ความสัมพันธ์ชนชั้นนำสยามกับมาลายา ค้นที่มารากสัมพันธ์แน่นแฟ้น

รัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จฯ เยือนสิงคโปร์ พร้อมด้วยพระราชโอรส มีสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยืนอยู่ด้านหลัง ขวาสุดคือ Tunku Abdul Aziz รายามูดาแห้งเกอดะห์ (ภาพจากหนังสือ Siamese in Malaysia: Beyond Sixty Years of Heritage)

ระหว่างปี ค.ศ. 1870-1902 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐมาลายาเหนือหลายครั้งหลายหน โดยเสด็จฯ แวะพักในช่วงการเสด็จประพาสต่างประเทศหลาย ๆ ครั้ง เช่น เสด็จประพาสอินเดีย ค.ศ. 1871 เสด็จประพาสสิงคโปร์ ค.ศ. 1871 และ เสด็จประพาสยุโรป ค.ศ. 1897 ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องแวะพักที่รัฐมาลายาทั้งสิ้น การแวะพักในรัฐมาลายายังมีจุดมุ่งหมายที่จะเสด็จฯ เยือนรัฐภายใต้การปกครองของสยามด้วยคือ เกอดะห์ (Kedah) หรือไทรบุรี ปะลิส (Perlis) กลันตัน (Kelantan) และ ตรังกานู (Terengganu) อีกด้วย

รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนรัฐมาลายาที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในหลายเมืองและหลายรัฐ เช่น ปีนัง (Penang) เปรัก (Perak) มะละกา (Malacca) ยะโฮร์ (Johor) และสิงคโปร์ (Singapore) ในการเสด็จประพาสครั้งแรกที่สิงคโปร์นั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อทอดพระเนตรการปกครองและความเจริญของบ้านเมืองเพื่อนำมาปรับใช้กับสยามสำหรับการพัฒนาให้เกิดความเจริญทัดเทียมกับชาติตะวันตก การเสด็จประพาสทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม-อังกฤษ สยาม-มาลายา และโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัฐภายใต้การปกครองของทั้งสี่รัฐให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

การเสด็จประพาส/เสด็จฯ เยือนรัฐมาลายา

ในปลายปี ค.ศ. 1871 รัชกาลที่ 5 เสด็จเสด็จประพาสอินเดีย [โกลกาตา (Kolkata) เดลี (Delhi) และบอมเบย์ (Bombay)] โดยระหว่างเส้นทางเสด็จฯ ได้เยือน สิงคโปร์ มะละกา และปีนัง ก่อนที่จะไปยังพม่าและต่อด้วยอินเดีย และขากลับก็ผ่านภูเก็ต เกอะดะห์ (ไทรบุรี) หาดใหญ่ และสงขลา ซึ่งล้วนแล้วมีจุดประสงค์เพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอังกฤษในมาลายา พม่า และอินเดีย ในการเสด็จประพาสปี ค.ศ. 1871 นี้ รัชกาลที่ 5 ยังทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 18-19 ปีเท่านั้น แม้จะทรงเป็น “ยุวกษัตริย์” แต่ก็ทรงมุ่งมั่นที่จะให้การเสด็จประพาสในปีนั้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิรูปการปกครองในสยามในยุคต่อมา

หนึ่งในจุดแวะพักที่สำคัญคือ “ปีนัง” ซึ่งในยุคหลังปีนังก็เป็นที่นิยมของบรรดาชนชั้นนำของสยามเรื่อยมาจนถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ค.ศ. 1932   ปีนังเคยเป็นดินแดนของสยามมาก่อนแต่ได้ตกเป็นของอังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ปีนังเป็นพื้นที่ที่ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเกาะที่คนไทยรู้จักกันดีคือเกาะหมาก กับส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตและมีความเกี่ยวข้องกับสยามมาตลอด ซึ่งเชื่อมโยงถึงเมืองภูเก็ต สงขลา ตรัง และระนอง

ในปี ค.ศ. 1888 รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนปัตตานี กลันตัน และตรังกานู แม้จะมีจุดประสงค์ทางการเมืองเพื่อเพิ่มอำนาจในการปกครองหัวเมืองใต้ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับหัวเมืองใต้แน่นแฟ้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยสองปีให้หลังจากนั้น รัชกาลที่ 5 ก็เสด็จเยือนปักษ์ใต้อีกครั้งในแถบเมืองระนอง พังงา ตรัง ภูเก็ต แล้วเลยข้ามไปยัง ลังกาวี ปีนัง และเกอดะห์ ที่ลังกาวีทรงล่าสัตว์พร้อมกับราชวงศ์ของเกอดะห์ ทรงทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์  และทรงเป็นอาคันตุกะของพระยาระนอง ที่บ้าน “คอซิมบี้”

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพาณิชย์การค้าในปีนังเป็นสิ่งที่รัชกาลที่ 5 นำมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาสยามให้ทันยุคทันสมัย ซึ่งจะเห็นความเจริญเหล่านี้ได้จากบันทึกต่าง ๆ เช่น นิราศเมืองประเหลียน ค.ศ. 1879 ของพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) หนึ่งในสมาชิกของตระกูลผู้ปกครองแห่งพัทลุง ซึ่งได้พรรณนาจากที่สังเกตเห็นความเจริญในระหว่างการเดินทางเอาไว้ว่า ปีนังเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายและเจริญ นอกจากนี้ก็ยังมีนิราศเรื่องอื่น ๆ ที่ได้พรรณาถึงเมืองปีนังในหลายด้าน เช่น การระบายน้ำ ถนน การไฟฟ้า เศรษฐกิจ

ในการเสด็จประพาส ค.ศ. 1890 เมือเสด็จฯ ถึงเมือง Taiping ในรัฐเปรัก ได้ทอดพระเนตรการทำเหมืองดีบุกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของรัฐมาลายาทั้งหลายที่สร้างรายได้มหาศาล ซึ่งรัชกาลที่ 5 ให้ความสนใจในการทำเหมืองดีบุกและการจัดการระบบต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งจะส่งผลมาถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองในภาคใต้ของสยามอีกด้วย

ปีนังกับการเสด็จประพาสยุโรป

การเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้ง เมื่อ ค.ศ. 1897 และ 1907 ทรงแวะพักที่ปีนังทั้งสองครั้ง โดยพำนักที่ “Chakrabonge House” หรือบ้านจักรพงษ์ ในการเสด็จฯ เยือนรัฐมาลายาก็ได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากผู้ปกครองท้องถิ่นมาลายา เช่น รายาแห่งปะลิส (Raja of Perlis) รายามูดาแห่งเกอะดะห์ (Raja Muda of Kedah)

ไม่แต่เพียงในระดับกษัตริย์เท่านั้น ในระดับรองลงมาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายแน่นแฟ้นขึ้น กล่าวคือ ผู้ติดตามของรัชกาลที่ 5 เช่น พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี๊ ณ ระนอง ข้าหลวงใหญ่มณฑลภูเก็ตและผู้ว่าการเมืองตรังก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีวงศ์ตระกูลคอ (Khaw) กระจายอยู่ทั่วในภาคใต้ของสยามและภาคเหนือของรัฐมาลายา รวมถึงที่ปีนังนี้ด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติทั้งในระดับกษัตริย์และรองลงมาแนบแน่นมาโดยตลอด

พระยารัตนเศรษฐี หรือคอซิมก๊อง ณ ระนอง (Khaw Joo Tok) หลานของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านพักต่างอากาศที่เรียกว่า บ้านอัษฎางค์ (Asdang House) แก่รัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นที่พำนักพร้อมกับคณะผู้ติดตามในพระองค์ระหว่างประทับที่ปีนัง ซึ่งการเสด็จฯ มาประทับที่ปีนังบ่อยครั้งทำให้กลายเป็นเหมือนประเพณีปฏิบัติของชนชั้นนำสยามในยุคหลังที่นิยมมาพำนักที่ปีนังกันมากยิ่งขึ้น

ชนชั้นนำสยามกับบ้านอีกหลังที่ปีนัง

บ้านจักรพงษ์และบ้านอัษฎางค์ถูกตั้งจากชื่อพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ โดยก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรปโมเดิร์น ซึ่งใช้เป็นที่พำนักรับรองชนชั้นนำและบุคคลสำคัญของสยามมาตลอดหลายสมัย

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1929 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จฯ ประทับที่บ้านอัษฎางค์ ในภายหลังบ้านอัษฎางค์นี้ได้ตกทอดเป็นสมบัติของโรงแรม Metropole อีกบ้านหลังหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ “บ้านชินนามอน” (Cinnamon House) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพใช้เป็นที่ประทับภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ค.ศ. 1932 ทั้งยังได้ต้อนรับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่เสด็จฯ มาเยี่ยมที่บ้านชินนามอนเมื่อ ค.ศ. 1937 อีกด้วย

นอกจากนี้ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา อดีตนายกรัฐมนตรีของสยาม ภายหลังจากพระยาพหลพยุหเสนาได้ทำการรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1933 พระยามโนปกรณ์ฯ ก็ได้มาอาศัยอยู่ที่ปีนังเช่นกัน ซึ่งท่านก็ถึงแก่อสัญกรรมที่ปีนังและศพก็ถูกฝังไว้ที่นี่ ใน ค.ศ. 1947

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จเยี่ยมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระธิดา ที่เมืองปีนัง พ.ศ. ๒๔๘๐

สยามกับกลันตัน

รัฐกลันตันก็เป็นอีกรัฐหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับสยามมายาวนาน สุลต่านของกลันตันเช่น สุลต่าน Ahmad, สุลต่าน Muhammad III และสุลต่าน Mansur ตั้งแต่ ค.ศ. 1886-1899 ก็ล้วนแล้วแต่เคยเสด็จฯ มากรุงเทพมหานครฯ เพื่อประชุมหารือกับรัชกาลที่ 5   

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองรัฐคือ ในช่วงที่มีการออกพระราชบัญญัติสงฆ์ ค.ศ. 1902 ซึ่งว่าด้วยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งสยามในการแต่งตั้งพระราชาคณะในพระราชอาณาจักร รัฐกลันตันก็ยอมรับและให้การรับรองในสิทธิของสยามที่จะแต่งตั้งพระราชาคณะในกลันตัน

หลังจากที่กลันตันได้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียแล้วนั้น สุลต่านแห่งกลันตันจึงยึดเอาประเพณีนี้มาปฏิบัติใช้ กล่าวคือ สุลต่านแห่งกลันตันเป็นผู้แต่งตั้งพระราชาคณะของศาสนาพุทธในรัฐกลันตัน จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังยึดปฏิบัติกันสืบมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักทั้งสองมีความใกล้ชิดระหว่างกันและต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกันในการให้การยอมรับความเท่าเทียมทางศาสนา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ชุดดำ) เสด็จร่วมงานพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ณ วัดปิ่นบังอร ที่ปีนัง ค.ศ. 1935 (ภาพจากหนังสือ Siamese in Malaysia: Beyond Sixty Years of Heritage)

สยามกับเกอดะห์

ในช่วงที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนรัฐเกอดะห์ในหลาย ๆ ครั้งนั้นจะตรงกับรัชสมัยของสุลต่านสองพระองค์คือ สุลต่าน Ahmud Tajuddin และสุลต่านอับดุลฮามิด ( Sultan Abdul Hamid) ราชสำนักเกอดะห์ได้ถวายการต้อนรับรัชกาลที่ 5 อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศ รัชกาลที่ 5 ก็มิได้แสดงออกว่าพระองค์เหนือกว่าในฐานะผู้ปกครอง ซึ่งทรงให้เกียรติสุลต่านเกอดะห์ด้วยพระมหากรุณาธิคุณฉันมิตร ทั้งยังสนับสนุนกิจการภายในราชสำนักเกอดะห์อีกหลาย ๆ ประการ ราชสำนักทั้งสองจึงมีความใกล้ชิดกันมาตลอดหลายปี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” แก่ Ahmad Tajuddin Mukarram Shah สุลต่านผู้ปกครองรัฐเกอะดะห์ในสมัยนั้น ครั้นรัชกาลที่ 5 ก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีแก่ สุลต่านอับดุลฮามิดเช่นกัน อีกทั้งสุลต่านอับดุลฮามิดยังได้อภิเษกสมรสกับหญิงชนชั้นสูงชาวสยาม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น

ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย (ภาพจาก wikipedia)

หญิงผู้นั้นคือหม่อมเนื่อง บุตรสาวของหลวงนราบริรักษ์ เป็นพระภรรยาคนที่ 8 ของสุลต่าน โดยได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ “ตนกู อับดุล ระห์มัน” (Tunku Abdul Rahman ) ซึ่งภายหลังได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย   

ตนกู อับดุล ระห์มัน ได้เข้ามาศึกษาที่กรุงเทพมหานครฯ ในโรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยได้รับพระบรมราชานุเคราะห์จากรัชกาลที่ 5 รวมถึงพระโอรสองค์อื่น ๆ ของสุลต่านเกอดะห์ เช่น Tunku Yusuf และ Tunku Mohammad Jewa ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ศึกษาในโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือ King’s College ตรงกับช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เรียนอยู่ที่นี่เช่นเดียวกัน

แม้ภายหลังรัฐเกอดะห์ รัฐตรังกานู รัฐปะลิส และรัฐกลันตัน จะตกเป็นของอังกฤษไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชสำนักยังคงแนบแน่นเสมอมา ครั้นเมื่อตนกู อับดุล ระห์มัน พยายามเจรจาต่อรองกับอังกฤษในการแยกประเทศมาเลเซียให้เป็นเอกราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสนอความช่วยเหลือทางการเงินและทรงให้กำลังใจตนกู อับดุล ระห์มัน เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าราชสำนักสยามกับเกอดะห์ได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันมาตลอดหลายยุคหลายสมัย สยามได้ให้เกียรติเกอดะห์ฉันมิตร โดยมิได้ถือตัวว่าตนเป็นเจ้าผู้ปกครองที่จะกระทำตัวให้อยู่เหนือกว่าแต่อย่างใด นั่นจึงทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ยังคงแนบแน่นมาจนถึงปัจจุบัน


อ้างอิง: หนังสือ Siamese in Malaysia: Beyond Sixty Years of Heritage โดย Mala Rajo Sathian และ Rosenun Chesof

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2562