ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
ตำนานการสร้าง “ปืนใหญ่พญาตานี” มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่มีการกล่าวถึงประวัติการสร้างไว้หลายสำนวน สำนวนหนึ่งได้กล่าวถึง “พญาอินทิรา” เป็นผู้สร้าง
“หนังสือสยาเราะห์เมืองตานี ของนายหะยีหวันหะซัน กล่าวถึงเหตุที่พญาอินทิราสร้างปืนว่า นายเรือสำเภาจีนได้นำปืนและกระสุนปืนมาถวาย ทำให้สุลต่านเกิดความละอายต่อชาวจีนผู้นั้น เนื่องจากพระองค์มีฐานะเป็นเจ้าผู้ครองนคร แต่หาได้มีอาวุธปืนไว้สำหรับป้องกันบ้านเมือง เหมือนนายเรือมีไว้ป้องกันตนและสำเภา ต่อไปจะเป็นที่ดูหมิ่นแก่ชาวต่างประเทศ จึงเรียกประชุมมุขมนตรี ให้จัดหาช่างและทองเหลืองมาหล่อปืนให้ได้ภายในระยะเวลา ๓ ปี และให้ทำประกาศห้ามพ่อค้านำทองเหลืองออกนอกเมือง”
เอกสารชิ้นนี้กล่าวถึงผู้สร้าง “ปืนใหญ่พญาตานี” ว่าเป็นชาวโรมัน ต่างจากตำนานเรื่องอื่นๆ ที่อ้างว่าเป็นชาวจีน
“เมื่อได้ทองเหลืองพอเพียงแก่การหล่อแล้ว พญาอินทิราได้ให้นายช่างชาวโรมัน ชื่ออับดุลซามัค มาเป็นผู้ทำการหล่อปืน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนรอมดอน ปีชวดนักษัตร์ ฮิจยาเราะห์ ๗๘” (แลหลังเมืองตานี, อนันต์ วัฒนานิกร, ๒๕๒๘)
เรื่องเกี่ยวกับชาวโรมันซึ่งมีชื่อเป็นแขกนี้ เคยปรากฏอยู่ในตำนานปัตตานี คือเรื่องพระองค์มหาวังษา พระเจ้ากรุงโรม ซึ่งโรมหรือโรมันนี้ไม่ได้หมายถึงกรุงโรมในอิตาลี แต่หมายถึงเมืองหรุ่ม
“เมืองโรม ตรงกับเมืองหรุ่ม ที่ตั้งเมืองเรียกลังกาซูก คำนี้ดูจะตรงกับลังกาสุกะ ถ้าถือตามนี้ก็แปลว่าลังกาสุกะ กับเกดะห์ อยู่ที่เดียวกัน” (ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์ เล่ม ๓, กาญจนาคพันธุ์, ๒๕๑๘)
ดังนั้นช่างชาวโรมัน “อับดุลซามัค” ที่มาหล่อปืน อาจหมายถึงช่างจากที่ใดที่หนึ่งในอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ยุติว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใดแน่ แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากปัตตานีนั่นเอง
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งกล่าวถึง “นางพญาปัตตานี” ว่าเป็นผู้สร้าง แต่ปัญหาคือไม่ได้ระบุว่าเป็นนางพญาคนไหน ตำนานเรื่องนี้กล่าวถึงผู้ที่หล่อปืนพญาตานีว่าเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน แซ่ลิ้ม หรือหลิม ชื่อเคี่ยม เดินทางมาจากเมืองจีน แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านกะเสะ ปัตตานี ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวปัตตานี เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ชาวปัตตานีเรียกว่า “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” โต๊ะ หรือดาโต๊ะ หมายถึงผู้อาวุโส
ลิ้มโต๊ะเคี่ยมอาศัยอยู่ปัตตานีได้หลายปี จนน้องสาวคือ ลิ้มกอเหนี่ยว เดินทางมาจากเมืองจีน เพื่อจะตามพี่ชายให้กลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ และให้เลิกนับถือศาสนาอิสลาม ลิ้มกอเหนี่ยวอ้อนวอนอยู่หลายปีก็ไม่สำเร็จ นางผิดหวังอย่างมาก จึงตัดสินใจผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ
บางตำนานเล่าว่าเหตุที่ลิ้มกอเหนี่ยวเลือกมาผูกคอตายใกล้กับมัสยิดแห่งนี้ เพราะต้องการจะประชดพี่ชายซึ่งเป็นนายช่างก่อสร้างมัสยิดกรือเซะ มัสยิดแห่งนี้จึงเหมือนต้องคำสาปทำให้ก่อสร้างไม่สำเร็จ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมพยายามสร้างหลังคาโดมหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็เกิดฟ้าผ่าพังลงมาทุกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- นักรบ “300” ฉบับอยุธยา สำรวจกลุ่มทหารจากปัตตานี ผู้พยายามยึดอำนาจในเมืองหลวง
- หรือแท้จริงแล้ว “ทวารวดี” และ “ลังกาสุกะ” เป็นเครือญาติกัน?!
- เปิดตำนาน “พระนางเลือดขาว” หญิงงามผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกาะ “ลังกาวี”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘พญาตานี’ ปืนใหญ่ใส่อดีตอันรุ่งเรืองของ กษัตริยาแห่งปัตตานี” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2560