แขกเชื้อสาย “นบีมูฮัมหมัด” ร่วมกับโจรสลัดและเมืองปัตตานี บุกเมืองสงขลา !?

ขุนนาง แขก เปอร์เซีย
ภาพประกอบบทความ - ขุนนางเปอร์เซีย จิตรกรรมฝาผนัง ที่พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม (ภาพจากหนังสือครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สองจิตรกรเอกแห่งยุคทองของศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ โดย น.ณ.ปากน้ำ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ 2530)

เหตุการณ์โจมตีเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2333 ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกองกำลังจาก ปัตตานี (ปาตานี) มีมูลเหตุจากนักการศาสนากลุ่มหนึ่ง ที่อ้างว่าตนสืบเชื้อสายท่านศาสดา นบีมูฮัมหมัด หรือเอกสารไทยเรียก “แขกซาหยัด”  พร้อมไพร่พลโจรสลัดและกำลังจากเมืองปัตตานี ลุกฮือต่อต้านอำนาจสยาม ทำให้เจ้าเมืองสงขลาต้องล่าถอยไปตั้งมั่นที่พัทลุง เดือดร้อนถึงกรุงเทพฯ ที่ต้องส่งกำลังไปแก้ไขสถานการณ์

เรื่องราวนี้ปรากฏอยู่ใน พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ในหนังสือ จดหมายหลวงอุดมสมบัติ พร้อมด้วยอธิบายของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (กรมศิลปากร, พระนคร : 2505) เล่าถึงการปกครองหัวเมืองมลายูในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความยุ่งยากต่าง ๆ ในหัวเมืองปักษ์ใต้ การเข้ามาของอังกฤษ รวมถึงการท้าทายอำนาจกรุงเทพฯ ของหัวเมืองมลายู โดยเฉพาะ “ปัตตานี”

ทางการสยามถือว่าปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของตนมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนจะแยกเป็นอิสระคราวเสียกรุงฯ แก่พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 กระทั่งในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 แม้จะมีการขัดขืนต่อรัฐบาลกรุงเทพฯ จนเกิดการสู้รบกัน แต่ท้ายที่สุดปัตตานีก็เป็นเมืองขึ้นของสยามอีกครั้ง โดยพระเจ้าแผ่นดินสยามยังทรงให้เชื้อสายเจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครองต่อไป

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หัวเมืองปักษ์ใต้มีเมืองใหญ่อยู่ 2 เมืองคอยเป็นหูเป็นตาให้รัฐบาลกรุงเทพฯ คือ เมืองถลาง เมืองหน้าด่านระวังภัยฝั่งพม่า และดูแลหัวเมืองใกล้เคียงอย่าง ภูเก็ต ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง

อีกเมืองคือ นครศรีธรรมราช มีบทบาทเป็น “พี่ใหญ่” ในฐานะเมืองระดับเจ้าพระยามหานครมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เมืองนครฯ จะคอยกำกับดูแล “หัวเมืองแขก” หรือหัวเมืองมลายู รวมถึงเมืองสงขลา

เหตุการณ์การรุกรานเมืองสงขลานั้น เป็นความร่วมมือระหว่างแขกซาหยัดกับ “เติงกูลามีดิน” เจ้าเมืองปัตตานี และเหล่าโจรสลัดมลายู โดยขณะนั้น ผู้ว่าราชการ หรือพระยาสงขลา คือ หลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย) (ในพงศาวดารเมืองสงขลาเรียก ‘บุญหุ้ย’)

ผลลัพธ์คือ แม้จะต้องหลบลี้มาตั้งหลักที่พัทลุงในระยะแรก แต่พระยาสงขลาก็ได้รับกำลังเสริมจากเมืองนครศรีธรรมราชมาช่วย ทำให้ปกป้องเมืองสงขลาเอาไว้ได้ ทั้งยังตอบโต้ข้าศึกด้วยการโต้กลับไปตีและยึดเมืองปัตตานีไว้ได้ ก่อนกำลังจากกรุงเทพฯ จะลงมาถึงด้วยซ้ำ 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ให้รายละเอียดไว้ดังนี้

“อยู่มาถึงปีจอโทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ พ.ศ. ๒๓๓๓ มีแขกซาหยัด คือ จำพวกที่อ้างตนว่ามีเชื้อวงศ์สืบมาแต่พระนาบีมะหะหมัด เข้ามาจากนอกพระราชอาณาเขต มาสำแดงตนที่เมืองปัตตานี ว่าเป็นผู้วิเศษรู้เวทมนตร์ อาจจะสำแดงฤทธิ์เดชได้ต่าง ๆ พวกแขกพากันนิยมนับถือมาก

พระยาปัตตานีคนใหม่ที่เรียกกันในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า รายาปัตตานี เห็นได้ช่องจึงคบคิดกับพวกแขกในพื้นเมืองเป็นขบถ และชักชวนพวกแขกสลัดชาวเมืองอื่น ยกกองทัพขึ้นมาตีเมืองสงขลา พระยาสงขลา (บุญฮุย) เห็นกำลังไม่พอจะต้านพวกแขก จึงถอยขึ้นมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุง

เวลานั้นพระศรีไกรลาศเป็นผู้รักษาเมืองพัทลุงอยู่ พระศรีไกรลาศตื่นข่าวศึกหลบหนีไปเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระพิโรธมีรับสั่งให้ถอดพระศรีไกรลาศ และทรงตั้งพระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งเรียกอีกนามว่า พระยาพัทลุง (คางเหล็ก) ผู้ต้นวงศ์เจ้าจอมมารดากรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงมาแต่ครั้งนั้น

เมื่อข่าวศึกพวกแขกเมืองปัตตานีทราบมาถึงกรุงฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้กองทัพกรุงฯ ยกลงไปกอง ๑

แต่เมื่อก่อนกองทัพกรุงฯ ออกไปถึง เจ้าพระยานครฯ (พัฒน์) ยกกองทัพเมืองนครฯ ลงไปสมทบกับไพร่พลพระยาสงขลา (บุญฮุย) ตีพวกพวกแขกเมืองปัตตานีแตกพ่ายไปจากเมืองสงขลา แล้วให้พระยาสงขลา (บุญฮุย) ยกเลยลงไปตีได้เมืองปัตตานีอีกครั้ง ๑ จับตัวพระยาปัตตานีได้”

ใน พงศาวดารเมืองสงขลาและพัทลุง (หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นครพนม, พระนคร : 2505) ซึ่งเรียบเรียงโดย พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาระหว่าง พ.ศ. 2431-2447 ก็บันทึกเรื่องราวข้างต้นไว้ด้วย แต่ปีศักราชต่างกัน คือ พ.ศ. 2334 (จุลศักราช 1153) แต่เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน มีเนื้อหา ดังนี้

“ปีกุนตรีศก ศักราช ๑๑๕๓ ‘โต๊ะสาเหยด’ มาแต่ประเทศอินเดีย เป็นคนรู้เวทมนต์วิชาต่าง ๆ ไปคบคิดกับพระยาตานีให้ยกทัพมาตีเมืองสงขลา ทัพพระยาตานียกมาตั้งอยู่ที่ริมเขาสะโมรง หลังเขาลูกช้าง พระยาสงขลา (บุญหุ้ย) เกณฑ์ไพร่ไปตั้งค่ายรับอยู่ริมคลองสะโหมง แล้วมีใบบอกเข้าไปกราบทูลพระกรุณาขอกองทัพหลวงมาช่วยฉบับหนึ่ง มีหนังสือไปขอกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชมาช่วยฉบับหนึ่ง

เจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านบ่อเตยค่ายหนึ่ง ให้มาตั้งอยู่ตำบลบ้านบ่อยางค่ายหนึ่ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช กับพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ปรึกษากำหนดวันจะเข้าตีค่ายโต๊ะสาเหยดให้พร้อมกัน ในวันนั้น พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดยกอ้อมมาทางบางกระดาน ถึงหน้าค่ายตำบลบ้านบ่อยาง พวกทัพเมืองนครศรีธรรมราชยิงปืนถูกพวกอ้ายโต๊ะสาเหยดตายประมาณสามร้อยคน พวกอ้ายโต๊ะสาเหยดก็ล่าทัพกลับไป

กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาไล่ตามไปทันได้รบกับพวกแขกถึงตะลุมบอน พวกแขกแตกเข้าค่ายหลังเขาลูกช้าง อ้ายโต๊ะสาเหยดเสกน้ำมนต์โปรยอยู่ประตูค่าย กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลาหักเข้าค่ายไปยิงอ้ายโต๊ะสาเหยดตายอยู่กับที่ พวกแขกก็ตายเป็นอันมาก ที่เหลือก็แตกหนีไปสิ้น”

หลังตีเอาเมืองปัตตานีคืนได้ ทัพนครศรีธรรมราชและสงขลายกกลับมาตั้ง ณ เมืองสงขลา 4-5 วัน ทัพจากกรุงเทพฯ จึงมาถึง ระหว่างนั้นกองทัพหัวเมืองทั้งสองเกิดวิวาทกัน เป็นเหตุให้ความเป็นอริลุกลามไปถึงระดับเจ้าเมือง คือเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) กับพระยาสงขลา (บุญฮุย)

รัชกาลที่ 1 ทรงทราบสถานการณ์แล้วพระราชดำริว่า เมืองนครฯ เมืองเดียวคงดูแลหัวเมืองมลายูไม่ทั่วถึง จึงโปรดฯ ให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศพระยาสงขลาเป็น “เจ้าพระยา” เสมอเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

เมืองสงขลาจึงได้ดูแลหัวเมืองมลายู คือ เมืองตรังกานู และเมืองปัตตานี ซึ่งถูกแยกออกเป็น 7 หัวเมืองอีกทีเพื่อลดทอนอำนาจ ได้แก่ เมืองตานี เมืองหนองจิก เมืองยะลา เมืองรามันต์ เมืองยิหริ่ง เมืองสายบุรี และเมืองระแงะ ส่วนเมืองนครศรีธรรมราช ให้ดูแลเมืองไทรบุรี

ทั้งนี้ ไม่ปรากฏบันทึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้นำก่อการอย่าง “แขกซาหยัด” หรือ “โต๊ะสาเหยด” และดูเหมือนทางการกรุงเทพฯ เองก็ไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้ต่อ เราจึงไม่ทราบว่า ผู้อ้างว่าตนเป็นเชื้อสาย “นบีมูฮัมหมัด” ผู้นี้เป็นใครกันแน่

หรืออาจเป็นเพียงผู้แอบอ้าง เอาศาสนาและพระศาสดาของประชาชาติมุสลิมมาปลุกระดมผู้คน เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 เมษายน 2567