คดี “กระสือ” ในเชียงใหม่หลายร้อยปีก่อน ไม่ถอดหัว ไม่ลากไส้ แต่แปลงร่างเป็น “แมว”

กระสือ ฉากหลังเป็น ประตูเมือง เชียงใหม่

ภาพจำของ “กระสือ” ที่คุ้นเคยกัน คือ ผีผู้หญิงสามารถถอดหัวได้ เหลือแต่อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ตับ ไต ไส้ ฯลฯ แล้วล่องลอยออกจากบ้านไปตามท้องทุ่ง เปล่งแสงวาบเป็นจังหวะ ออกหากินยามค่ำคืน ด้วยของสกปรกโสโครกต่าง ๆ  แต่ กระสือในล้านนาเมื่อหลายร้อยปีก่อน อาจมีลักษณะพิเศษ คือ สามารถแปลงร่างเป็น “แมว” ได้ด้วย!?

เรื่อง “กระสือ” แปลงร่างเป็น “แมว” นี้ ปรากฏใน “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์” เอกสารบันทึกการตัดสินคดีความของล้านนาโบราณ ในคดี “นางบัวหล้าเป็นแปลงกระสือแล้วถูกฆ่าตาย” ตรงกับ พ.ศ. 2015 ในรัชสมัย พระเจ้าติโลกราช แห่งเชียงใหม่ เรื่องราวมีอยู่ว่า

Advertisement

ในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีเต่าสี (ตรงกับ พ.ศ. 2015) ขุนนางเมืองเชียงใหม่มาชุมนุมพร้อมกันที่ศาล ตัดสินคดีความเรื่องหนึ่ง ว่า “อ้ายแก้วปัพภา” อยู่แคว้นตาแสง ได้ไปสู่ขอ “นางบัวหล้า” ซึ่งเป็นหลาน “ย่าคำ” ซึ่งเป็นบ่าวของ “พันตาแสง”

อ้ายแก้วปัพภากับนางบัวหล้า คู่รักข้าวใหม่ปลามัน อยู่กินด้วยกันได้เพียง 3 คืนเท่านั้น ก็เกิดเหตุสลดขึ้น

รุ่งของคืนครบวันที่ 3 นั้น ปรากฏว่า นางบัวหล้านอนตายบนที่นอน โดยที่ตัวนางบัวหล้า มีรอยแทงที่ข้างรักแร้ ตรงอกข้างขวา เมื่อย่าคำทราบเรื่อง ก็สงสัยว่า อ้ายแก้วปัพภาจะเป็นคนฆ่าหลานสาว จึงมาพบพันตาแสงขอให้ช่วยเหลือ

พันตาแสงจึงมาร้องต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองว่า “อ้ายแก้วปัพภา เอามีดหั่นเนื้อแทงหลานย่าคำ หมายให้ตายเพื่อแกะเอาของกับกำไลมือทองคำ กับเงินที่มีอยู่ในหมอน เมื่อได้ค่า ก็เอามาเก็บไว้”

ฝ่ายอ้ายแก้วปัพภา ก็ตอบโต้เถียงไปว่า “อันข้าจักฆ่าจักแทงเมียข้า และแกะเอาของนั้น ไม่จริงขอรับ! ของมีค่ายังอยู่คาคอเมียข้าแท้ ๆ และเงิน 1,100 ก็ยังอยู่ในหมอนจริง”

เมื่ออ้ายแก้วปัพภาเถียงเช่นนี้ ขุนนาง ณ ศาลทั้งหลายจึงยังตัดสินไม่ได้ เจ้าหมื่นตีนเชียงขุนหลวง เมื่อฟังความในคดีของอ้ายแก้วปัพภาแล้ว จึงได้พิจารณาว่า 

“เขาทั้งสองผัวเมีย เพิ่งอยู่กินกันใหม่ ๆ ยังกำลังรักกันนัก อ้ายแก้วปัพภาจะแทงเมียมันเสียให้ตาย เพื่อเอาของนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้น หากว่ามันได้ฆ่าเมียมันจริง และเอาของจริงดั่งว่านั้น ครั้นพอเมียมันตายแล้ว มันก็น่าจะต้องพาเอาของหนีไปซะด้วย แต่นี่มันยังอยู่ส่งสการเมียมัน ยังต้องให้ไต่สวนความ และยังต้องพิจารณาความเสียก่อน เพราะผู้ตายก็ได้ตายด้วยรอยถูกขโมยแทง หญิงผู้นี้ชะรอยว่าจะเป็นกระสือ มันเที่ยวไปหากินอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อคืนนี้ สงสัยว่าจะถูกเขาแทงมา”

ขุนนางทั้งหลายจึงพร้อมกันมอบหมายให้คนไปสืบหาข่าวคราวที่แคว้นตาแสง ในบริเวณใกล้บ้านผู้ตายนั้น รัศมีราว 1,000 วา เมื่อไปตรวจสอบดูแล้ว ก็พบเหตุต้องสงสัย! ผู้สืบเรื่องกล่าวว่า

“มีคนผู้หนึ่งตาย ใส่ศพไว้ในโลงไม้แล้วเอาผ้าปิดไว้ ในคืนนั้นได้ว่ามีแมวตัวหนึ่ง วิ่งไปติดอยู่ที่ปากโลงไม้เกือบตกลงมา ผู้คนทั้งหลายที่มาเฝ้าคนตายเห็นเข้าก็ฉวยเอาหอกแทงแมวตัวนั้น ถูกตรงขาหน้าข้างขวา จิ้มตรงบริเวณอก แต่แมวตัวนั้นร้ายมากจริง ๆ (ดิ้น) หลุดวิ่งไปไหนหรือว่าปล่อยไปก็ไม่รู้ แต่มาดูที่ตัวนางบัวหล้าหลานย่าคำ ในคืนนั้น ก็ตายด้วยรอยแทงแบบนั้นทุกอย่าง ขอรับ!”

ต่อมา ขุนนางทั้งหลาย ณ ศาลจึงตัดสินว่า “นางบัวหล้าหลานย่าคำผู้นี้ หากเป็นกระสือไปเที่ยวดูงานศพคนตายอื่น เจ้าภาพงานศพจึงได้แทงตาย หาใช่อ้ายแก้วปัพภาเป็นคนทำไม่ ตัดสินดังนี้แล้ว จึงกราบบังคมทูลพระเจ้าติโลกราช และพระองค์ได้ตรัสว่า “เห็นชอบด้วยทุกอย่าง”

คงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับครอบครัวนางบัวหล้าไม่น้อย ที่สุดท้ายแล้วสาเหตุการตายถูกจับโยงกับเรื่อง “ภูติ ผี ปีศาจ” ทั้งที่ในความเป็นจริง นางอาจถูกฆาตกรรมในห้องปิดตาย! บนเตียงนอนข้างสามี!

มีอีกคดีหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ กระสือ ซึ่งมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน คือ คดีใน พ.ศ. 2026 เมื่อนางศรีพันคำ ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระสือ นางปฏิเสธ และยินดีให้เอาไปพิสูจน์ด้วยการ “ทอดน้ำ”

ปรากฏว่า นางศรีพันคำกลับจมน้ำ ไม่ได้ลอย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงถูกตัดสินว่า “ตัวมันหากเป็นกระสือ แต่ยังมาตั้งความเถียงไม่เป็นเสียนี่ ให้ปรับ 660 เงิน จึงจะชอบ”

น่าสังเกตว่า ผู้ที่ถูกตัดสินว่าเป็น กระสือ มีแค่โทษปรับเงิน ไม่ได้ต้องโทษถึงตาย อย่างไรก็ดี ใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกระสือ ไม่ว่าจะเป็นจริงหรือไม่จริง ก็คงต้องถูก “อัปเปหิ” ออกจากชุมชน ซึ่งนั่นก็เสมือน “ตายทั้งเป็น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วินัย พงศ์ศรีเพียร. “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2566