“จี๊ป-รถยนต์อเนกประสงค์” ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

รถจี๊ปที่ผลิตเสร็จแล้วจำนวนมากรอส่งมอบให้กับกองทัพสัมพันธมิตรสำหรับปฏิบัติบุกนาซี-ยุโรป (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

ชื่ออย่างเป็นทางการของรถจี๊ปคือ รถบรรทุก MB 4×4 แต่ทุกคนก็เรียกมันว่ารถจี๊ป (Jeep) และใครๆ ก็อยากมีรถจี๊ปสัก 1 คัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันแรกเริ่มก็คือ บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ คอมพานี และวิลลีส-โอเวอร์แลนด์ เป็นผู้ผลิตรถจี๊ปจำนวน 640,000 คัน

ถึงแม้ว่าในปี 1939 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้พยายามจะกำหนดมาตรฐานให้กลุ่มยานยนต์ของกองทัพมีเพียง 6 ขนาดต่างๆ กัน แต่จากการฝึกภาคสนามเมื่อปี 1940 ทำให้พบว่าจำเป็นจะต้องมีพาหนะขนาดเล็กที่มีล้อขับได้ 2 แบบ ที่สามารถบรรทุกคนขับ 1 คน และผู้โดยสารอีก 3 คน ในภูมิประเทศทุกชนิด

ทหารอเมริกันขับรถจี๊ปสำรวจเมืองแซงต์-โลในฝรั่งเศสที่ถูกทำลาย (ภาพจาก 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

โมเดลขั้นสุดท้ายที่สรุปออกมา เป็นรถเครื่องยนต์ 4 สูบ 60 แรงม้า น้ำหนักบรรทุก 550 กิโลกรัม (1,200 ปอนด์) และมันยังสามารถลากรถพ่วงได้ด้วย อันเป็นการเพิ่มความสามารถในการบรรทุกของมัน รถจี๊ปยังจำเป็นต้องมีหลังคาผ้าใบที่ถอดออกได้ รวมทั้งแผงด้านข้างที่มีกรอบโลหะเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้าย

กระทรวงสงครามกำหนดให้ส่งรถต้นแบบไปยัง 135 บริษัท พร้อมกับเงื่อนไขว่าบริษัทเหล่านั้นต้องเสนอแบบรถกลับมาภายใน 49 วัน ปรากฏว่ามีเพียงบริษัทแบนแทม คาร์ คอมพานี ให้ความสนใจ โดยยื่นเสนอแบบรถที่ออกแบบโดยคาร์ล พร็อบส์ต ซึ่งใช้เวลาในการวาดแบบรถเพียง 2 วัน ซึ่งที่จริงมันเป็นผลงานออกแบบก่อนหน้านี้ของเจ้าหน้าที่กองทัพบก 2 คนที่ทำงานให้กับแบนแทม จึงทำให้บริษัทสามารถยื่นแบบมายังกองทัพได้

แต่เป็นเพราะบริษัทแบนแทมไม่มีศักยภาพด้านโรงงานและแรงงานที่จะผลิตรถออกมา สัญญาการผลิตรถจี๊ปจึงตกเป็นของบริษัทฟอร์ดและบริษัทวิลลิส แบบที่ออกแบบโดยพร็อบส์ตและแบนแทมภายใต้ความยินยอมเรื่องค่าลิขสิทธิ์ รถจี๊ปเปล่าๆ ที่ไม่ได้บรรทุกคนหรือสิ่งของมีน้ำหนัก 1,090 กิโลกรัม (2,400 ปอนด์) ซึ่งหมายถึงว่ามันสามารถเข็นหรือลากโดยทหารในกรณีที่จำเป็น เครื่องยนต์ 4 สูบ 60 แรงม้า ช่วยให้มันไต่ขึ้นที่ชันได้ และหากวิ่งบนถนนที่มีสภาพดีมันทำความเร็วได้ 89 กิโลเมตร (55 ไมล์) ต่อชั่วโมง วิ่งได้ไกล 450 กิโลเมตร (280 ไมล์) มันยังสามารถดัดแปลงไปใช้งานบรรทุกวิทยุและเปลหาม รวมทั้งใช้ติดตั้งปืนกล .30 คาลิเบอร์ หรือ .50 คาลิเบอร์ สำหรับภารกิจในสนามรบ มันทำได้แม้กระทั่งลากปืนต่อสู้รถถังชนิดเบาและปืนใหญ่วิถีโค้งขนาดเล็ก

เหตุผลที่นิยมเรียกชื่อรถดังกล่าวว่าจี๊ปนั้นไม่ทราบที่มาแน่ชัด

แต่ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือน่าจะมาจากคำว่า “GP” ซึ่งหมายถึง “general purpose” (อเนกประสงค์) หรือไม่ก็ได้มาจากตัวการ์ตูน ยูจีน เดอะจิ๊ป (Eugene the Jeep) ในการ์ตูนเรื่องป๊อปอาย ผู้ซึ่งสามารถไปที่ไหนก็ได้ และด้วยเหตุที่รถจี๊ปมีหลายโมเดลหลายรูปแบบ จึงกลายเป็นของธรรมดาสามัญในทุกกองทัพ หรือไม่ก็ถูกลอกเลียนในบางรุ่น เช่น รุ่นที่ใช้ในกองทัพแดงรัสเซีย

โดยปกติแล้วกองพลของสหรัฐฯ จะได้รับบริการสนับสนุนด้านยานยนต์ประมาณ 1,350 คัน และในจำนวนนี้ 612 คัน เป็นรถจี๊ป กองร้อยทหารราบทุกกองมีรถจี๊ป 1 คัน พร้อมรถพ่วง ส่วนหน่วยเตรียมพร้อมมีมากกว่า 1 คัน เนื่องจากพลทหารอเมริกัน (จีไอ) ในทุก 10 คน มาจากครอบครัวที่มีรถยนต์ รถบรรทุก หรือแทร็กเตอร์ ดังนั้น การบำรุงรักษาหรือการซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ จึงสามารถทำได้ที่หน่วยของตน

เนื่องจากเครื่องยนต์ของรถจี๊ปง่ายต่อการดูแลและซ่อมแซมประโยชน์ใช้สอยของมันในภูมิประเทศที่ขรุขระทำให้รถจี๊ปได้รับความนิยมในสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นความนิยมที่อธิบายถึงโฉมหน้าของรถจี๊ปหลากหลายรุ่นทั่วโลกแม้แต่ในทุกวันนี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2562