“รถม้า” ลำปาง มาจากไหน? ทำไมมีรถม้าในคำขวัญเมืองลำปาง?

รถม้า ลำปาง
รถม้าแท็กซี่ ที่ลำปาง ภาพของคุณนิพนธ์ มณีเทศ (อ้างอิงจาก หนังสือ 2 ฟากแม่วัง 2 ฝั่งนครลำปาง)

“ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก” คือคำขวัญของเมืองลำปาง แล้วท่านเคยสงสัยไหมว่า “รถม้า” ลำปาง ที่อยู่ในคำขวัญดังกล่าวมาจากไหน ลำปางมีรถม้าใช้กันตั้งแต่เมื่อใดกัน

แต่ก่อนจะไปถึงรถม้าเมืองลำปาง ขอเริ่มที่การใช้รถม้าในประเทศไทยกันก่อน

แม้ไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเริ่มมีรถม้าในปีใด แต่พออนุมานว่าสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีการใช้รถม้าแล้ว หลังจากได้สร้างถนนขึ้นในสยาม ดังเอกสารเก่าซึ่งบันทึกว่า มีชาวตะวันตกขอให้ขยายถนนเจริญกรุงเพื่อความสะดวกในการใช้รถม้า ถึงรัชกาลที่ 5 ราชสำนักไทยมีการจัดซื้อรถม้าจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการตั้ง “กรมอัศวราช” สังกัดกระทรวงวัง เพื่อดูแลทั้งรถเก๋งและประทุนม้า

ส่วน “รถม้า” ลำปาง นั้น ชัยวัฒน์ ศุภดิลกลักษณ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความชื่อ “รถไฟ รถม้า รัษฎา นาฬิกา” ว่า จุดกําเนิดรถม้าเมืองนครลําปาง มีนักวิชาการอธิบายไว้ 4 แนวทาง

1. สมัยเจ้านรนันทไชยชวลิต คาร์ลบล็อกแห่งสวีเดนบันทึกว่า นั่งรถม้าเทียมคู่สมัยเจ้าหลวงนรนันทไชยชวลิต ขับโดยอุปราชเมืองเมื่อ พ.ศ. 2424 ต่อมาเมื่อรถไฟมาถึงนครลําปาง พร้อมขยายโครงการทางหลวงเชื่อมเชียงแสน พ.ศ. 2459 กรมรถไฟจึงได้ระบายรถม้าในกรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างสถานีรถไฟกับทางหลวงในนครลำปาง จนกลายเป็นกิจการรถม้าสาธารณะรับจ้าง

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ภาพของเจ้าแม่บุญศรี สุคำวัง (อ้างอิงจาก หนังสือ 2 ฟากแม่วัง 2 ฝั่งนครลำปาง)

2. สมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต (พ.ศ. 2400-2465) เจ้าผู้ครองนครลําปางคนสุดท้าย นํารถม้าคันแรกเข้ามาใช้เป็นการส่วนตัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 โดยว่าจ้างแขกปากีสถานเป็นสารถีและดูแลม้า ต่อมาแขกคนดังกล่าวได้ชักชวนเพื่อนซื้อรถม้ามาทําเป็นรถม้าแท็กซี่ในลําปาง ภายหลังได้ว่าจ้างชาวบ้านเมืองนครลําปางเป็นสารถี พร้อมทั้งฝึกสอนให้คนเมืองนครลําปางรู้จักขับรถม้าและเลี้ยงดูม้า ก่อนจะขายกิจการรถม้าให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ดําเนินกิจการ

3. สมัยบริษัทต่างประเทศเข้ามาดําเนินกิจการป่าไม้ ชาวตะวันตกที่เข้ามาดําเนินกิจการป่าไม้มีฐานะ เคยชินความสะดวกสบายเป็นวัฒนธรรมของตนเอง จึงนํารถม้าเข้ามาเป็นพาหนะเพื่ออำนวยความสบายแก่ตนเอง และแสดงความมีฐานะทางสังคม ความนิยมนี้ได้ขยายสู่สังคมเจ้านายชั้นสูง และกลุ่มผู้มีอันจะกินในเมืองนครลําปางในระยะต่อมา

4. สมัยรถไฟมาถึงเมืองนครลําปาง “รถม้า” ลำปาง กำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดเดินรถไฟสายเหนือ ถึงสถานีรถไฟนครลําปาง ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตเป็นผู้ครองนครลําปาง ซึ่งในวันนั้นยังมีการเปิดทางหลวงสาย 3 เชื่อมทางรถไฟจากสถานีนครลำปางไปเมืองเชียงราย เชียงแสน มณฑลพายัพ ทำให้เกิดบริการรถม้าสาธารณะ หรือรถม้าแท็กซี่ รับจ้างบนเส้นดังกล่าว

แหล่งรถม้าลำปางที่สำคัญอยู่ที่บ้านเชียงราย หรือบ้านสิงห์ชัย แต่ปัจจุบันแหล่งใหญ่อยู่บริเวณบ้านวังหม้อ ตําบลต้นธงชัย อำเภอเมืองลำปาง มีทั้งโรงฝึก โรงเลี้ยงม้า โรงงานประกอบรถม้าจำหน่าย นอกนั้นก็อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ บ้านประตูม้า บ้านศรีบุญเรือง บ้านนาก่วมเหนือ-ใต้ ฯลฯ

การใช้รถม้าในอดีตของคนลำปาง ก็คงคล้ายคนกรุงเทพฯ ที่ใช้แท็กซี่หรือมอเตอร์ไซต์รับจ้างในทุกวันนี้

รถม้าที่จอดรอรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟนครลำปาง ภาพจาก เทศบาลนครลำปาง (อ้างอิงจาก หนังสือ 2 ฟากแม่วัง 2 ฝั่งนครลำปาง)

รถม้า เป็นพาหนะสำคัญหนึ่งของคนเมืองนครลำปางนอกจากเกวียน รถม้าแท็กซี่ยังรับส่งผู้โดยสารระหว่างชุมชนต่างๆ ภายในเมืองกับย่านบริเวณการค้าสถานีรถไฟสบตุ๋ย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจําวันของคนเมืองนครลําปาง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ความเจริญแบบเมืองใหญ่ก็มาพร้อมกับถนนสายหลักอย่างถนนพหลโยธิน ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม

รถม้าลำปางเริ่มมีคู่แข่งขันมากขึ้นทั้งรถยนต์, รถสามล้อเครื่อง, รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ที่ให้ทั้งความสะดวกรวดเร็วกว่า รถม้าแท็กซี่ที่มีผู้นิยมใช้ลดน้อยลง ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รถม้าแท็กซี่ก็ต้องปรับราคาตามสภาพ จำนวนผู้ใช้รถม้าก็ยิ่งน้อยลง

สุดท้ายรถม้าแท็กซี่ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นรถม้าบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งที่อื่นไม่มี เป็นลักษณะเฉพาะของลำปาง จนกลายเป็นคำขวัญของเมืองไปในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ชัยวัฒน์  ศุภดิลกลักษณ์.  “รถไฟ รถม้า รัษฎา นาฬิกา” ใน, 2 ฟากแม่วัง 2 ฝั่งนครลำปาง, จัดพิมพ์โดย เทศบาลนครลำปาง, ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลำปาง, กลุ่มลูกหลานสืบสายสกุลเจ้าเจ็ดตน, พ.ศ. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2563