เผยแพร่ |
---|
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยหรือค้าขายเป็นจำนวนมาก หลายคนได้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ในอยุธยาทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม วิถีชีวิต ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremais van Vliet) จนนำมาสู่การแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต
แม้จะเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่มีความน่าเชื่อถือสูงระดับหนึ่ง แต่ก็ใช่ว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะต้องปักใจเชื่อโดยไม่ค้นคว้า วิเคราะห์ หรือหาหลักฐานอื่นมาประกอบ และในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต ก็มีข้อมูลบางประการที่ “น่าสงสัย” อยู่ตอนหนึ่ง เกี่ยวกับพระวิสุทธิกษัตรีย์กับพระมหาธรรมราชา ที่ทะเลาะวิวาทกันจนเลือดตกยางออก ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต พิมพ์ที่โรงพิมพ์แสงรุ้งการพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2523 จัดพิมพ์โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุความว่า
“พระเทียนราชาได้พระราชทานพระธิดาให้อภิเษกกับออกญาพิษณุโลก (Oya Poucelouck) แต่เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกัน ในการทะเลาะครั้งหนึ่งออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระธิดาแตก พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็ดพระโลหิตใส่ถ้วยทอง ส่งไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้ทหารยกกำลังไปฆ่าออกญาพิษณุโลก…”
อย่างไรก็ตาม เรื่องเช่นนี้เคยมีปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์พม่าเช่นเดียวกัน โดยหม่อมหลวง มานิจ ชุมสาย ให้ข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ แปลความได้ว่า เจ้าหญิงจากอังวะ (Ava) พระนามว่า Minkyi-Zwa ได้สมรสกับพระเจ้าหลานเธอแห่งกรุงหงสาวดี ภายหลังเมื่อผลัดแผ่นดินแล้ว พระเจ้าหลานเธอพระองค์นั้นได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช และได้เสกสมรสกับพระภรรยาพระองค์ใหม่ ทำให้เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับพระนาง Minkyi-Zwa จนถือขั้นต่อสู้ (Fight) จนพระโลหิตไหล
พระนางจึงนำผ้าเช็ดหน้า (Handkerchief) ซับพระโลหิตแล้วนำถวายพระราชบิดา กษัตริย์แห่งกรุงอังวะ เมื่อความทราบถึงกษัตริย์กรุงอังวะ พระองค์ก็ทรงพิโรธ (Angry) และคิดก่อกบฏ (Revolted) โดยส่งพระราชสาสน์ถึงเจ้าแห่ง Shan State, Toungoo, Prome และ Cheingmai แต่เจ้าเมืองเหล่านี้ส่งจดหมายไปให้กษัตริย์แห่งหงสาวดีคือ Nandabayin
ทั้งนี้ ยังปรากฏหลักฐานอีกแหล่งหนึ่ง คือหนังสือ Popular History of Thailand By M.L. Manich Jumsai ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ครั้น พ.ศ. 2126 ภาวการณ์ที่กำลังรออยู่ได้เกิดขึ้น เรื่องมีว่า ก่อนที่มังกยอชวา (พระโอรสของพระเจ้านันทบุเรง) จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชนั้น ได้สมรสกับเจ้าหญิงของพระเจ้าอังวะ (ผู้เป็นน้องเขยของพระเจ้าบุเรงนอง) ซึ่งถ้าจะนับไปก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน
ตอนแรกก็อยู่ด้วยกันด้วยปกติสุข แต่พอมังกยอชวาได้รับตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชแล้ว ไปได้พระชายาใหม่อีกองค์หนึ่ง จึงเกิดหึงหวงถึงทะเลาะวิวาทกันขึ้นเนือง ๆ ระหว่างพระมหาอุปราชกับพระชายาองค์แรก ครั้งหนึ่งถึบกับทุบตีกัน นลาฏของพระชายาไปกระทบมุมพระเท่นเข้าถึงกับโลหิตไหล นางถือเป็นเรื่องใหญ่ เอาผ้าชุบโลหิตส่งไปทูลพระบิดาว่า ถูกพระสวามีกดขี่ข่มเหงอย่างแสนสาหัสถึงกับเลือดตกยางออก ทั้งพระเจ้านันทบุเรงก็ทรงเข้าด้วยกับพระมหาอุปราช ทำให้นางได้รับความอัปยศอดสูยิ่งนัก
เมื่อรูปการณ์เป็นเช่นนี้ พระเจ้าอังวะที่เคยเป็นอริกับพระเจ้านันทบุเรงอยู่แล้ว จึงคิดเอาใจออกห่างทันที เมื่อเกลี้ยกล่อมพวกข้าราชการเก่าแก่ในกรุงหงสาวดีและพวกไทยใหญ่เข้าเป็นพรรคพวกได้แล้วก็แข็งเมือง ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ทั้งยังได้แต่งทูตไปชักชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู และพระเจ้าเชียงใหม่ให้ร่วมด้วย แต่ผู้ครองแคว้นทั้งสามนี้ไม่ยอมทำตาม กลับจับทูตส่งไปถวายพระเจ้าหงสาวดี
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบว่ามีข้าราชการเก่าแก่ในกรุงหงสาวดีเข้ากับพระเจ้าอังวะ ก็ตรัสสั่งให้จับข้าราชการที่สงสัยพร้อมด้วยบุตรภรรยาไปเผาทั้งเป็นเสียอันมาก และให้เตรียมกองทัพเพื่อจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ พร้อมกันนั้นได้ให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าล้านช้าง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จัดกองทัพไปสมทบทัพหลวงที่กรุงหงสาวดีด้วย ทั้งนี้เพราะประสงค์จะพิสูจน์ว่า เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว จะยังสวามิภักดิ์อยู่อย่างแต่ก่อนหรือไม่ไปด้วยในตัว
ชลอ ช่วยบำรุง ผู้เขียนบทความเรื่อง “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต ตอนนุ่งโสร่ง” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2542 แสดงความเห็นว่า ตามที่ วัน วลิต ได้บันทึกนั้นน่าจะเป็นความคาดเคลื่อนจากการรับฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่นมาโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลหรือหาหลักฐานประกอบอย่างที่นักประวัติศาสตร์ทำกันในปัจจุบัน และหากพิจารณาจากมารยาทของสตรีไทยในสมัยก่อน ๆ จะเห็นว่าไม่ใคร่มีนิสัยทะเลาะกับสามี และเป็นไปไม่ได้ที่พระมหาจักรพรรดิจะยกเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ เป็นเหตุยกทัพไปรบราฆ่าฟันลูกเขยของพระองค์ได้ ชลอระบุว่า “…จะขัดกับธรรมเนียมไทย ๆ เรา หรือวัฒนธรรมไทยอย่างไรชอบกลอยู่”
ดังนั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ใด ๆ จำต้องพิเคราะห์อย่างรอบคอบ และหาหลักฐานอื่นมาประกอบ เรื่องพระมหาธรรมราชาทะเลาะวิวาทพระวิสุทธิกษัตรีย์ถึงขั้นพระโลหิตไหลนี้ จึงเป็นข้อสังเกตว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
อ้างอิง :
ชลอ ช่วยบำรุง. (2542, กันยายน). พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต ตอนนุ่งโสร่ง. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 20 (ฉบับที่ 11) : หน้า 152-153.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 17 กรกฎาคม 2562