ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ชาญวิทย์ เกษตรศิริ |
เผยแพร่ |
นับตั้งแต่การปล้นอาวุธปืนจำนวนมากของราชการเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ที่ค่ายกองพันทหารพัฒนา อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ตามมาด้วยเหตุการณ์ “มัสยิดกรือเซะ” จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่มีผู้เสียชีวิต 108 ศพ และเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.อ. “ตากใบ” จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 84 ศพนั้น
นับได้ว่าปี พ.ศ. 2547 เป็นปีแห่งความรุนแรง “อย่างผิดสังเกต” สำหรับดินแดน “ชายขอบ” ในภาคใต้
แม้ในระดับนโยบายของรัฐจะพยายามหาทางออกของปัญหา ด้วยการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ผ่านการปรับคณะรัฐมนตรี รวมถึงการปรับกลยุทธ์ในการแก้ปัญหา มีการผนึกแนวร่วมจากทุกฝ่าย แต่จนถึงทุกวันนี้ปัญหากลับไม่คลี่คลายเท่าที่ควร มีการวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของไฟใต้ไปต่างๆ นานา
บ้างมองว่ามาจากการ “ลงขัน” ของกลุ่มนักการเมืองและธุรกิจผิดกฎหมาย (ยาเสพติด โจรกรรมรถยนต์ กิจการโสเภณี ฯลฯ) บ้างโยงไปยัง “การก่อการร้าย” ข้ามประเทศ และที่ได้ยินอยู่เนืองๆ คือ ข้อกล่าวหาคลาสสิคของ “การแบ่งแยกดินแดน”
ปัญหาของชายแดนภาคใต้ สามารถมีมุมมองได้หลายทาง แต่ด้านหนึ่งนั้น การวิเคราะห์ถึงปมทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับดินแดน “ชายขอบ” เหล่านี้ ก็น่าจะได้รับการพิจารณาไว้บ้าง ดังนี้
ในมุม (มืด) ทางประวัติศาสตร์ที่มักไม่มีใครเอ่ยถึง คือ “การปกครองของรัฐบาลกลางจากกรุงเทพฯ ที่ขาดความเข้าใจต่อประชาชน วัฒนธรรม ประเพณี ชนชาติ ภาษา และศาสนาของปัตตานีและจังหวัดชายแดนภาคใต้” ทั้งยังไม่ได้พิถีพิถันคัดสรรข้าราชการที่ดีพอ (ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน) ที่มีความรู้ความสามารถส่งไปประจำ ทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้ว กลับมีมากขึ้นๆ ทำให้ปัญหาเก่าที่เป็น “บาดแผลทางประวัติศาสตร์” ตกค้างอยู่ ถูกหยิบยกนำกลับมาเป็นปัญหาใหม่ มีทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่น ปัญหาการทอดทิ้งดินแดนเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ขาดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง กลายเป็นปัญหาหมักหมมมากมาย
ประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา
ในอดีตปัตตานีเคยเป็นอาณาจักรโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงตรงกับตอนต้นของสมัยอยุธยา ปัตตานีมีการปกครองตนเองแบบรัฐสุลต่าน และปัตตานีก็เป็นเมืองท่าและจุดยุทธศาสตร์สำคัญด้านชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมทองหรือแหลมมลายู เป็นคู่แข่งสำคัญของนครศรีธรรมราช (และหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก สำหรับนครศรีธรรมราชนั้นเป็นเมืองเอกของอยุธยาและรัตนโกสินทร์) ทำให้ทั้งอยุธยาและรัตนโกสินทร์ต่างพยายามแผ่อำนาจลงไปควบคุมปัตตานีเอาไว้ให้ได้
ในแง่ของชนชาติหรือกลุ่มเชื้อสายมลายู ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนับถือศาสนาอิสลามของแหลมทอง (ไม่นับรวมในหมู่เกาะอินโดนีเซีย) นั้น มีศูนย์กลางที่สำคัญอยู่ 2 ศูนย์ คือ “อาณาจักรมะละกา” ที่ตั้งอยู่บนฝั่งมหาสมุทรอินเดียด้านตะวันตกของแหลม ส่วนอีกด้านทางอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ก็คือ “อาณาจักรปัตตานี” นั่นเอง
ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์อยุธยาได้แผ่อำนาจลงไปคุมทั้งปัตตานีและมะละกา พยายามให้รัฐมลายูมุสลิมทั้งสองนั้นยอมรับอำนาจของตนและยอมตกเป็น “ประเทศราช” ซึ่งอยุธยาทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ปัตตานียอมรับความมีอำนาจที่เหนือกว่าของอยุธยา แต่บางครั้งเมื่อมีโอกาสก็ก่อการ “ขบถ” ต่อสู้มาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี
แต่สำหรับอาณาจักรมะละกานั้น สามารถหลุดออกจากอำนาจอยุธยาไปได้ เนื่องจากมะละกาได้รับความสนับสนุนจากจีนในสมัยราชวงศ์หมิง (ช่วงเวลาเดียวกับ “ซำปอกง” หรือขันทีแม่ทัพเรือนาม “เจิ้งเหอ” ที่สนับสนุนมะละกาให้ปลอดจากอำนาจอยุธยา มะละกาจึงสามารถตั้งตัวเป็นอาณาจักรและเมืองท่าที่ปลอดจากอำนาจของไทยไปได้ จนกระทั่งโปรตุเกสมายึดทีหลัง (ค.ศ. 1511)
ปัจจุบันประวัติศาสตร์ของ “ชาติ” มาเลเซีย ถือว่า “มะละกา” คือยุคทองอันรุ่งเรืองของตน (ทำนองเดียวกับที่ไทยถือว่า “สุโขทัย” คือยุคทองหรือบ่อเกิดของอารยธรรมไทยที่สำคัญสุด)
สมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์
เมื่อมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ กษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์พระเจ้าตากสิน หรือราชวงศ์จักรีก็อ้าง “อำนาจอธิปไตย” เหนือปัตตานีและรัฐมลายูอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้ยอมรับเงื่อนไขของการเป็น “ประเทศราช” ต้องส่ง “ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง” หรือที่เรียกในภาษามลายูว่า “บุหงามาศ” ส่งมาเป็นเครื่องบรรณาการ และยอมรับรูปแบบ “รัฐประเทศราช” (แบบเดียวกับที่ล้านนาเชียงใหม่ หรือหลวงพระบางเวียงจัน ตลอดจนกัมพูชาก็ต้องถูกทำให้ยอมรับ)
ในรูปแบบของการปกครองแบบ “ประเทศราช” นี้ ทั้งปัตตานีและรัฐสุลต่านมลายูตอนเหนือ (รวมทั้งล้านนา ล้านช้าง และกัมพูชา) ก็ยังมีผู้ปกครองของตัวเอง (เจ้าผู้ครองนคร ฯลฯ หรือแล้วแต่จะเรียกกันในแต่ละท้องที่) มีสุลต่าน มีกฎหมาย ศาสนา และวัฒนธรรมของตัวเอง โดยเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้านกิจการภายใน เรียกได้ว่ามีลักษณะของการปกครองแบบ “กระจายอำนาจ” และรับรองความเป็น “ท้องถิ่น” ทั้งในแง่ของศาสนาและวัฒนธรรม (ภาษาเขียนและภาษาพูด)
แต่พอถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ คือ มี “การปฏิรูป” การปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตั้ง “มณฑลเทศาภิบาล” ขึ้น (ส่งข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางไปปกครองแทน) ประเด็นหลักของ “การปฏิรูป” คือการยกเลิกความเป็นอิสระหรือการกระจายอำนาจในการปกครองท้องถิ่น ยกเลิกศักดิ์และสิทธิ์ของบรรดาเจ้าเมือง (เจ้าผู้ครองนครหรือสุลต่าน)
“ประเทศราช” ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่หรือเจ้าเมืองต่างๆ ในล้านนา (แพร่ น่าน ลำพูน ฯลฯ) หรือในภาคอีสานก็ตามถูกยกเลิก ดังนั้นวงศ์ของสุลต่านปัตตานี ก็ถูกยกเลิกไปด้วย (สุลต่านปัตตานีองค์สุดท้ายถูกจับไปกักขังที่พิษณุโลก แต่วงศ์สุลต่านของเคดะห์ กลันตัน ตรังกานู ฯลฯ ยังคงมีอยู่เนื่องจาก “อุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์” ที่รัฐหรือ “ประเทศราช” เหล่านั้น ตกไปอยู่ในครอบครองเป็น “เมืองขึ้น” ของอังกฤษตามข้อตกลงกับราชสำนักรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2452 (ดู สุจิตต์ วงษ์เทศ บ.ก. รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย”. ศิลปวัฒนธรรม, 2547.)
ในแง่ของประวัติศาสตร์จึงเรียกได้ว่ามี “บาดแผล” หรือเรื่องที่ค้างคาใจอยู่ “แผลประวัติศาสตร์” แบบนี้อาจแห้งหายสนิทไปก็ได้ (เช่นในกรณีของล้านนา หรืออีสาน) หากได้รับการแก้ไขเยียวยาที่ดี แต่แผลเช่นนี้ก็อาจถูกสะกิดขึ้นมาให้พุพองและเน่าได้เช่นกัน (ดังจะเห็นได้จากข้ออ้างและหรือเอกสารของ “ขบวนการ” ต่างๆ ในบริเวณชายแดน ไม่ว่าจะเป็น “พูโล” หรือ “เบอรซาตู”)
การปฏิรูปและ “รวมอำนาจศูนย์กลาง” ที่กรุงเทพฯ และมหาดไทยนั้นกระทบกระเทือนต่อสถานะกับ “ศักดิ์และสิทธิ์” ของ “ผู้นำท้องถิ่น” ทำให้ในช่วงดังกล่าวมีการต่อต้านอย่างรุนแรงและเกิด “กบฏ ร.ศ. 121” พร้อมๆ กันถึง 3 จุด คือ “ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน”, “ขบถเงี้ยวเมืองแพร่” และ “พระยาแขก ๗ หัวเมืองคบคิดขบถ” ในปี พ.ศ. 2445 ซึ่งรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามปราบปรามอย่างรุนแรงและเด็ดขาด (ดู เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. มูลนิธิโครงการตำราฯ และไทยวัฒนาพานิช, 2524.)
สมัย 2475
ครั้นมาถึง “สมัยปฏิวัติ 2475” มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าใจว่าปัญหาเดิมที่มีอยู่ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป หาได้มีการแก้ไขอย่างจริงจังไม่ จังหวัดชายแดนกลายเป็นที่ที่ไม่ได้มีข้าราชการที่ถูกส่งออกไปจากส่วนกลาง ที่มีความสามารถหรือความเข้าอกเข้าใจต่อราษฎร ศาสนา หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นไม่ อาจจะเป็นสิ่งตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป ที่ข้าราชการที่ถูกส่งออกไปนั้นก็เพราะส่วนกลางไม่ต้องการเสียมากกว่า เข้าทำนอง “ไซบีเรีย” ของไทยก็ว่าได้ ฉะนั้นปัญหาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มเติมพอกพูน “แผลเก่า” ทางประวัติศาสตร์แทนที่จะแห้งเหือดหายกลับพุพองขึ้นมาได้อีก
ในช่วงสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ประมาณ 2 ปีนั้น มีความพยายามที่จะแก้ไขและทำความเข้าใจกับปัญหาจังหวัดชายแดนเหล่านี้ เช่น มีการนำตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” กลับมาในฐานะเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในเรื่องของชนชาวมุสลิม ซึ่ง ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นนายกรัฐมนตรีในระยะหนึ่งสั้นๆ ได้แต่งตั้งนายแช่ม พรหมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งนี้ ดำเนินนโยบายประนีประนอมแบบ “สายพิราบ” มองให้เห็นถึงความแตกต่างและยอมรับทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการติดต่อกับผู้นำของท้องถิ่น เช่น กรณีของ “หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์” (ดู เฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร. หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ : กบฏ หรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้. ศิลปวัฒนธรรม, 2547.)
น่าเสียดายที่ความพยายามของ “สายพิราบ” นี้สะดุดหยุดลงเมื่อ “สายเหยี่ยว” กลับมามีอำนาจภายหลังการ “รัฐประหาร 2490” ที่นำจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมทั้งจอมพลผิน ชุณหะวัณ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมกลับมาครองอำนาจใหม่ ข้อเสนอและบทบาทของ “หะยีสุหลง” ถูกกล่าวหาว่าเป็น “กบฏ” ต้องการ “แบ่งแยกดินแดน” ตัวท่านเองก็ “ถูกอุ้ม” หายไป (เชื่อกันว่าถูกทำลายชีวิตด้วยการจับมัดใส่กระสอบนำไปถ่วงน้ำ (และข้อหาทำนองนี้ ก็ถูกขยายไปครอบคลุมและทำลายชีวิตของ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสานด้วย คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) และเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร) ในปี พ.ศ. 2492
อนึ่ง ตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ก็ยังถูกลดฐานะเป็นเพียง “ที่ปรึกษาของ รมต. มหาดไทย” และไร้ความหมายไปโดยปริยาย ในขณะที่ “ปีศาจแห่งการแบ่งแยกดินแดน” ก็ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำนองเดียวกับข้อกล่าวหา “คอมมิวนิสต์” พร้อมๆ กับการแก้ปัญหาแบบใช้ความรุนแรง และนโยบาย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” กรณีของการจัดการกับ “ม็อบ” และสลายการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะก็ดี หรือตากใบ นราธิวาส หรือ “ประเพณีการอุ้ม” ก็ดี สะท้อนให้เห็นถึง “นโยบาย” และ “การปฏิบัติ” ของวิธีการและวิธีคิดของราชการ “สายเหยี่ยว” มากกว่า “สายพิราบ”
สถานการณ์และเหตุการณ์ “รุนแรง” ที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะของปี 2547 เหมือนกับบ่งบอกว่า
1. การแก้ไขด้วย “สายเหยี่ยว” น่าจะไม่ใช่ทางออกของสังคมและประเทศชาติ
2. สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะ “เลย” การแก้ไขด้วยวิธีคิดและวิธีการที่ได้ทำกันมานานนับสิบๆ ปีแล้ว และ
3. สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนอาจแพร่ขยายพื้นที่และขอบเขตออกไป และอาจจะเลวร้ายลงไปกว่านี้อีกก่อนที่จะกลับมาดีขึ้นได้
การ “ปิดประตูตีแมว” แม้แมวส่วนหนึ่งจะตายไป แต่ ณ วันนี้แมวกลับมีพรรคพวกมากขึ้นก็ได้ ทั้งในและนอกประเทศ สัญญาณที่ถูกส่งมาเป็นระยะๆ จากสหประชาชาติเอง จากสมาชิกประเทศ “อาเซียน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซีย (และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกลันตัน ที่ทั้งติดกับจังหวัดชายแดน ทั้งชนชาติและภาษาที่ร่วมกันของผู้คนในบริเวณนี้ ทั้งระบบการเมืองและพรรคการเมืองของรัฐ ที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูง) ทำให้เรื่องของจังหวัดชายแดน หาได้เป็นปัญหา “ภายในประเทศ” โดดๆ อีกต่อไปไม่ (ท่าทีและคำสัมภาษณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู น่าจะเป็นการทักของ “จิ้งจก” ที่ต้องนำมาครุ่นคิดเป็นอย่างยิ่ง)
หากจะมองในภาพรวมภาพใหญ่ของระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสุดขั้วของสหรัฐเอง กับของ “ขบวนการ (ที่เราเรียกว่า) ก่อการร้าย” เอง ทำให้เรื่องของชายแดนภาคใต้ต้องเป็นทั้ง “วาระของชาติ” และของโลกอีกด้วย
การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องมองด้วย “สายตาใหม่” และ “วิธีการใหม่” หากเรายังจะเชื่อว่า “ประวัติศาสตร์คือบทเรียน” ก็ต้องนำอดีตกลับมารับใช้ปัจจุบัน รวมทั้งการนำข้อเสนอของ “หะยีสุหลง” 10 ข้อ กลับมาดู พิจารณาพร้อมไปกับข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์ ฉายแสง รวมทั้งของข้าราชการและนักวิชาการ “สายพิราบ” ที่ถูกนำไปขึ้นหิ้งเก็บดองไว้
ที่สำคัญคือ ต้องไม่ตื่นตระหนกและหวาดกลัวกับ “ปีศาจแห่งการแบ่งแยกดินแดน” (ที่เราสร้างกันขึ้นมาเอง) จนเกินไป เรื่องของ “ประชาชนมีส่วนร่วม” เรื่องของ “เขตปกครองพิเศษ” ในบริบทของโลกปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอย่างที่เคยเชื่อกันในสมัยสงครามเย็นและการปลุกผีคอมมิวนิสต์ (ของพิบูล ผิน เผ่า สฤษดิ์ ถนอม) เขตปกครองตนเองของชนชาติ “ไต-ไท” ในสิบสองปันนาของจีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกปลุกผีในสมัยโน้น กลายเป็นอะไรในปัจจุบันก็เห็นๆ กันอยู่ ทั้งนี้ยังไม่ต้องเอ่ยอ้างถึง กทม. หรือพัทยาใกล้ๆ ตัว หรือให้ไกลตัวออกไปอย่าง “ฮ่องกง” บราซิล สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ความละมุนละม่อม และการยอมรับในความ “แตกต่าง” ทาง 1. เชื้อชาติ 2. ภาษา และ 3. ศาสนา ทั้งหมดควรต้องนำมาศึกษาและพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยุ่งยาก และซับซ้อน แต่ก็ต้องทำถ้าเราต้องการจะหลีกเลี่ยง “โศกนาฏกรรม” ของชาติบ้านเมือง และยิ่งไปกว่านั้น คือของ “มนุษยชาติ” ที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 พฤษภาคม 2560