“สมัน” สูญพันธุ์จากโลก เหตุเพราะขุด “คลองรังสิต” กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่

สมัน หรือ เนื้อสมัน สูญพันธุ์ เพราะ ขุด คลองรังสิต
(ซ้าย) ภาพเขียนสมันเมื่อทศวรรษ 1890 (ขวา) สมันตัวผู้ในสวนสัตว์เบอร์ลิน ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1911 (ภาพโดย Internet Archive Book Images ใน Flickr.com และ Wikimedia Commons)

การเข้าจัดการพื้นที่ป่าย่อมทำลายแหล่งที่อยู่ของสัตว์นานาชนิดอย่างไม่ต้องสงสัย หนึ่งในนั้นคือ “สมัน” หรือ “เนื้อสมัน” ซึ่งมีที่เดียวในโลก คือ ที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทย เมื่อมีการบุกเบิกพื้นที่ “ทุ่งรังสิต” เพื่อดำเนินการขุด “คลองรังสิต” กินพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ สมันซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจึงได้รับผลกระทบ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ กระทั่งสูญพันธุ์ในที่สุด

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เล่าถึงประเด็นเรื่องสมันไว้ในผลงานเล่มล่าสุดของเขา “The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

Advertisement

สมัน หรือ เนื้อสมัน ได้รับการยอมรับว่าเป็นกวางที่มีเขาสวยงามที่สุดในโลก เพราะตัวผู้จะมีเขาแตกแขนงออกไปมากมายเหมือนกิ่งไม้ โค้งสวยงาม ลำเขาด้านบนมักแตกแขนงออกเป็น 2 แขนงเรื่อยๆ อีก 2-3 ชั้น ซึ่งแต่ละครั้งที่เขาแตกแขนงมักทำมุมแยกออกไปเท่ากับลำกิ่งเดิม

สมันมีถิ่นอาศัยที่เดียวในโลก คือ ที่ราบลุ่มภาคกลางของไทยแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำแถบทุ่งรังสิต พระโขนง สำโรง บางปู บางบ่อ และกินพื้นที่ไปยังสมุทรสาคร

เมื่อก่อนสมันมีอยู่ชุกชุม แต่เมื่อสยามลงนามใน “สนธิสัญญาเบาว์ริง” เมื่อ พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดการเปิดประเทศรับชาติตะวันตก เปลี่ยนการค้าแบบเดิมที่เป็นการผูกขาดไปสู่การค้าเสรี ทำให้การผลิตเป็นไปเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าว”

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการขยายพื้นที่ทำนาอย่างมหาศาล เกิดการขุดคลองที่ช่วยด้านการคมนาคม การชลประทาน และการขนส่งข้าวออกจากพื้นที่ ซึ่งพื้นที่สำคัญในการปลูกข้าว คือ ทุ่งรังสิต มีการขุด “คลองรังสิต” เพื่อเอื้อต่อการทำนา

ทศวรรษที่ 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม เริ่มดำเนินการขุดคลองรังสิต ช่วง 5-6 ปีแรกบริษัทขุดคลองได้น้อยและไม่สม่ำเสมอ กระทั่ง พ.ศ. 2440 ก็เริ่มขุดคลองได้มากขึ้น จนในที่สุดพื้นที่นา 2 ฝั่งคลองก็มีกว่า 1.3 ล้านไร่

เมื่อ “คน” เข้าไปครอบครองพื้นที่ “สัตว์” ก็ต้องล่าถอย สมันที่เคยมีเป็นจำนวนมากในบริเวณนั้นก็เริ่มถูกชาวบ้านไล่ล่ามากขึ้น

วันชัย ยกถ้อยความของ พระยาชลมาร์คพิจารณ์ ที่เล่าถึงการล่าสมันสมัยนั้นว่า

“เนื้อสมันมีชุมมากตามทุ่งรังสิต…ในฤดูน้ำท่วมเนื้อนี้จะหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามเกาะที่ดอน ชาวบ้านก็ชวนกันไปด้วยเรือม่วงแล้วไล่แทงเอาตามใจชอบอย่างง่ายดาย ในฤดูร้อนบางคนก็เอาเขาสมันมาตาก หรือตะไบข้างหลังออกทำให้น้ำหนักเบาขึ้น แล้วก็สวมติดไปบนศีรษะคลานเข้าไปได้จวนถึงตัวสมัน แล้วก็แทงเอาอย่างง่ายดาย เพราะมันไม่ใคร่หนี นึกว่าเป็นพวกเดียวกัน เนื้อสมันในสมัยนั้นมีชุมไปจนถึงตำบลบางปลากดและทุ่งดงลครในนครนายก ชาวบ้านทุ่งดงลครในหน้าน้ำท่วม มักชอบชวนกันขี่ควายไปล้อมแทงเนื้อสมันซึ่งหนีน้ำไปอาศัยตามเกาะที่ดอน…”

สมัน หรือ เนื้อสมัน ค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ กระทั่ง พ.ศ. 2475 สมันในธรรมชาติตัวสุดท้ายถูกนายตำรวจคนหนึ่งยิงตาย แต่ก็ยังมีการเลี้ยงสมันอยู่บ้าง

พ.ศ. 2481 พระยาวินิจวนันดรรับราชการในกรมป่าไม้ ทราบว่ามีสมภารเลี้ยงสมันตัวผู้ที่วัดแถวมหาชัย จึงรีบให้คนไปซื้อมาเลี้ยง แต่ไปช้าเพียงวันเดียว เพราะมีคนเมาสุราเดินมาเห็นสมันยืนขวางทาง จึงตีสมันจนตาย สมันตัวสุดท้ายจึงสูญพันธุ์จากโลก

การพัฒนาพื้นที่ทุ่งรังสิตเพื่อขุด “คลองรังสิต” แม้ได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องแลกมาด้วย “สมัน” ที่หลงเหลือเพียงชื่อให้คนยุคนี้จินตนาการถึงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567

เสมียนนารี. “‘คลองรังสิต’ เมกะโปรเจกต์สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยน ‘ป่า’ เป็น ‘นา’ นับล้านไร่”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2567