ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ผศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ |
เผยแพร่ |
…แต่เดิมมานั้น บริเวณลุ่มน้ำวังมีการตั้งถิ่นฐานมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยหริภุญชัยในนามเมืองเขลางค์นคร แต่ก็มีบทบาทเป็นเพียงเมืองรองจากหริภุญชัยในลุ่มน้ำปิง ความเป็นเมืองรองบ่อนยังดำรงต่อมาทั้งในสมัยล้านนา และสมัยที่ล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่า เพิ่งจะมีบทบาทสำคัญหลังจากที่เชียงใหม่ร้างลงจากศึกสงครามและการที่ไพร่พลถูกกวาดต้อนออกจากเมือง
ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำวังจึงมีบทบาทขึ้นมาในฐานะพื้นที่ห่างไกลอำนาจรัฐจากพม่า ทำให้กลุ่มการเมืองในที่ราบลุ่มน้ำวังมีบทบาทสั่งสมอำนาจทางการเมืองในนามกลุ่มเจ้าเจ็ดตนโดยร่วมมือกับสยาม เมื่อพุทธศตวรรษที่ 24 จนกระทั่งกลับไปฟื้นฟูเมืองสำคัญอย่างเชียงใหม่ในเวลาต่อมา
เมื่อเชียงใหม่กลับมาเป็นเมืองที่มีอำนาจอีกครั้ง ลำปางก็กลับไปสู่สถานะเมืองรองเช่นเดิม แต่ก็ยังถือว่าได้รับความเคารพนับถือกันในหมู่เครือญาติอย่างสูง ดังสังเกตเห็นได้ว่าเมื่อมีเหตุขัดแย้งกันก็ใช้ญาติผู้ใหญ่ช่วยไกล่เกลี่ยปัญหา เช่น กรณีพระเจ้าหอคำดวงทิพย์แห่งลำปาง ไปไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างพระยาราชวงศ์สุวรรณคำมูลกับพระยาคำฝั้นแห่งเชียงใหม่
อำนาจแบบรัฐแสงเทียนแบบเจ้าประเทศราชต่อเมืองประเทศราชหมดไป เมื่อสยามทำการเปลี่ยนแปลง
ไปสู่รัฐสมัยใหม่ โดยการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้จัดตั้งระบบการปกครองที่เรียกว่า มณฑลเทศาภิบาลขึ้น ดินแดนตอนเหนือถูกจัดกลุ่มให้เป็นมณฑลลาวเฉียง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ โดยกำหนดให้ศาลาว่าการมณฑลพายัพอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยขนาดมณฑลที่ใหญ่และไม่สามารถปกครองได้ทั่วถึง
ทำให้ในเวลาต่อมาสยามได้แยก 3 เมืองอย่างลำปาง แพร่ และน่าน ออกมารวมกันเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ในปี 2458 โดยให้ศูนย์กลางการบริหารราชการของมณฑลอยู่ที่แพร่ ซึ่งเคยมีปัญหาเรื่อง “กบฏเงี้ยว”
ในปี 2445 มณฑลมหาราษฎร์เป็นเสมือนหน่วยการปกครองเขตตะวันออกของดินแดนตอนบนของสยามอันครอบคลุมลุ่มน้ำวัง ยม และน่าน
9 ปีต่อมา สยามได้เปิดการเดินรถไฟที่สถานีแม่พวก อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ยิ่งทำให้แพร่กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสำคัญ มูลค่าการค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่อสามารถเชื่อมกับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ได้…
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “100 ปี รถไฟสายลำปาง-กรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์สังคมบนจุดตัดของความเฟื่องฟูและความเสื่อม” เขียนโดย ผศ.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2560