นักรบ “300” ฉบับอยุธยา สำรวจกลุ่มทหารจากปัตตานี ผู้พยายามยึดอำนาจในเมืองหลวง

ชาวเปอร์เซีย จิตรกรรมฝาผนัง มโหสถ วัดสุวรรณาราม
(ซ้าย) เหล่าบริวารแต่งกายอย่างมุสลิมที่ตามมโหสถบัณฑิตออกมาป้องกันเมืองมโหสถ (ขวา) แม่ทัพชาวเปอร์เซีย จิตรกรรมฝาผนังเรื่องมโหสถ พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม กรุงเทพฯ

สำรวจบันทึกเรื่องนักรบ “300” ฉบับอยุธยา เมื่อกลุ่มทหารจาก “ปัตตานี” พยายามยึดอำนาจในเมืองหลวง ช่วงบ้านเมืองกำลังวุ่นวาย

ในแผ่นดินของพระเทียรราชา พระองค์ต้องทำศึกกับทางหงสาวดีอยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือ สงครามช้างเผือก เมื่อพระองค์ได้ครอบครองช้างเผือกถึง 7 เชือก ซึ่งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต ได้เล่าเอาไว้ว่า ออกญาพิษณุโลก หรือพระมหาธรรมราชาเป็นคนนำความนี้ไปบอกกับพระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคหรือหงสาวดี โดยอ้างว่า ช้างบางเชือกจับได้ที่ชายแดนเมืองพะโค พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคจึงทรงสิทธิ์ที่จะเรียกช้างเผือกคืน หากพระเทียรราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาปฏิเสธ ก็ย่อมเป็นเหตุในการประกาศสงคราม

พระเทียรราชาทรงปฏิเสธที่จะทำตามคำเรียกร้องของพระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคตามคาด พระเจ้าแผ่นดินแห่งพะโคจึงตัดสินใจทำสงครามกับอยุธยา ตามความปรารถนาของพระมหาธรรมราชา (พงศาวดารฉบับนี้อ้างว่า พระองค์มีความขัดแย้งกับพระเทียรราชา เมื่อพระองค์ทำร้ายพระมเหสีของพระองค์เอง ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเทียรราชาด้วย)

ฝ่ายพระเทียรราชาเมื่อทรงทราบข่าวก็ทรงตกพระทัยถึงขั้นจะสละราชสมบัติเพื่อออกบวช แต่ถูกฝ่ายขุนนางทัดทานเอาไว้ ด้วยเกรงว่าพระราชโอรสที่จะสืบทอดอำนาจต่อจากพระองค์จะไม่เข้มแข็งพอรับมือกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของบ้านเมือง และแนะนำให้รวบรวมกำลังจากหัวเมืองต่างๆ เข้ามาป้องกันการรุกรานของหงสาวดี

โดยหนึ่งในกองกำลังที่เข้าช่วยสนับสนุนกรุงศรีอยุธยาในคราวนี้ก็คือกองทัพจาก “ปัตตานี” ซึ่ง วัน วลิต ได้เล่าเหตุการณ์ในช่วงนี้เอาไว้ว่า

“เมื่อทรงตระหนักว่าจะต้องทำสงครามแน่แล้ว พระองค์ทรงคร่ำครวญด้วยความขมขื่นถึงโชคร้ายของพระองค์ โดยเฉพาะในเมื่อพระองค์ทรงพระประสงค์จะสละราชสมบัติออกผนวชและปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนามาหลายปีแล้ว และเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าไม่สามารถจะออกผนวชได้ก็ทรงเตรียมการรบ ทรงมีกระแสรับสั่งให้ปัตตานีส่งกองทัพใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเกณฑ์ได้มาช่วย ชั่วเวลาไม่นานนักพระเจ้าแผ่นดินแห่งปัตตานีก็ปรากฏพระองค์ในกรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งกองทัพที่มีทหารอยู่ในวัยหนุ่มแน่น”

แต่การณ์กลับไม่เป็นไปดังหวัง เมื่อกลุ่มทหารจากปัตตานีเห็นโอกาสที่บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย จึงหวังใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ

“ในเวลานั้นเองพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ประชวรกระเสาะกระแสะ และไม่มีความหวังเลยว่าพระองค์จะทรงหายเป็นปกติ ข่าวลือก็ระบาดไปทั่วว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสิ้นพระชนม์ลง พระราชโอรสที่ไม่สามารถก็จะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน เมื่อเห็นสถานการณ์เหมาะเช่นนี้ทหารปัตตานี 300 คนจึงฉวยโอกาส (มีพระเจ้าแผ่นดินรวมอยู่ด้วย) เข้าไปที่พระราชวัง ตั้งใจจะบุกเข้าไปและฆ่าพระเจ้าแผ่นดินและพระราชโอรสเสีย เพื่อจะช่วยให้ชาวปัตตานีได้ครองตำแหน่งสูงสุดในแผ่นดินสยาม”

อย่างไรก็ดี ความพยายามของกลุ่มอำนาจจากปัตตานีต้องประสบความล้มเหลว และถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด ทั้งนี้จากการกล่าวอ้างของวัน วลิต ความว่า

คณะขุนนางเห็นพวกปัตตานีที่โหดร้ายใกล้เข้ามาจึงปิดประตูวัง และยืนหยัดสู้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งส่งพวกแขนลาย (braspintados ทาสของพระเจ้าแผ่นดิน) ออกไปทางหลังวังและฆ่าพวกปัตตานีในกรุงศรีอยุธยาไม่เหลือแม้แต่คนเดียว”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2561