องคชาตยาว! หลักฐานมัดตัว ในคดีชู้สาวสุดฉาวที่เชียงใหม่ เมื่อ 600 กว่าปีก่อน

จิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เชียงใหม่
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่

ธัมโม!!! “คดีชู้สาว” สุดอื้อฉาวที่ “เชียงใหม่” เมื่อ 600 กว่าปีก่อน หนุ่มโดนใส่ร้ายว่าเป็นชู้เมียชาวบ้าน มีหลักฐานมัดตัวคือ องคชาตยาว!?

เอกสารล้านนาโบราณที่มีชื่อว่า “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์” อันเป็นบันทึกการตัดสินคดีความของล้านนาโบราณ คดีหนึ่งที่มีความน่าสนใจคือ คดี “นาบสู่เมียกัน” (นาบ แปลว่า ใส่ความ, สู่ แปลว่า ไปอยู่ด้วย เป็นชู้ด้วย) คดีชู้สาวสุดฉาวเมื่อจุลศักราช 745 (พ.ศ. 1926) ตรงกับรัชสมัยพญากือนา กษัตริย์ล้านนา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1898-1928)

เรื่องมีอยู่ว่า “หมื่นสาย” กับ “นางโสภา” เป็นผัวเมียกัน หมื่นสายมักทุบตีนางโสภาเสมอ เป็นเหตุให้นางโสภาคิดเลิกรา นางจึงไปปรึกษากับเพื่อนสนิทที่มีชื่อว่า “นางแก้วกัมมา”

นางโสภา กับนางแก้วกัมมา ต่างก็ปรึกษา และปรับทุกข์กัน ด้วยนางแก้วกัมมาก็หาประสบความสำเร็จเรื่องความรักเช่นเดียวกันไม่ เพราะนางแก้วกัมมามีผัวชื่อ “พันหอชัย” แม้คบหากันมานานกว่า 5 ปี แต่ก็อยู่กินด้วยกันไม่ได้เสียที เพราะสถานะของนางแก้วกัมมา คือ เมียน้อย เมียหลวงของพันหอชัยไม่ยอมเลิกรา

“เขือกับพันหอชัยมักกันได้ 5 ปีแล้ว จักเอากันบ่ได้ เหตุเมียมันบ่หนีนา” นางแก้วกัมมาเล่า นางโสภาจึงถามว่า “ยังถ้วนคนบ่” (แปลว่า พันหอชัยยังเป็นชายครบถ้วนบริบูรณ์อยู่หรือไม่) นางแก้วกัมมาตอบว่า “ยังมีงาน 2 ดวง มีเขียวอันนึ่ง ควยหน้อยยาวกล้านักกี” (แปลว่า พันหอชัยมีปาน 2 ดวง มีเขียวหนึ่งดวง และองคชาตก็ทั้งยาวและแข็งแกร่งยิ่งนัก, นักกี คือ นักแก แปลว่า มากเหลือเกิน) นางโสภาได้ยินดังนั้นก็จำไว้ขึ้นใจ

[หมายเหตุ : คำว่า หน้อย ในที่นี้อาจไม่ได้แปลว่า น้อย/เล็กน้อย อาจหมายถึง หน้อย/น้อย ในภาษาคำเมืองจะใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้ที่เคยบวชเณร เช่น หน้อยจั๋น ส่วนคำว่า หนาน จะใช้เรียกนำหน้าชื่อผู้ที่เคยบวชพระ เช่น หนานอินต๊ะ ฉะนั้น “ควยหน้อย” ในที่นี้ น่าจะหมายถึง องคชาตของพันหอชัย]

กระทั่งวังหนึ่ง นางโสภาไปเดินตลาดที่กลางเมืองเชียงใหม่ พบพันหอชัยที่ตลาด จึงตะโกนทักทายว่า พ่อชายขายของเร่ ทำไมจึงหลบหน้าเมียเล่า พันหอชัยได้ยินดังนั้นก็ตอบว่า เวรกรรมจริง ๆ เหตุใดจึงมาว่าข้าหลบหน้าเมียอย่างนี้เล่า อยู่ดี ๆ มาพูดยุยงให้เกิดเรื่อง

ทว่า คนรับใช้ของนางโสภาที่ติดตามไปด้วยได้ยินบทสนทนานี้เข้า นางโสภาจึงแสร้งพูดกับคนรับใช้ว่า มึงอย่าเอาไปบอกนายมึงนะ ข้ากับพันหอชัยชอบพอกันมานานแล้ว

แต่มีหรือที่คนรับใช้จะไม่เอาเรื่องไปฟ้องหมื่นสายผู้เป็นนาย และเมื่อนั้นความวุ่นวายจึงเริ่มต้น!

เมื่อหมื่นสายทราบเรื่องก็เคียดแค้นมากแล้วเค้นถามนางโสภาว่า เรื่องราวจริงเท็จเป็นอย่างไร นางโสภาตอบว่า เป็นเรื่องจริง นางได้อยู่ได้หลับนอนกับพันหอชัยมานับครั้งไม่ถ้วน และพันหอชัยบอกว่า จะเอานางเป็นเมียอีกด้วย (หมายถึงเอาไปอยู่กินด้วยกันฉันผัวเมียอย่างถูกต้อง)

หมื่นสายคิดพิสูจน์คำพูดของนางโสภาว่า นางพูดปดหรือไม่ จึงถามต่อไปว่า หากเคยหลับนอนกับพันหอชัยจริง ในร่างกายของพันหอชัยมีอะไรบ้าง นางโสภาจึงตอบว่า พันหอชัยมีปาน 2 ดวง ดวงหนึ่งมีสีเขียว และองคชาตก็แข็งแกร่ง และยาวนัก

ต่อมา หมื่นสายนำเรื่องไปฟ้องเป็นคดีความให้เจ้าแสนสาตัดสิน เจ้าแสนสาจึงเรียกพันหอชัยมาไต่สวน พันหอชัยพยายามแก้ต่างให้ตนเองอย่างไรก็ไม่เป็นผล ที่สุด เจ้าแสนสาจึงพิสูจน์ด้วยการตรวจร่างกายของพันหอชัยว่า เป็นจริงถูกต้องตรงตามที่นางโสภากล่าวอ้างหรือไม่

เมื่อเจ้าแสนสาตรวจสอบแล้วก็เป็นจริง ทั้งปาน 2 ดวง ทั้งองคชาตอันแข็งแกร่ง และยาว เจ้าแสนสาจึงกล่าวว่า ก็ผู้หญิงเขาทายถูกทุกประการฉะนี้ หมื่นสายจะให้ปรับไหม (เสียค่าปรับ) หรือว่าจะขายนางโสภาให้พันหอชัยเล่า หมื่นสายจึงขอเป็นการปรับไหม

แต่นางโสภาที่ต้องการเป็นอิสระจากหมื่นสายกล่าวว่า “จุ่งขายนอบพันหอชัยเทอะ” (แปลว่า ช่วยขายข้าให้กับพันหอชัยไปเลยเถิด) ส่วนพันหอชัยก็กล่าวว่า ในเมื่อนางโสภาอธิบายร่างกายของตนได้ถูกต้องแม่นยำเช่นนี้ จะขายนางให้ตน หรือให้ตนปรับไหม อย่างไรเสียตนก็ต้องจำยอมทุกทางอยู่ดี

ที่สุด เจ้าแสนสาให้ปรับไหมพันหอชัยเป็นเงิน 220 บาท หรือ 220,000 เบี้ย เป็นค่าเสียหายให้แก่หมื่นสาย

ถึงตรงนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า นางโสภา คือ ผู้ก่อความวุ่นวายทั้งหมด หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า นางวางแผนไว้ค่อนข้างเป็นระบบมีแบบแผน เริ่มจากการหลอกถามนางแก้วกัมมาอย่างแยบยล คือ ถามถึงความเป็นชายชาตรีว่าครบถ้วนหรือไม่ แล้วจึงเก็บข้อมูลไว้รอจังหวะ เมื่อโอกาสมาถึง ณ กลางตลาดเมืองเชียงใหม่ นางก็เลือกเวลา และสถานที่อันเหมาะเจาะเริ่มปฏิบัติการ จนนำไปสู่การฟ้องร้องตัดสินคดีความ แต่แผนทั้งหมดกลับล้มเหลวในขั้นสุดท้าย เพราะหมื่นสายไม่ยอมขายนาง หากยินยอมขายนางให้พันหอชัย นางคงเป็นอิสระตามที่ปรารถนา

แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อพันหอชัยกลับมาบ้านก็บ่นว่า “บ่รู้เนื้อรู้คิงไหนดีหลี ท่านตังใส่โทษ กลางหาวดาวหมอกเปล่าดายดีหลี” (แปลว่า ไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง ยังถูกเขาสร้างเรื่องใส่โทษเสียได้ เหมือนฟ้าใสอยู่ดีกลับมามีเรื่อง)

พันหอชัยรู้สึกคับแค้นอยู่ในใจมาก เอาเรื่องเหล่านี้ไปโพนทะนาทุกหนทุกแห่ง จนเป็นที่โจษจันเล่าลืออื้ออึงไปทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่ เรื่องดังมากถึงขนาดดังไปเข้าพระกรรณของ “พญากือนา” กษัตริย์แห่งเชียงใหม่

พญากือนาจึงเรียกเจ้าแสนสามาไต่ถามว่า ที่ลือกันว่าเจ้าแสนสาตัดสินคดีนี้อย่างไม่ยุติธรรมจริงหรือไม่ เพราะโทษเขาไม่มีแต่กลับปรับไหมเขา จนพันหอชัยไปไหนถึงไหนก็เอาแต่เรื่องนี้ไปโพนทะนา เจ้าแสนสาจึงกราบทูลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ ดังนั้น พญากือนาจึงรับสั่งให้มีการไต่สวนคดีนี้ใหม่ ทรงมอบหมายให้จ่าเบื้อ และจ่าค้อม เป็นผู้ไต่สวน

จ่าเบื้อ และจ่าค้อม สืบสาวราวเรื่องจนเป็นที่กระจ่าง 4 ประการ คือ

1. รู้จากการสืบหาว่า ใครเป็นชู้ของพันหอชัยบ้าง

2. รู้จากการสืบหาว่า เพื่อนของนางโสภามีใครบ้าง

3. รู้จากการที่เพื่อนบ้านของนางแก้วกัมมา เห็นพันหอชัยมาหาที่บ้านของนาง แล้วพูดจาหัวร่อต่อกระซิกกันอย่างสนุกสนาน ครั้นอีก 14 วันต่อมาก็เกิดคดีความนี้ขึ้น

และ 4. รู้จากการที่นางโสภาชี้ที่อยู่ที่หลับนอนของพันหอชายไม่ถูกต้อง

ในที่สุดก็ได้รู้ว่า เหตุที่นางโสภารับรู้ว่า ร่างกายของพันหอชัยมีสิ่งใดบ้างก็รู้มาจากนางแก้วกัมมาอีกทอดหนึ่ง

พญากือนาจึงตัดสินว่า หมื่นสายฟังคำของเมียแล้วมาฟ้องร้องเป็นคดีใส่ความพันหอชัยเช่นนี้ จึงให้หมื่นสายกับนางโสภามีความผิด ถูกปรับไหม 440,000 เบี้ย เป็นสองเท่าของที่พันหอชัยถูกปรับไหมให้แก่หมื่นสาย ส่วนนางแก้วกัมมาไม่มีความผิด เพราะนางเพียงแต่เล่าเรื่องให้นางโสภาฟังเท่านั้น หาได้ตั้งใจให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นไม่

จากเอกสาร “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์” ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวต่อจากนั้นว่าเป็นอย่างไร แต่หากจะให้ทำนาย นางแก้วกัมมาคงจะด่านางโสภาว่า “อี่วอก” เพราะทั้งสองเป็น “เสี่ยว…รักกันนัก” คือเป็นเพื่อนรักกันมาก แต่กลับมาทรยศกันเช่นนี้ เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดของจริง!

คดีชู้สาว เรื่องนี้ยังสอนให้รู้ว่า นอกจาก “ปาน” จะเป็นสิ่งบ่งบอกเอกลักษณ์ของคน ๆ นั้นได้แล้ว “องคชาตยาว” (และแข็งแกร่ง) “ควยหน้อยยาวกล้านักกี” ก็สามารถบ่งบอกเอกลักษณ์ของบุรุษเพศได้อีกด้วย (ขำ)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


บรรณานุกรม :

วินัย พงศ์ศรีเพียร. “คลองตัดคำพระพุทธโฆสาจารย์”. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ,2549)

สรัสวดี อ๋องสกุล. “ประวัติศาสตร์ล้านนา”. พิมพ์ครั้งที่ 10. (อมรินทร์, 2557)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2566