว่า คนไทยทั่วไปในอดีตมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับน้ำ อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ การเดินทางจึงต้องอาศัยเรือ ส่วนชาวจีนในสำเพ็ง (ย่านการค้ายุคแรกในสมัยแรกเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์) ตั้งร้านค้าและพักอาศัยบนบกเป็นส่วนมาก เส้นทางที่ใช้ในการสัญจรซึ่งปรากฏขึ้นทั่วไปในสำเพ็งกลับเป็นถนนเส้นเล็กๆ หรือทางเดินขนาดเล็ก

สำหรับบางคนอาจมองว่า ตรอกซอกซอย เป็นทางเดินทั่วไป แต่ในอดีต เส้นทางสัญจรกลุ่มนี้เกิดขึ้นเพื่อให้ลัดเลาะถึงกัน ตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับการค้า เส้นทางเหล่านี้เสมือนเป็นกระจกสะท้อนแง่มุมหลากหลายมิติทั้งเชิงเศรษฐกิจการค้า สังคม และวัฒนธรรม

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 (ประมาณช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19) จึงเกิดเส้นทางสัญจรตัดผ่านสำเพ็ง และพอจะนิยามว่าเป็น “ถนน” ได้ ซึ่งเอ็ดเวิร์ด แวน รอย มองว่า ถนนเส้นนี้คือถนนสำเพ็งนั่นเอง (ปัจจุบันถูกเรียกว่าซอยวานิช 1)

ถนนและรถลาก-รถราง

หลังเกิดสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ผลประการหนึ่งที่ตามมานอกจากเปิดเสรีทางการค้า คือชาวตะวันตกเข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้น

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนหลายสาย ถนนเจริญกรุงเริ่มสร้างช่วง พ.ศ. 2405-2407 ในยุคทศวรรษ 2400 ถือเป็นถนนที่กว้างขวางใหญ่โตทีเดียว และยังมองกันว่าเป็นถนนที่ยาวที่สุดของไทยในสมัยนั้น

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย อธิบายไว้ว่า ชาวตะวันตกที่เข้ามาในกรุงเทพฯ ในช่วง พ.ศ. 2393-2412 นำรถลากด้วยม้าเข้ามาใช้ รถที่ใช้ม้าลากก็มีหลายชนิด

รถลากด้วยม้าได้รับความนิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูงและคนในราชสำนัก เมื่อมีรถลากมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการปรับปรุงถนน ถนนกว้างขึ้น ถนนในเมืองเชื่อมต่อกันมากขึ้น

ปี พ.ศ. 2430 บริษัทรถราง บางกอก จำกัด ก่อร่างขึ้นโดยชาวตะวันตกซึ่งได้รับสัมปทาน ลักษณะบริการคือให้ม้าลากรถรางวิ่งไปตามรางเหล็ก เริ่มดำเนินการจริงใน พ.ศ. 2432

เส้นทางที่รถรางนี้ให้บริการในยุคแรกเริ่มอยู่ระหว่างกำแพงพระนครถึงยานนาวา ระยะทางราว 6 กิโลเมตร ปีต่อมาจึงขยายเส้นทางวิ่งอีก 3 กิโลเมตร ต่อไปถึงบางคอแหลม การคมนาคมตั้งแต่สำเพ็งไปตามถนนเจริญกรุงจึงถือได้ว่ามีระบบขนส่งสาธารณะที่ทันสมัยแล้ว

ปี พ.ศ. 2437 ไทยจึงเริ่มมีรถรางไฟฟ้าวิ่ง โดยเริ่มวิ่งตามถนนเจริญกรุงตามแนวเดิมที่รถรางลากด้วยม้าเคยวิ่ง ในแง่การใช้งาน รถรางถือว่าเหมาะสมกับการจราจรที่หนาแน่นในบริเวณเหล่านั้น สถิติผู้ใช้งานรถรางในช่วงทศวรรษ 2440 มีจำนวนมาก บริษัทที่ให้บริการจึงต้องเพิ่มอีกสายในถนนราชวงศ์

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า รถรางตามถนนเจริญกรุงเป็นปัจจัยหนุนต่อการขนส่งเนื้อสัตว์แช่แข็งจากโรงฆ่าสัตว์จากบางคอแหลมมาที่ตลาดสำเพ็ง

ขณะที่เอกสาร “จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ยังระบุเพิ่มเติมว่า เดิมทีแล้วมีรถรางแล่นถึงท่าราชวงศ์ด้วย

ทั้งนี้ กิจการรถรางช่วงแรกไม่ได้ราบรื่น กิจการเปลี่ยนมือหลายครั้ง จนผู้คนในพระนครเพิ่มจำนวนมากขึ้น กิจการรถรางถึงเริ่มกระเตื้องขึ้นมา แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ผู้คนมีทางเลือกในการคมนาคมมากขึ้น รถรางจึงซบเซาลง และยกเลิกกิจการไปเมื่อ พ.ศ. 2511

การสร้างถนนเจริญกรุงไม่ได้ส่งผลต่อเรื่องรูปแบบการคมนาคมเท่านั้น แต่ส่งผลมาถึงวิถีในบริเวณข้างเคียงอย่างสำเพ็งด้วย แน่นอนว่าการก่อสร้างต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ธุรกิจการเดินทางนำชาวจีนเข้ามาในกรุงเทพฯ จึงคึกคัก ตามมาด้วยจำนวนประชากรในสำเพ็งที่เพิ่มมากขึ้น

การสร้างถนนยังทำให้เกิดเส้นทางสัญจรในละแวก ทางเดินจากสวนผักด้านหลังชุมชนสำเพ็งมาบรรจบกับถนนเจริญกรุงทำให้เกิดเส้นทางขนส่งอย่างเต็มตัว ภายหลังสร้างถนนเจริญกรุง ตรอกและซอยต่างๆ ก็เริ่มมีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้น

หลังจากการสร้างถนนเจริญกรุงอีกกว่า 20 ปี ย่านสำเพ็งจึงจะเกิดการพัฒนาโครงสร้าง โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการสำรวจพื้นที่สำหรับตัดถนนใหญ่คือถนนยุวราช (ปัจจุบันคือถนนเยาวราช) เมื่อ พ.ศ. 2434 ถนนสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ถนนเยาวราชส่งผลต่อมาคือที่ดินบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับการพัฒนาด้วย

หลังจากมีถนนเยาวราชได้ไม่นาน การสร้างถนนในแถบสำเพ็งอย่างถนนราชวงศ์ ถนนจักรวรรดิ ถนนอนุวงศ์ และถนนวรจักร ค่อยๆ ทยอยตามมา ถนนเหล่านี้กลายเป็นแหล่งค้าขายสินค้า และแหล่งความบันเทิงในย่านนั้นไปโดยปริยาย

การตัดถนนในระยะต่อมาเกิดขึ้นจากสาเหตุเรื่องอัคคีภัยและความแออัด จึงปรากฏการสร้างถนนอย่าง ถนนทรงวาด หลังจากเกิดเพลิงไหม้ใหญ่ที่สำเพ็งเมื่อ พ.ศ. 2449

การพัฒนาถนน สู่ยุครถยนต์

ภายหลัง พ.ศ. 2449 การคมนาคมทางเรือยังเป็นทางเลือกหลักของการขนส่งอยู่อีกหลายสิบปี แม้ว่าช่วงทศวรรษ 2440 เป็นช่วงที่ไทยเริ่มตื่นตัวกับ “รถยนต์” พาหนะบนบกที่ใช้เครื่องยนต์จากชาวตะวันตก เจ้านายในไทยหลายพระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องรถยนต์กันมากแล้วก็ตาม

เมื่อปรากฏรถยนต์พระที่นั่งในรัชกาลที่ 5 เข้ามา ควบคู่ไปกับการพัฒนาถนนมากขึ้น การคมนาคมขนส่งโดยรถยนต์ย่อมได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่กว่าที่รถยนต์สำหรับการขนส่งหรือรถบรรทุกของขนาดใหญ่จะถือกำเนิดและแพร่หลายมาถึงไทยในระดับวงกว้างก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของผู้จัดจำหน่ายรถอีซูซุในประเทศไทยระบุว่า

“บริษัทเริ่มจำหน่ายรถบรรทุกอีซูซุคันแรกในประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2500”

จากข้อมูลข้างต้นนี้จึงพอตั้งสันนิษฐานได้ว่า “รถบรรทุก” น่าจะปรากฏขึ้นในไทยก่อนช่วงทศวรรษ 2500 สักระยะหนึ่ง

หลักฐานประการหนึ่งของความคึกคักทางการค้าและความนิยมของ รถบรรทุก สะท้อนผ่านคำบอกเล่าของผู้คนในย่านถนนทรงวาด ซึ่งเป็นย่านการค้าส่ง สินค้านำเข้า-ส่งออกนานาชนิดล้วนมาผ่านจุดนี้ ภาพของรถบรรทุกที่วิ่งกันคับคั่งในย่านนี้ก็เป็นภาพที่คุ้นตาของผู้คนท้องถิ่นเมื่อกว่า 60 ปีก่อน

จากคำบอกเล่าของสมชัย กวางทองพานิชย์ พ่อค้าท้องถิ่นย่านทรงวาดและผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ย่านจีนเล่าว่า ราวทศวรรษ 2510-2520 ภาพรถบรรทุก รถสิบล้อซึ่งบรรทุกผลผลิตทางการเกษตรจากภูมิภาคต่างๆ เข้ามาในบริเวณถนนทรงวาดเพื่อขนถ่ายสินค้ามาเก็บในโกดังริมแม่น้ำก็มีภาพเช่นนี้ปรากฏให้เห็นแล้ว

ขณะที่พืชผลการเกษตรที่บรรทุกมาในย่านการค้านำเข้า-ส่งออกแหล่งสำคัญของไทยในอดีตมีหลากหลายชนิด เช่น มะขามเปียก หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม พริกแห้ง ถั่ว ข้าวโพด สะท้อนภาพความเป็นศูนย์กลางของพืชผลทางการเกษตรจากรถบรรทุกที่นำของมาลงโกดัง ก่อนจะนำออกมาขายต่อไป กิจการเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรบางแห่งยังหลงเหลืออยู่บนถนนทรงวาดจนถึงปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษ 2500 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง เห็นได้จาก “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ฉบับแรกทั้ง 2 ช่วง (พ.ศ. 2504-06 และ 2507-09)

ในช่วงแรกอยู่ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นที่ทราบกันว่าชูนโยบายพัฒนาประเทศทุกด้านและการป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ตามแนวทางของสหรัฐฯ ในยุคผลักดันการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จนเกิดวลี “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” (วีรพงษ์ รามางกูร, 2561)

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” เอ่ยถึงการสร้างและบูรณะทางหลวงแผ่นดินเชื่อมต่อภาคต่างๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น การพัฒนาได้รับความช่วยเหลือเงินกู้จากสหรัฐฯ ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายต้านคอมมิวนิสต์และมองไทยเป็นประเทศสำคัญในยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้

การคมนาคมทางบกซึ่งมีถนนหลายสายมากขึ้น ขนาดถนนขยายมากขึ้น เชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ต่างๆ สะดวกขึ้น และมีพาหนะรถยนต์สำหรับใช้สัญจรและแพร่หลายในภายหลัง ล้วนส่งผลต่อการขนส่งลักษณะเดิมอย่างการขนส่งทางเรือ เห็นได้จากหลักฐานทั้งคำบอกเล่าและในเอกสารที่บันทึกว่า ภายหลังจากถนนตัดหลายสาย บนถนนคับคั่งไปด้วย รถยนต์ อาคารร้านค้าต่างๆ หรือสำนักงานที่เป็นกิจการซึ่งเชื่อมโยงกับการขนส่งทางเรือก็ซบเซาลง บางแห่งเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ส่วนท่าเรือหลายแห่งก็ปิดกิจการหรือปรับเปลี่ยนการบริการไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นโดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้” เป็นเนื้อหาตอนหนึ่งในซีรีส์ “ทรงวาดศตวรรษ” เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม และสื่อสังคมออนไลน์ในเครือมติชน


อ้างอิง :

เอ็ดเวิร์ด แวน รอย. “จากผืนน้ำสู่แผ่นดิน จากตรอกเล็กสู่ตรอกใหญ่ : คลอง ถนน ซอย สะพาน และการคมนาคมในสำเพ็ง,” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

คณะอนุกรรมการประมวลเอกสาร โครงการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525.

ปอน ประพันธ์. “รถไฟไทย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550.

สัมภาษณ์ สมชัย กวางทองพานิชย์ เมื่อวันที่ 13 และ 16 กันยายน 2564

สุภางค์ จันทวานิช. “การค้าและการขนส่งในย่านสำเพ็ง : จากท่าเรือสำเภา สู่ท่าเรือกลไฟ, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. “ทางรถไฟสายอีสานในสมัยรัชกาลที่ 5-7,” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2550.

“ประวัติอีซูซุในประเทศไทย”. อีซูซุ. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2564. <https://www.isuzu-tis.com/about-history/>

“22 กันยายน 2431 พิธีเปิดรถรางในสยาม, ” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 22 กันยายน 2561. เข้าถึงเมื่อ 14 กันยายน 2564. <https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_11639>

วีรพงษ์ รามางกูร. “สฤษดิ์น้อย,” ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน 2561. สืบค้นออนไลน์ เข้าถึงเมื่อ 17 กันยายน 2564.
<https://www.matichon.co.th/columnists/news_1015972>

สมชาย ชัยประดิษฐรักษ์ เรียบเรียง. รถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย. สมุทรปราการ, 2553. อ้างถึงใน เอนก นาวิกมูล. (2564, 12 กันยายน). “สถานีหัวลำโพงแน่หรือ?”. [Status Update]. Facebook. https://www.facebook.com/anake.nawigamune/posts/1914337998727877

เอนก นาวิกมูล. (2564, 12 กันยายน). “สถานีหัวลำโพงแน่หรือ?”. [Status Update]. Facebook. https://www.facebook.com/anake.nawigamune/posts/1914337998727877


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565