“หมาขนคำ” ตำนานเมืองลำปาง วิเคราะห์เบื้องหลังเรื่องเล่าท้องถิ่นกับอิทธิพลจากพื้นที่

หมาขนคำ
หมาขนคำ

“หมาขนคำ” คือวรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบต่อกันมาโดยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนา สันนิษฐานว่าอาจมีเค้ามาจากสุวัณณเมฆะหมาขนคำ หรือนิทานปัญญาสชาดก คู่มือธรรมใบลานในภาคเหนือ ในหลายท้องถิ่นก็เล่าเรื่องที่แตกต่างกันไป แต่จุดสำคัญของเรื่องเล่านี้ที่มีเหมือนกันคือ หมาขนคำ

หมาขนคำที่ยกมากล่าวถึงในบทความนี้คือตำนานในวัดพระธาตุดอยม่วงคำ จังหวัดลำปาง “สุวัณณเมฆะหมาขนคำ” กับ “หมาขนคำ-ดอยม่วงคำ” ค่อนข้างแตกต่างกันมาก สุวัณณเมฆะหมาขนคำเล่าเรื่องในอินเดียและมีรูปแบบเป็นชาดกเนื่องในพุทธศาสนา ขณะที่เรื่องหมาขนคำ-ดอยม่วงคำดูจะเป็นนิทานพื้นบ้านเสียมากกว่า

คำว่า คำ ในภาษาเหนือหมายถึง ทอง และตามพจณานุกรมของราชบัณฑิตยสถานก็ให้ความหมายเช่นเดียวกันว่า น. ทองคำ เช่น หอคำ เชียงคำ อย่างไรก็ตาม หมาขนคำในตำนานเหล่านี้คือหมาที่มีขนดั่งทองคำไม่ใช่หมาที่มีขนเป็นทองคำ

สุวัณณเมฆะหมาขนคำ

เรื่องย่อของสุวัณณเมฆะหมาขนคำมีว่า ท้าวสุทัสสาเจ้าเมืองพาราณสีมีมเหสีสององค์คือ นางปทุมมา และนางภคิยา ท้าวสุทัสสาขอให้พระมเหสีปฏิบัติตัวถือศีลภาวนาขอบุตร ปรากฏว่านางปทุมมาได้พระโอรสองค์หนึ่ง ชื่อสุวัณณเมฆะกับหมาขนคำ ซึ่งเป็นสุนัขขนสีทองตัวหนึ่ง ส่วนนางภคิยาได้พระธิดาชื่อจันทเกสี กับพระโอรสชื่อไชยา ท้าวสุทัสสามิได้รังเกียจหมาขนคำ เพราะปุโรหิตทำนายว่าเป็นผู้มีบุญญาบารมี

ครั้นนางปทุมมาสิ้นพระชนม์ สุวัณณเมฆะมีพระชันษาเพียง 3 ปี นางภคิยาวางแผนกำจัดสุวัณณเมฆะโดยให้พ่อของนางทำเสน่ห์ให้ท้าวสุทัสสาลุ่มหลง แล้วยั่วยุให้เสนาอำมาตย์นำสุวัณณเมฆะไปปล่อยไว้ในป่า แต่การไม่สำเร็จเพราะหมาขนคำพาสุวัณณเมฆะกลับสู่พระราชวังได้อย่างปลอดภัย

แต่แล้ววันหนึ่ง หมาขนคำออกไปเที่ยวเล่น นางภคิยาเห็นสบโอกาสจึงสั่งให้คนนำสุวัณณเมฆะไปทิ้งลงเหว เทวดาก็เอาพานทิพย์มารองรับสุวัณณเมฆะได้ ส่วนหมาขนคำก็ออกตามหาจนพบอยู่ก้นเหวจึงพาขึ้นจากเหวแล้วอาศัยอยู่ในป่านับแต่นั้น

หมาขนคำกลับไปเมืองพาราณสีนำข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ มาให้สุวัณณเมฆะ นางจันทเกสีได้ทราบเรื่องจึงให้ความช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง แต่เมื่อนางภคิยาทราบว่าสุวัณณเมฆะกับหมาขนคำยังไม่ตายจึงยุให้ท้าวสุทัสสาไปฆ่าสุวัณณเมฆะ ท้าวสุทัสสานำทหารพร้อมด้วยไชยาเข้าไปในป่า แต่เกิดหลงไปติดกับยักษ์ชื่อวรุณยักษ์ที่แอบแปลงกายเป็นกวาง ฝ่ายท้าวสุทัสสาจึงอ้อนวอนขอให้ไว้ชีวิตโดยสัญญาว่าจะสร้างศาลาพร้อมหาหญิงสาวมาให้วรุณยักษ์กินทุก ๆ สามวัน

ต่อมาสุวัณณเมฆะได้นางคันธมาลาเป็นภรรยา โดยนางเป็นผู้ที่เกิดจากดอกบัวที่ได้รับการเลี้ยงดูจากฤาษีพรหมรังสีอยู่ในป่านั้น และสุวัณณเมฆะยังได้ดาบเสรีกัญไชยกับธนูทิพย์จากพระอินทร์อีกด้วย เวลาผ่านไปหมาขนคำเข้าป่าไปพบกระดูกคนจำนวนมากจึงแจ้งสุวัณณเมฆะว่าเป็นฝีมือของวรุณยักษ์ ทั้งสองจึงหมายจะไปกำจัดวรุณยักษ์ ดังนั้น ฤาษีพรหมรังสีจึงสอนเวทย์มนต์คาถาอาคมให้นำไปปราบยักษ์

นางจันทเกสีถูกส่งไปที่ศาลาให้ยักษ์กินเพราะมีความผิดในครั้งก่อน แต่เป็นเวลาเดียวกับสุวัณณเมฆะและหมาขนคำมาปราบวรุณยักษ์พอดี วรุณยักษ์พ่ายแพ้จึงมอบไม้เท้าชี้เป็นชี้ตายให้สุวัณณเมฆะ จากนั้นก็ได้นางจันทเกสีเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ฝ่ายท้าวสุทัสสาก็ได้อพยพหนีออกจากเมืองพาราณสีไปเพราะเกรงกลัวสุวัณณเมฆะ

สุวัณณเมฆะได้ใช้ไม้เท้านั้นชุบชีวิตชาวเมืองที่ถูกวรุณยักษ์จับกินให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง พระอินทร์จึงได้เนรมิตเมืองให้สุวัณณเมฆะ และให้หมาขนคำกินยาทิพย์และเอารางคำหรือรางทองรับน้ำยาทิพย์รดตัว หมาขนคำจึงกลายร่างเป็นคนชื่อว่า สุวัณณะรางคำ บรรดาชาวเมืองพราราณสีที่ไม่ได้อพยพได้เชิญสุวัณณเมฆะมาปกครองเมือง ส่วนสุวัณณะรางคำได้สมรสกับนางจันทสมุทท์ ธิดาท้าวสาวัตถีแห่งเมืองสาวัตถี

ตำนานหมาขนคำแห่งดอยม่วงคำ

นอกจากเรื่องสุวัณณเมฆะกับหมาขนคำแล้ว ยังมีเรื่องหมาฮุย หมาหยุย หรือหมารุย ที่มีเนื้อหาคล้ายกับสุวัณณเมฆะกับหมาขนคำ แม้จะมีรายละเอียดต่างกันบ้างแต่ยังมีตัวละครหลักเหมือนกันคือ หมาขนคำ ในตำนานหมาขนคำ-ดอยม่วงคำ คาดว่าอาจได้อิทธิพลมาจากเรื่องสุวัณณเมฆะหมาขนคำแต่ได้ถูกปรับให้สอดคล้องกับ “คน” และ “พื้นที่” มากยิ่งขึ้น

มีเรื่องพอสรุปได้ว่า นายพรานคนหนึ่งเอาหมาตัวเมียขนสีทองมาเลี้ยง วันหนึ่งหมาตั้งท้องทั้ง ๆ ที่แถบนั้นไม่มีหมาตัวผู้สักตัว นายพรานจึงเกิดกลัวคำครหาว่าตนสมสู่กับหมาจึงนำหมาไปปล่อยทิ้งไว้ในป่า (บางแหล่งว่านายพรานอาศัยอยู่บนบ้านเหล่าปลด คือบ้านเสาสูงแบบเรือนต้นไม้ที่ต้องใช้บันได้ปีนขึ้นไป ซึ่งนายพรานได้ปลดบันไดก่อนแม่หมาจะขึ้นบ้านหมายจะให้เสือฆ่ากิน) แม่หมาเดินอุ้มท้องไปถึงดอยสามเส้าแล้วออกลูกมาเป็นสาวสวยสองคนชื่อบัวแก้วกับบัวตอง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังศาลารายวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 13

เมื่อบัวแก้วกับบัวตองเป็นสาวแล้ว เจ้าเมืองหรือพระยาเมืองได้ข่าวความสวยของสองพี่น้องก็ให้ขบวนแห่พร้อมวอทองมารับไปเป็นภรรยาซ้ายและขวาประจำเมือง เมื่อแม่หมากลับมาจากป่าหาลูกสาวไม่เจอก็เสียใจคร่ำครวญเห่าหอนและตะกุยหน้าผาจนเป็นรอยคล้ายเล็บเท้าฝังในเนื้อหินผาที่ปรากฏมาจนทุกวันนี้ พระอินทร์เห็นใจแม่หมาจึงบันดาลให้แม่หมาพูดภาษาคนได้

แม่หมาออกตามหาลูกสาวถึงในพระราชวัง โดยอ้างกับทหารยามว่ามาหานางบัวแก้วผู้เป็นเจ้านายเก่า ทหารวังจึงยอมให้แม่หมาเข้าไป เมื่อนางบัวแก้วเห็นแม่หมาก็เกิดความอับอายไม่อยากให้ใครรู้ว่ามีแม่เป็นหมาจึงทุบตีแม่ปางตาย (บางแหล่งเล่าว่านางบัวแก้วสั่งทหารฆ่าแม่หมาโดยอ้างว่าหมาพูดได้เป็นอาถรรพ์แก่บ้านเมือง) แม่หมาบาดเจ็บได้วิ่งไปหลบในปราสาทของนางบัวตองแล้วได้รับการรักษาโดยนางบัวตองที่นั่นอย่างลับ ๆ

เมื่อเจ้าเมืองมาหานางบัวตอง นางก็กลัวไม่อยากให้เจ้าเมืองรู้เรื่องจึงขอหีบใหญ่มาใส่แม่หมาซุกซ่อนเอาไว้ แต่แล้วแม่หมาก็ตายในหีบ เมื่อเจ้าเมืองขอเปิดหีบดู นางก็ร่ำไห้ด้วยกลัวว่าความลับจะถูกเปิดโปง พระอินทร์ก็สงสารจึงช่วยเนรมิตร่างแม่หมาให้กลายเป็นแก้วแหวนเงินทองมากมาย เจ้าเมืองจึงถามนางว่าเอาสมบัติมาจากที่ใด นางบัวตองจึงตอบว่ามาจากบ้านเดิมที่ดอยสามเส้าและขอกลับไปเอาสมบัติมาอีก แต่ความจริงแล้วนางบัวตองต้องการไปกระโดดหน้าผาตาย

(บางแหล่งเล่าแตกต่างออกไปว่านางบัวตองโกหกเจ้าเมืองว่าขอเอาหีบขนาดใหญ่ไปขนแก้วแหวนเงินทองที่ดอยสามเส้าเป็นเวลา 7 วัน เพื่อเอาแม่หมาไปรักษา แต่เมื่อแม่หมาตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหวแล้วเมื่อครบกำหนดเจ้าเมืองก็มาทวงถามสมบัติ พระอินทร์จึงช่วยเนรมิตร่างแม่หมาให้กลายเป็นสมบัติเงินทอง เจ้าเมืองจึงสั่งให้นางบัวตองไปขนเอาเงินทองมาอีก)  

นางบัวตองมาถึงหน้าผาก็กระโดดลงไป ร่างนางตกใส่หัวฝีของยักษ์ที่เผอิญป่วยทนทุกข์ทรมานอยู่ จนทำให้ฝีของยักษ์แตกแล้วก็หายเจ็บปวดในทันที ยักษ์จึงตอบแทนนางบัวตองด้วยการมอบแก้วแหวนเงินทองให้มากมายแล้วนางบัวตองก็ขนเข้าไปให้เจ้าเมือง เมื่อนางบัวแก้วรู้เรื่องก็เกิดริษยาขอเจ้าเมืองออกไปเอาสมบัติบ้าง แต่พอนางกระโดดผาลงไปตามที่น้องสาวเคยทำกลับถูกยักษ์จับกินในที่สุด แล้วยักษ์ก็ได้ไล่กินขบวนช้างขบวนม้าของนางบัวแก้ว ณ บริเวณที่เรียกว่าบ้านโทกหัวช้างในปัจจุบัน

เรื่องจริงก่อเกิดตำนาน?

ดังจะเห็นได้ว่าสุวัณณเมฆะหมาขนคำและหมาขนคำ-ดอยม่วงคำในตำนานของเมืองลำปางนั้นมีหลายจุดที่แตกต่างกันแต่ก็มีหลายจุดที่คล้ายคลึงกันอยู่บ้าง

ในตำนานหมาขนคำ-ดอยม่วงคำนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ามีลักษณะคล้ายกับนิทานพื้นบ้านของไทยภาคกลางทั่ว ๆ ไป เช่น โสนน้อยเรือนงาม ไกรทอง แก้วหน้าม้า ปลาบู่ทอง ที่มักจะเล่าเชิงสนุกสนานผสมผสานกับเรื่องราวเหนือธรรมชาติแต่ก็จะสอดแทรกคติความเชื่อและคติสอนใจไว้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของประวัติศาสตร์แล้วจะทำให้เห็นถึงการยึดโยงของ “คน” กับ “พื้นที่” เข้าด้วยกัน

พื้นที่สำคัญ 3 แหล่งที่เกี่ยวข้องกับหมาขนคำในตำนานนี้คือ ผาสามเส้าที่ริมดอยม่วงคำ โทกหัวช้าง และเวียงนางตอง โดยมีพื้นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ผาสามเส้าที่ริมดอยม่วงคำตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเมืองลำปาง ถัดเข้ามาเป็นที่ราบระหว่างแม่น้ำวังกับภูเขาคือแถบโทกหัวช้าง ถัดเข้ามาก็จะเป็นที่ราบริมแม่น้ำวัง ซึ่งทางขวาของแม่น้ำวังถัดลงมาทางใต้ของเมืองลำปางในปัจจุบันเล็กน้อยจะเป็นที่ตั้งของเวียงนางตอง

บริเวณโทกหัวช้างและเวียงนางตองก็ปรากฏวัดเช่นกันคือ วัดโทกหัวช้างและวัดป่าเวียงนางตอง ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ทั้งสองแหล่ง โดยเฉพาะเวียงนางตอง เวียงโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่สมัยทวารวดี

ส่วนบริเวณดอยม่วงคำ เดิมเป็นที่ตั้งของวัดป่าเขา และมีฐานเจดีย์โบราณซึ่งเชื่อว่าสอดคล้องกับตำนานหมาขนคำ ครั้นพระครูรัตนโศภณ (หลวงพ่ออิ่น) อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดเมืองศาสน์ ร่วมกับหลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดลำปางได้สร้างวัดพระธาตุดอยม่วงคำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ด้านตำนาน ความเชื่อ และพุทธศาสนา

ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าตำนานหมาขนคำ-ดอยม่วงคำนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่ออธิบายถึง “ที่มา” ของสถานที่สำคัญทั้งสามแหล่ง โดยอาศัยตำนานหรือความเชื่ออื่นที่ดูจะเหมาะสมและสามารถนำมา “ปรับ” ให้เข้ากับ “พื้นที่” ได้ดีกว่าตำนานหรือความเชื่อเรื่องอื่น จนกระทั่งกลายเป็นหมาขนคำในแบบที่ยอมรับจนถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มติชนสุดสัปดาห์. (2560). ล้านนา-คำเมือง : หมาขนคำ, จาก www.matichonweekly.com/column/article_66581

เทศบาลเมืองเขลางค์นคร. (2558). วัดพระธาตุดอยม่วงคำ, จาก www.kelangnakorn.go.th/kelang/2015/07/01/วัดพระธาตุดอยม่วงคำ/

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดลำปาง. (2544).  กรุงเทพฯ: คุรุสภาลาดพร้าว.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่มที่ 13-14. (2542). กรุงเทพฯ: สยามเพรส.


ปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 13 มีนาคม 2562