เปิดตำนาน “พระนางเลือดขาว” หญิงงามผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเกาะ “ลังกาวี”

พระนางเลือดขาว ลังกาวี
เจ้าหญิงมะสุหรี (ในจินตนาการ) นางเลือดขาวแห่งลังกาวี

“พระนางเลือดขาว” เป็นตำนานว่าด้วยเรื่องราวของหญิงสาวผู้มีรูปลักษณ์งดงามมากบารมี ที่โด่งดังในแถบภาคใต้ของไทย จนถึงมาเลเซีย โดยเฉพาะ “เกาะลังกาวี” 

ว่ากันว่าตำนาน “พระนางเลือดขาว” นั้นเกิดขึ้นในลังกาวี เป็นเรื่องราวของ “มะสุหรี” หรือ “มัสสุหรี” หญิงสาวชาวไทยเชื้อสายมุสลิมที่โยกย้ายที่อยู่จากภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนไปยังเกาะลังกาวีเมื่อ 200 ปีก่อน

เมื่อมาลงหลักปักฐานที่นี่จนเติบใหญ่ ความสวยของมะสุหรีก็ระบือไกลไปทั่วเมือง จนทำให้บุรุษมากหน้าหลายตาเข้ามาเกี้ยวพาราสี รวมไปถึง “ดะโต๊ะเสรีเกอร์ มรายา” เจ้าเมืองลังกาวีที่สนใจนางไม่น้อย และหวังจะให้มะสุหรีเป็นภรรยาอีกคน แต่นางมะโฮรา ภรรยาหลวงไม่ยอม ทำให้เจ้าเมืองลังกาวีต้องล้มเลิกความคิดที่จะครอบครองหญิงงามประจำเกาะ

ท้ายที่สุดเจ้าเมืองลังกาวีก็ได้สู่ขอนางมะสุหรีให้กับน้องชายของตนเองอย่าง “ดารุส” เนื่องจาก “ดารุส” ก็ชอบพอกับนางมะสุหรีไม่ต่างกับพี่ชาย

หลังจากแต่งงานมีครอบครัว มะสุหรีก็ต้องเปลี่ยนที่อยู่ไปยังหมู่บ้านมาวัต ทว่าโชคไม่ดีนัก เพราะต่อมาไม่นาน ดารุสต้องไปช่วยรับศึกสยามที่กำลังตีเดคาห์ (ไทรบุรี)

วันเวลาผ่านไป หญิงงามที่ยังใช้ชีวิตที่เกาะลังกาวี ขณะที่สามีไปออกรบ ก็ได้พบชายคนหนึ่งชื่อ “ดาเร็มบาง” เขาเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเยือนลังกาวีหลังจากใช้เวลาที่สุมาตรา และได้ผ่านบ้านของมะสุหรี เมื่อเธอเห็นเข้าจึงเชิญให้มาดื่มน้ำ ก่อนจะสนทนากันถูกคอ และคบหากันฉันเพื่อน

ข่าวสารเหล่านี้ถึงหูของนางมะโฮรา ด้วยความคับแค้นใจที่สุมอกมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากอิจฉาริษยาในความสวยและความดีของมะสุหรี นางจึงออกกลอุบาย ปล่อยข่าวลือว่า นางมะสุหรีเป็นชู้กับนายดาเร็มบาง นางมะโฮรายุยงให้สามีขับไล่ดาเร็มบางออกจากเมืองและประหารนางมะสุหรีทิ้งทันที 

แม้ว่ามะสุหรีจะพยายามยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคำสั่งยืนกรานที่จะประหาร

เครื่องมือประหารสารพัดประเภทพยายามทำให้นางสิ้นลมหายใจ ทว่าไม่เกิดผล จนสุดท้ายมะสุหรีก็เอ่ยปากว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่จะปลิดชีพนางได้ คือ “กริช” ของบิดานางเท่านั้น 

ก่อนตายมะสุหรีได้อธิษฐานยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง หากเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีมูลก็ขอให้เลือดปรากฏเป็นสีขาว และสาปแช่งลังกาวีเจ็ดชั่วโคตรว่าขอให้มีแต่ความทุกข์ยาก กันดาร ซึ่งเมื่อนางได้เสียชีวิต คำสาปแช่งก็เห็นผล เพราะต่อมาหมู่บ้านมาวัตและหมู่บ้านอื่น ๆ ถูกกองทัพสยามโจมตีทำลาย แม้กระทั่งหาดทรายก็กลายเป็นสีดำ 

วันเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ตำนาน “พระนางเลือดขาว” แห่งเกาะลังกาวีก็ยังเป็นที่กล่าวขาน เมื่อเอ่ยถึงเกาะเล็ก ๆ ในมาเลเซียแห่งนี้ ไม่มีใครไม่นึกถึงเรื่องราวดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตำนานพระนางเลือดขาว ไม่ได้ปรากฏแค่เพียงในเกาะลังกาวีเท่านั้น แต่ยังปรากฏอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ประเทศไทยอื่น ๆ อย่างในนครศรีธรรมราชและพัทลุงอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

www.silpa-mag.com/history/article_7504

สายฝน จิตนุพงศ์. “นางเลือดขาว : ตำนานกับการสร้างสินค้าทางวัฒนธรรม.” สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ 15, ฉ.1 (ตุลาคม-มีนาคม 2557-2558): 135-143.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566