สุราษฎร์ธานี มาจากไหน?

พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี

สุราษฎร์ธานีเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของภาคใต้ตอนบน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองไชยา ซึ่งตั้งตัวเมืองที่ตําบลบ้านดอน (เมืองไชยาเก่าคืออำเภอไชยาปัจจุบัน) และพระราชทานนามเมืองว่า “สุราษฎร์ธานี” แปลว่าเมืองคนดี และทรงเปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวงที่เกิดจากภูเขาหลวง เทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นแม่น้ำตาปี ชื่อเมืองและแม่น้ำดังกล่าวนี้สอดคล้องกับเมืองสุรัฏฐ์ หรือเมืองสุหรัด ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำตาปีหรือตาปติ ประเทศอินเดีย แม่น้ำตาปติตั้งต้นจากภูเขาสัตตปุระ ไหลสู่มหาสมุทรอินเดียทางอ่าวแคมเบย์ ฝังซ้ายของปากแม่น้ำนี้คือเมืองสุรัฏฐ์ดังกล่าว

เมื่อครั้งมีการปกครองแบบเทศาภิบาล เมืองไชยาหรือสุราษฎร์ธานียุคนั้นขึ้นกับมณฑลชุมพร โดยรวมเมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองหลังสวนเป็นเขตเดียวกัน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการมณฑลไปตั้งที่ตำบลบ้านดอน บริเวณเดียวกับศาลากลางเมืองไชยา และเปลี่ยนชื่อมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎร์ธานี พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองไชยาที่บ้านดอน เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี

ตำบลที่ตั้งตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านมักเรียกบ้านดอนแทนสุราษฎร์ธานี เช่นเดียวกับชาวตรังเรียกทับเที่ยงแทนเมืองตรัง ชาวสงขลาเรียกบ่อยางแทนเมืองสงขลา บ้านดอนมีพื้นที่เป็นดินดอน น้ำไม่ท่วม เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน เล่ากันว่ามีชาวประมง ชาวนา และชาวสวนตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์…

ไชยา เป็นเมืองโบราณตั้งแต่ยุคศรีวิชัยเรืองอำนาจ ช่วงนั้นพุทธศาสนาลัทธิมหายานเผยแผ่มาจากอินเดีย หลักฐานสำคัญคือพระบรมธาตุเจดีย์ทรงศรีวิชัย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด และจารึกวัดเวียงไชยา เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระเจ้ากรุงศรีวิชัย หรือศรีวิชเยนทรราชา

ตราประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำพระเจดีย์ศรีวิชัยที่วัดพระบรมธาตุไชยาเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย พ.ศ. 1300-1500

คําว่าไชยามาจาก 2 พยางค์สุดท้ายของคำว่า “ศรีวิชยะ” ซึ่งชาวใต้มักตัดคำให้สั้นลง คำว่าศรีวิชัยปรากฏเป็นนามกษัตริย์และนามเมือง รวมทั้งยังปรากฏเป็นนามภูเขาศรีวิชัย เขตอำเภอพุนพิน เคยอยู่ในเขตเมืองไชยา รวมทั้งศรีวิชัยยังปรากฏในบันทึกของพระภิกษุจีนชื่ออี้จิง ซึ่งเดินทางผ่านไชยาไปอินเดียเมื่อ พ.ศ. 1214 โดยเรียกเมืองนี้ว่า ชิ-ลิ-โฟ-ชิ ซึ่ง เสียงใกล้เคียงกับ ศิ-ริ-วิ-ชยะ

(ซ้าย) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณี พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี, (ขวา) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร พบที่ Kurkihor ทางตะวันออกของอินเดีย ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัทมปาณีที่พบที่ไชยา หากอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ก็น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน (ภาพจากหนังสือ Khandalavala, Karl and Sadashiv Gorakshkav. Eastern Indian Bronzes. Bombay : Lalit Kalā Akademi, 1986)

ช่วงรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองภาคใต้ ไชยาถูกพม่าทำลายเสียหาย จึงย้ายตัวเมืองไปตั้งใหม่ที่ตำบลพุมเรียง (ชื่อต้นไม้ ชำมะเลี้ยง ก็เรียก) เมื่อมีการปกครองแบบเทศาภิบาล ไชยาขึ้นกับมณฑลชุมพร และยกตำบลพุมเรียงขึ้นเป็นอำเภอ โดยไชยาให้คงชื่อเมืองไว้เพราะเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ส่วนเมืองไชยาใหม่ที่บ้านดอนได้รับพระราชทานนามว่า “สุราษฎร์ธานี” เมืองไชยาเก่าที่พุมเรียงภายหลังย้ายกลับไปตั้งที่ตำบลทุ่ง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอําเภอไชยาจนทุกวัน

อําเภอไชยามีชื่อเสียงหลายด้าน เช่น มีท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) สวนโมกขพลาราม ผ้าทอพุมเรียง ไข่เค็มไชยา และมวยไชยา สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏนักมวยไชยาชื่อ ปลอง จำนงทอง ลูกศิษย์พระยาไชยา (ขำ ศรียาภัย) ได้รับการโปรดเกล้าฯ ยกย่องเป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อม ๆ กับนักมวยลพบุรีผู้หนึ่งเป็น “หมื่นมือแม่นหมัด” และ แดง ไทยประเสริฐ ชาวนครราชสีมา เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก” นักมวยทั้งสามนี้ไม่ต้องเสียส่วยสาอากร และเมื่อมีโทษผิดจะให้กรมการเมืองลดหย่อนผ่อนโทษตามสมควร ด้วยความมีชื่อเสียงของมวยไชยา จึงมีผู้กล่าวเป็นสำนวนว่า “มวยไชยา เพลงนาชุมพร” เพลงนาเป็นการร้องรำประจำถิ่นชาวชุมพร

เจดีย์วัดแก้ว โบราณสถานสำคัญของเมืองไชยา

กาญจนดิษฐ์ เดิมเรียกเมืองท่าทอง เมืองท่าทองเก่าตั้งอยู่ตอนบนของแม่น้ำท่าทอง เมืองกาญจนดิษฐ์เดิมเรียกว่าท่าทองอุเท หรืออุแท ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่าอุทัย หมายถึงการขึ้นหรือความเจริญบริเวณ คลองกระแดะ (กระแดะเป็นชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง) เมืองท่าทองเก่าอยู่ไม่ไกลจากนครศรีธรรมราช บางท่านว่าเมืองท่าทอง คือเมืองสะอุเลา เป็นเมืองหนึ่งของเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราไก่ ขึ้นกับนครศรีธรรมราช

เมืองท่าทองใหม่อยู่ริมฝั่งขวา ปากแม่น้ำท่าทอง บริเวณนั้นมีต้นสะท้อนมาก จึงมีชื่อว่าบ้านสะท้อน ต่อมามีครอบครัวนายมากและครอบครัวชาวนครศรีธรรมราชอพยพมาตั้งหลักปักฐานจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และมีความมั่งคั่งฐานะดี เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจึงยกฐานะบ้านสะท้อนเป็นเมืองจัตวาเรียกว่าเมืองท่าทอง

สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ย้ายเมืองท่าทองไปตั้งที่บ้านดอน เพราะเห็นเป็นทำเลเหมาะสม ตั้งชุมชนใหญ่ และพระราชทานนามว่า “กาญจนดิษฐ์” เมื่อมีการปกครองแบบเทศาภิบาล กาญจนดิษฐ์เป็นเมืองหนึ่งของมณฑลชุมพร ต่อมาเมืองกาญจนดิษฐ์และเมืองไชยารวมเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า เมืองไชยา ชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์จึงหายไปโดยปริยาย สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏว่าเมืองกาญจนดิษฐ์ย้ายกลับไปตั้งที่ตัวเมืองเดิม มีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาจนทุกวันนี้

ท่าฉาง เดิมเป็นเพียงตำบลขึ้นกับเมืองไชยา ก่อนนี้เรียกว่าบ้านโหละหรือบ้านโละ สมัยนั้นชาวบ้านถ้ามาหรือไปท่าฉาง มักบอกว่ามาจากโหละหรือไปบ้านโหละ คำว่าโหละหรือโละน่าจะมาจากภาษามลายูว่า ตาโละ (telok) หมายถึงปากอ่าว และโหละอาจมาจากภาษาถิ่นใต้หมายถึง การจับปลาวิธีหนึ่งโดยวิธีส่องไฟ แล้วใช้สุ่มจับเรียกว่า โหละปลา หรือโละปลา

ทำไมจึงเรียกว่าท่าฉาง เพราะชาวบ้านส่วนมากทำนาต้องเสียค่าส่วยหรือค่าอากรเป็นข้าวเปลือกจำนวนมาก ดังนั้น ตามริมคลองหรือท่าเทียบเรือจึงมีการสร้างฉางข้าวเพื่อสะดวกต่อการลำเลียงข้าวเปลือกบรรทุกเรือล่องไปตามลำน้ำ เลยเรียกท่าฉางมาตั้งแต่บัดนั้น พ.ศ. 2481 กระทรวงมหาดไทยยกท่าฉางขึ้น เป็นอำเภอหนึ่งของสุราษฎร์ธานี

เกาะสมุย ชื่ออำเภอนี้ชาวบ้านเรียกว่า “เกาะหมุย” ออกเสียงเป็น หฺมฺรุย คือ หฺมฺรฺ ควบกัน หมายถึง ต้นหมุย เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่ขึ้นอยู่บริเวณนั้น หมุยมี 2 ชนิด คือ ชนิดมียอดขมเจือหอมใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกได้ เรียกหมุยหอม อีกชนิดหนึ่งรสขม เรียกหมุยขม

คำมลายูมีคำออกเสียงใกล้เคียงกับสมุยคือ เซมักซามุน (semak samun) หมายถึง ป่าละเมาะ พวกมลายูแล่นเรือมาถึงเกาะนี้คงเห็นป่าละเมาะไรๆ และอีกคำหนึ่งคือซามู (Samu) หมายถึงพืชชนิดหนึ่ง

บ้างว่าชาวจีนไหหลำแล่นเรือมาถึงเกาะสมุยและแวะพักเป็นแห่งแรก ที่แห่งแรกหรือด่านแรกชาวจีนไหหลำออกเสียงว่า “เซ่าบ่วย” ซึ่งต่อมากลายเสียงเป็นสมุย ภาษาจีนเช่นเดียวกันนี้ยังบอกที่มาต่างกัน อีก คือมาจากคำว่า “ซามุย” นั่นคือซาแปลว่า สาม มุยแปลว่า ประตู รวมความแล้วหมายถึงประตูที่สาม คือประตูสวรรค์ เกาะสมุยคือสวรรค์นั่นเอง

บ้างว่าสมุยเป็นภาษาของชาวโจฬะ หรือทมิฬจากถิ่นอินเดียใต้ ซึ่งหมายถึง คลื่นลม

อำเภอเกาะสมุยเดิมขึ้นกับนครศรีธรรมราช ต่อมารวมเขตการปกครองเกาะสมุยและเกาะพะงันเข้าด้วยกัน เป็นอำเภอเกาะสมุยขึ้นกับเมืองไชยา ภายหลังเกาะสมุยและเกาะพะงันต่างแยกกันเป็นอำเภอ ขึ้นกับสุราษฎร์ธานี

ชื่อหมู่บ้านบนเกาะสมุยมักเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องพญาครุฑไล่จับพญานาค โดยต่างต่อสู้กันถึง 7 วัน 7 คืน ปรากฏว่า พญานาคโดนเขี้ยวเล็บพญาครุฑจนมีบาดแผลฉกรรจ์ พญานาคจึงดำดินหนี พญาครุฑพยายามบินร่อนหาคู่ต่อสู้ ชื่อภูเขาแห่งนั้นจึงเรียกว่า “เขาร่อน” พญานาคไปโผล่ที่บริเวณ “ภูเขาสามรูป” ซึ่งเป็นภูเขาเล็ก ๆ ริมทะเล ตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม ลึก พญานาคจึงอาศัยแอบซ่อนตนและต้มยารักษาบาดแผล ที่วางหม้อยาบนก้อนเส้า เป็นชื่อ “ภูเขาสามเส้า” ต่อมาพญาครุฑบินมาพบพญานาคกำลังต้มยา แต่พญานาคหลบฉากทันที มันรีบเก็บหม้อยาและดำดินหนีไปซ่อนกายที่บ้าน “เกาะรา” หมาย ถึงพญานาคคิดเลิกราไม่ต่อสู้กับศัตรูอีกแล้ว

แต่พญาครุฑยังคงติดตามและไป พบพญานาคที่บ้านเกาะรา มันตรงเข้าจิกตีคู่ต่อสู้ พญานาคดำดินหนีไปโผล่อีกทีที่บ้าน “บ่อผุด” และมันพยายามใช้ยาทาบาดแผล จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “บ้านทุ่งทา” พญาครุฑคงติดตามพญานาคตลอดคืน จนฟ้าสว่างมองเห็นหมู่บ้านแห่งนั้นจึงเรียก “บ้านเหวง” ซึ่งมาจากแจ้งเหวง ภาษาถิ่นเกาะสมุยหมายถึง สว่างชัดเจน (เฉวง ภาษาเขมรว่า เฌฺวง อ่านว่าชะเวง หมายถึง ใสสะอาด) พญาครุฑมองเห็นพญานาคโผล่หัวออกมา หัวนาคมีหงอนสีแดงเป็นหัวจุก ชาวบ้านเรียกภูเขานั้นว่า “เขาหัวจุก” จากนั้นพญานาคดำดินไปไกลมากจนพ้นศัตรูตามล่า

ชื่อบ้านนามเมืองบนเกาะสมุยมีหลายชื่อที่น่าสนใจ เช่น “หน้าทอน” ซึ่งอยู่ด้านหน้าเกาะหรือด้านทิศตะวันตกของเกาะ คำว่า ทอน หมายถึง บริเวณลุ่มลึกต่อกับทางน้ำไหล ตรงหน้าทอนมักเป็นแอ่งน้ำลึก เหมาะสำหรับจอดเรือ และชื่อน่าจะมาจากภาษามลายู เช่น อ่าวละมัย อาจมาจาก ลัมบัย (lambai) หมายถึง โบกมือไปมาเหมือนกระแสคลื่นพลิกพลิ้วดังมือแกว่งไกว หรือมาจากชื่อปลาและพืชชนิดหนึ่ง ตำบลมะเร็ตน่ามาจากมะริด หรือเมอริจา หมายถึง พริกไทยขาว ตำบลลิปะน้อย ลิปะห มายถึง มุมหนึ่งมุมใด (ริมทะเลซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน) บ้างว่าลิปะน้อยมาจากคำไทย หมายถึง ป่าน้อย แล้วเพิ่มคำหน้าเป็นลิปะน้อย

วัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาพเก่าจากชิน อยู่ดี เรียบเรียง. โบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากรม ๒๕๐๐)

เกาะพะงัน ชาวบ้านเรียก “เกาะงัน” ทางการเขียนเป็น พงัน มาก่อน ต่อมา เขียนเป็น พะงัน ดูแล้วชวนงงงัน คำว่า “งัน” นั้นหมายถึงเนินทรายเตี้ย ๆ หรือเนินหินโสโครกที่ทอดยาวเลยฝั่งน้ำออกไปทางทะเล ก่อนน้ำจะลดมองเห็นทางยาวเหนือน้ำ ชาวบ้านเรียก “หลังงัน” ระดับน้ำใกล้ ๆ หลังงันลึกมาก เรียกบริเวณนั้นว่า “ปีก” และมักมีคำเตือนว่าระวังจะตกลงไปในปีก ดังกลอนชาวบ้านวรรคหนึ่งว่า “หลวงตาตกปีกเทียมกลางขา” (เทียม = สูงเท่ากัน)

คำมลายูมีคำออกเสียงใกล้เคียงกับพะงัน คือคําว่า ปังฆัล (panggal) หมายถึง ลานตากปลา ทางทิศเหนือเกาะพะงันมีอ่าวและหมู่บ้านโฉลกหลำ ซึ่งน่าจะมาจากคำมลายูว่า ตาโละดาลัม แปลว่า อ่าวลึก (ตาโละ = อ่าว, ดาลัม = ลึก)

สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตน โกสินทร์ เกาะพะงันรวมกับเกาะสมุยเรียกว่า อำเภอเกาะสมุย เกาะพะงันเป็นเพียงตำบลหนึ่ง ต่อมาเมื่อการปกครองแบ่งเป็นจังหวัด-อำเภอ ทางการยกฐานะเกาะพะงันขึ้นเป็นอำเภอ

พุนพิน มีการสันนิษฐานชื่อนี้ตรงกับเมืองพาน-พาน หรือพัน-พัน ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า เป็นเมืองท่าเรือ ค้าขายทางทะเลระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-16 ชาวบ้านเรียกพุนพินว่า “ท่าข้าม” เพราะเป็นท่าเรือข้ามแม่น้ำตาปีมาตั้งแต่อดีต และเป็นเส้นทางเดินทัพบกที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณเพื่อข้ามแม่น้ำดังกล่าว สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตั้งที่ว่าการอำเภอที่บ้านพุนพิน เมื่อเริ่มรถไฟสายใต้จึงมีการสร้าง “สะพานจุลจอมเกล้าฯ” เพื่อข้ามแม่น้ำตาปี และจัดตั้ง “สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี” ที่ตำบลท่าข้าม ต่อมาเปลี่ยนชื่ออำเภอพุนพินเป็นอำเภอท่าข้ามตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ ภายหลังเปลี่ยนกลับไปเรียก “อำเภอพุนพิน” ตามเดิม

คีรีรัฐนิคม เดิมขึ้นกับเวียงสระ เรียกเมืองธาราวดีบ้าง คงคาวดีบ้าง ชื่อคีรีรัฐนิคมตั้งขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศที่รายล้อมด้วยภูเขา เดิมตั้งอยู่ที่ “บ้านน้ำรอบ” ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า เมื่อมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล จึงโอนคีรีรัฐนิคมไปขึ้นกับเมืองไชยา ต่อมาเปลี่ยนชื่อคีรีรัฐนิคมเป็นอำเภอท่าขนอน (ขนอนภาษาเขมรแปลว่าภาษี) เพื่อให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ ซึ่งเป็นชื่อด่านเก็บภาษีสินค้า ภายหลังชื่ออำเภอนี้กลับมาเรียกว่าคีรีรัฐนิคมอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศดังกล่าว

คีรีรัฐนิคมมีลำน้ำสำคัญสองสายคือ คลองพุมดวง (พุมดวงเป็นภาษาเขมรหมายถึงมะพร้าว) และคลองยัน (ภาษาถิ่นใต้หมายถึงมึนเมา เนื่องจากกินหมากพลู) เล่ากันว่า คลองยันคือเมืองเศรษฐีโลกัน ในนิทานพื้นบ้านของสุราษฎร์ธานี ซึ่งเค้าโครงเรื่องมาจากวรวงศ์ชาดก ตัวเอกชื่อ พระวรวงศ์ และพระเชษฐาชื่อ สุริยามาศ ต่างถูกใส่ร้ายจาก นางกาไวย พระมารดาเลี้ยง และพระบิดาถูกเสน่ห์เวทมนตร์ของนางกาไวยถึงกับขับไล่พระโอรสทั้งสองออกจากเมือง จากนั้นเล่าถึงการผจญภัยของพระวรวงศ์และพระเชษฐาทำนองนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ ทั้งหลาย ชื่อบ้านนามเมืองในนิทานนอกจากเมืองเศรษฐีโลกันดังกล่าวแล้ว ยังมีเมืองผุสสาคือเมืองไชยาอีกด้วย

ชาวสุราษฎร์ธานีและชาวภาคใต้ในอดีตมักจดจำเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงช้าน้องซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระวรวงศ์หลายบท เช่น

“วรวงศ์เหอ พ่อหน่อวรวงศ์ ถอดแหวนออกทิ้งลง หน่อวรวงศ์องค์ราชา พ่อแม่ยอมยกลูก ให้ท่านท้าวผุสสา วรวงศ์องค์ราชา หน้าตาเหมือนวงเดือน”

เวียงสระ เป็นเมืองเก่ามีร่องรอยคูเมืองและสระน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ สันนิษฐานว่า เมืองนี้มีสระน้ำเป็นสัญลักษณ์ เล่ากันว่า เมืองเวียงสระเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) หรือไข้ยมบน (ต้องบนบานพระยมเพื่อขอชีวิตให้อยู่รอด) ปรากฏว่า ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก บ้างอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่หาดทรายแก้ว คือนครศรี ธรรมราช อีกสำนวนหนึ่งเล่าตรงกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองร้างเพราะเกิดโรคห่า หรือไข้ยมบน ผู้คนหนีจากเมืองเข้าป่า ปรากฏว่า เจ้าศรีราชาบุตรพระพนมวังและนางเสดียงทอง เดินทางจากเวียงสระเข้าไปตั้งอยู่ในนครศรีธรรมราช จัดการซ่อมแซมบ้านเมือง องค์เจดีย์พระบรมธาตุ และวัดวาอารามให้เป็นปกติดังเดิม

เวียงสระเดิมเป็นอำเภอขึ้นกับนครศรีธรรมราช ชาวบ้านเคยเรียกว่า อำเภอคลองตาล ต่อมารวมตำบลเวียงสระ พรุพรี ลำพูน ท่าชี บ้านนา เป็นอำเภอลำพูน (ตั้งชื่อตามตำบลลำพูน ซึ่งมีคลองพูนสาขาแม่น้ำตาปีไหลผ่าน) ขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราช ต่อมาโอนอำเภอลำพูนขึ้นกับสุราษฎร์ธานี และแยกตำบลเวียงสระ ตำบลทุ่งหลวง ตั้งเป็นอำเภอเวียงสระมาจนทุกวันนี้

พระแสง เป็นอำเภอเก่าแก่ เดิมขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียกว่า “พระแสง” เนื่องจากชาวบ้านขุดพบดาบ ขณะช่วยกันแผ้วถางโค่นป่าเพื่อตั้งที่ว่าการอำเภอ ดาบเล่มนี้คล้ายกับพระแสงของผู้ครองนคร อีกประการหนึ่ง อำเภอพระแสง ตั้งตามชื่อผู้ปกครองคนแรกคือพระแสงภิรมย์

พ.ศ. 2439 ทางการยุบอำเภอพระแสงกับอำเภออิปัน เป็นตำบลขึ้นกับอำเภอลำพูน (อำเภอบ้านนาสารปัจจุบัน) ต่อมาแยกตำบลพระแสงกับตำบลอิปันออกจากอำเภอลำพูน ตั้งเป็นอำเภอพระแสง

บ้านนาสาร หมายถึง พื้นที่มีทุ่งนามากมายดูประหนึ่งคันนาสอดสานกัน ภายหลังเขียนเป็นนาสาร เหมือนกับว่าเป็นที่นาเฉพาะข้าวสาร บ้านนาสารเคยรวมกับตำบลเวียงสระ ทุ่งหลวง พรุพรี ท่าชี เป็นอำเภอลำพูนขึ้นต่อนครศรีธรรมราช ต่อมาโอนขึ้นต่อสุราษฎร์ธานี และเปลี่ยนชื่ออำเภอลำพูนเป็นอำเภอบ้านนา ให้ตรงกับชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ ภายหลังย้ายที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปตั้งที่ตำบลนาสาร และ เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็นอำเภอบ้านนาสารมาจนทุกวันนี้

บ้านนาสารมีเงาะพันธุ์ “โรงเรียน” มีชื่อเสียง เงาะพันธุ์นี้นำมาจากมาเลเซีย และมาปลูกครั้งแรกที่หน้าโรงเรียนบ้านนาสาร

บ้านนาเดิม เดิมเรียกว่า “อำเภอลำพูน” ตามชื่อลำน้ำที่ไหลผ่านท้องถิ่นนี้ เดิมเขตการปกครองขึ้นกับนครศรีธรรมราช ต่อมาโอนลำพูน พระแสง และพนม ขึ้นกับเมืองไชยา และภายหลังเปลี่ยนชื่ออำเภอลำพูนเป็นอำเภอบ้านนา ตามชื่อตำบลที่ตั้งอำเภอ ต่อมาย้ายที่ว่าการอำเภอบ้านนาไปตั้งที่ตำบลนาสาร และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านนาสาร หลังจากนั้นแยกตำบลบ้านนาและตำบลท่าเรือออกจากอำเภอบ้านนาสาร ตั้งเป็นอำเภอบ้านนาเดิม

ท่าชนะ เป็นชุมชนโบราณเคยเรียกว่า อำเภอประสงค์ และหนองหวาย เล่ากันว่า เหตุที่เรียกท่าชนะ เนื่องจากกองทัพไทย ซึ่งนำโดยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 มีชัยชนะกองทัพพม่าที่ยกทัพมารุกรานหัวเมืองปักษ์ใต้ ทรงสร้างสัญลักษณ์แห่งชัยชนะคือ เสาหลักไม้เหลี่ยมสลักอักษรว่า “ชิตํเม” แปลว่า ข้าพเจ้าชนะแล้ว ปักไว้เป็นอนุสรณ์ที่คลองวังเก่าและคลองท่าชนะ

ดอนสัก หมายถึง บริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงและมองเห็นต้นสักเด่นแต่ไกล เดิมเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอกาญจนดิษฐ์ ต่อมามีการรวมตำบลดอนสักและตำบลชลคราม ตั้งเป็นกิ่งอำเภอดอนสัก ภายหลังรวม ตำบลอื่น ๆ อีกและจัดตั้งเป็นอำเภอจนทุกวันนี้

พนม ชื่ออำเภอนี้หมายถึง ภูเขาที่สำคัญคือเขาสก (สกเป็นภาษาเขมร หมายถึงเผ้าผม ในที่นี้หมายถึงศีรษะและเผ้าผมตามลักษณะภูเขาที่แลเห็น) เขาสกกั้นพรมแดนอำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เส้นทางนี้เป็นเส้นทางโบราณข้ามคาบสมุทร จากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกโดยไม่ต้องอ้อมแหลมมลายู อำเภอพนมเคยขึ้นกับนครศรีธรรมราช เมืองไชยา และสุราษฎร์ ธานี ตามลำดับ

เคียนซา เล่ากันว่ามาจากชื่อ “บ้านเคียนคา” กล่าวถึงทางการมีคำสั่งให้ชาวบ้านสร้างเรือด้วยไม้ตะเคียนเนื้อดี 2 ต้น ทำเป็นเรือโกลน หมายถึง นำท่อนซุงมาจัดแต่งหัวท้ายพอให้มีลักษณะคล้ายเรือ แต่ยังไม่ได้ขุด แต่ภายหลังเกิดอาเพศ ช่างทำเรือเจ็บป่วยล้มตาย ตะเคียน 2 ต้นเลย ค้างคาอยู่ที่เดิม เลยเรียกสถานที่นั้นว่า บ้านเคียนคา

บ้างเล่าว่า เคียนคามาจากคำว่า เกวียนซา หมายถึง ขบวนเรือเล็กติดตาม เรือใหญ่ชาวบ้านเรียกเรือเกวียน เมื่อขบวนเรือแล่นไปถึงบริเวณนั้นก็ค่อยซาความเร็วลง จึงเรียกบริเวณนั้นว่าบ้าน เกวียนซา ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็นเคียนซา

เคียนซาเดิมขึ้นกับแขวงลำพูน เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาขึ้นกับเมืองไชยาและอำเภอบ้านนา ตามลำดับ จนกระทั่งยกฐานะเคียนซาขึ้นเป็นกิ่งอําเภอ และอำเภอมาจนทุกวันนี้

คลองคะ อำเภอบ้านตาขุน สุราษฎร์ธานี

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งเมืองคีรีรัฐนิคมขึ้นกับนครศรีธรรมราช ทางการได้ตั้งขุนเมืองไปปกครองคีรีรัฐนิคม ชาวบ้านสร้างที่พักรับรองเรียกว่า “บ้านตาขุน” คงเป็นบ้านใหญ่โตติดริมน้ำ ต่อมาชุมชนดังกล่าวเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว บ้านตาขุนเคยขึ้นกับนครศรีธรรมราช ภายหลังโอนมาขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ไชยา และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

ชัยบุรี แยกจากอำเภอพระแสง เป็นอนุสรณ์แด่นายอำเภอคนแรกของอำเภอพระแสง คือขุนชัยบุรี ชื่อนี้มีความหมายดี เป็นมงคลนาม

อำเภอวิภาวดี แยกจากอำเภอคีรีรัฐนิคม ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเทิดพระเกียรติแด่ ม.จ.วิภาวดีรังสิต หรือ ว. ณ ประมวญมารค ซึ่งเคยเสด็จประทับที่ตำบลตะกุกเหนือ (บ้านท่านหญิง) และตำบลตะกุกใต้ (คลองพาย) ช่วง พ.ศ. 2515-2519 ม.จ.วิภาวดีรังสิตสิ้นชีพตักษัยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ขณะปฏิบัติราชการชายแดนเยี่ยมเยียนทหารตำรวจตระเวนชายแดน ที่ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ โดยถูกผู้ก่อการร้ายซุ่มยิงภาคพื้นดินและสิ้นชีพิตักษัยบนเฮลิคอปเตอร์ที่นำเสด็จกลับจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ก่อนจบขอเสนอคำขวัญของสุราษฎร์ธานีในอดีตที่พระเทพรัตนกวี (ก.ธรรมวร) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานีแต่งเป็นคำประพันธ์บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแต่ละท้องถิ่นใน สุราษฎร์ธานี คือ

“สะตอวัดประดู่ พลูคลองยัน ทุเรียนหวานมันคลองพระแสง ย่านดินแดงของป่า เคียนซาบ่อถ่านหิน พุนพินมีท่าข้ามแม่น้ำตาปี ไม้แก้วดีเขาประสงค์ กระแดะดงลางสาด สิ่งประหลาดอำเภอพนม เงาะอุดมบ้านส้อง จากและคลองในบาง ท่าฉางต้นตาล บ้านนาสารแร่ ท่าทองอุแทวัดเก่า อ่าวบ้านดอนปลา ไชยาข้าว มะพร้าวเกาะสมุย”

ปัจจุบันคำขวัญประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงถึงทรัพยากรท้องถิ่น ทำนองเดียวกันว่า “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ”

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สุราษฎร์ธานี” เขียนโดย ประพนธ์ เรืองณรงค์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2547

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2563