“ม่านครองเมือง” เที่ยวชมสถาปัตยกรรมพม่าแห่งนครลำปาง

ชั้นหลังคาแบบไทใหญ่ จองวัดศรีรองเมือง

“ม่าน” เมื่อได้ยินคำนี้คงสับสนไม่น้อยว่าทำไม ม่าน ถึงต้อง “ครองเมือง”  

คำว่าม่านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ปิดบังหน้าต่างหรือประตูเช่นผ้าม่านแต่อย่างใด หากหมายถึง ชนชาติพม่า 

จากบันทึกและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประพันธ์ลิลิตขณะเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองลำปาง ทรงประพันธ์ว่ามีพวกม่านหรือชนชาติพม่ามาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จด้วย และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเมืองอื่น ๆ ก็เจอพวกม่านปรากฏอยู่แทบทุกเมือง

ทว่าชาวพม่าเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่อดีตย้อนกลับไปหลายร้อยปีครั้งที่พม่าปกครองอาณาจักรล้านนา แต่พึ่งเข้ามาอาศัยตั้งรกรากในล้านนาเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการทำสัมปทานป่าไม้ระหว่างล้านนากับอังกฤษ ชาวพม่าทั้งที่เป็นคนในบังคับของอังกฤษและเป็นแรงงานทั่วไปจึงได้เข้ามาเป็นแรงงานตัดไม้ นอกจากนี้ยังมีพวกคหบดีพ่อค้าพม่าเข้ามาพร้อมกับพวกอังกฤษเพื่อค้าขายด้วย ไม่เพียงแต่ชาวพม่าเท่านั้น ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีกเช่น ชาวมอญ และชาวไทยใหญ่ เป็นต้น

ชาวพม่านั้นมีความเชี่ยวชาญเรื่องไม้เป็นอย่างมาก เพราะในดินแดนพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากรป่าไม้ จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรมและความยึดโยงกันระหว่างชาวพม่ากับป่าไม้ ชาวพม่าจึงมีคติให้ความเคารพต่อธรรมชาติ เมื่อโค่นล้มต้นไม้ในป่าย่อมต้องขอขมาต่อเจ้าป่าเจ้าเขา หนทางหนึ่งคือการสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศล นอกจากนี้ ชาวพม่ายังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า การสร้างวัดจึงไม่ใช่เพียงเพื่อถวายความเคารพต่อป่าไม้ที่ตนตัดโค่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการถวายเพื่อพุทธบูชาในศาสนาอีกทางหนึ่ง

วัดจองคำ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นวัดที่มีศิลปะแบบไทยใหญ่ หรือเงี้ยว ซึ่งนิยมสร้างอาคารไม้สักขนาดใหญ่ โดยรวมวิหาร ศาลา และกุฏิ ไว้ในอาคารเดียวกัน และใช้งานในลักษณะอเนกประสงค์ (ข้อมูลโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์)

ในจังหวัดลำปางมีวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่ามากกว่า 40 แห่ง วัดพม่าเหล่านี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก แต่ในอดีตกลับไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวหรือคนในจังหวัดมากนัก อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ภาพยนตร์สุริโยไท เลือกใช้วัดพม่าในจังหวัดลำปางเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ เช่น วัดศรีชุม กระแสการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางจึงกลับมาอีกครั้งพร้อมกับแนวคิดการอนุรักษ์ฒนธรรมท้องถิ่น และเมื่อไม่นานมานี้ ละครเรื่องรากนคราก็เข้ามาถ่ายทำที่วัดศรีรองเมืองที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ ก็ทำให้วัดศรีรองเมืองเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในวัดพม่าที่สวยอีกแห่งหนึ่งในลำปาง

จากการศึกษาและลงพื้นที่สำรวจพบว่าศาสนสถานตามสถาปัตยกรรมพม่าในเขตเมืองลำปางที่ปรากฏสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่ จองหรือวิหาร อุโบสถ กุฏิ เจดีย์ และซุ้มประตูโขง แต่สิ่งที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นในงานสถาปัตยกรรมพม่ามากที่สุดคือ จองหรือวิหาร โดยสามวัดที่มีความงดงามและขึ้นชื่อที่สุด ได้แก่ วัดศรีชุม วัดศรีรองเมือง และวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดศรีชุม

วัดศรีชุมสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2443 สถาปัตยกรรมพม่าในวัดแห่งนี้ที่เห็นได้ชัดคือ จอง อุโบสถ ซุ้มประตูโขง และกุฏิ คำว่าจองในที่นี้จะหมายถึงสิ่งปลูกสร้าง หรืออาคารในวัด จองในวัดศรีชุมมีลักษณะอาคารแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชั้น ถือว่าเป็นอาคารแบบพม่าที่สมบูรณ์และสวยงามมากที่สุด แต่ว่าอาคารนี้ได้ถูกไฟไหม้ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2535 ทำให้งานศิลปกรรมที่มีคุณค่าถูกเพลิงเผาไหม้จนหมด ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดิม

จองวัดศรีชุม จังหวัดลำปาง

จองวัดศรีชุมเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นที่สองเป็นอาคารไม้ มีกรอบซุ้มประตูเป็นแบบตะวันตกประดับด้วยงานแกะสลักและฉลุไม้ ด้านนอกอาคารในส่วนบนประดับสายพวงมาลัยรูปปั้นไว้รอบ ซึ่งเป็นความนิยมตามแบบงานประดับของภาคกลางในสมัยนั้น

ชั้นหลังคาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนชั้น คลุมซ้อนชั้นตามแนวขวางของอาคาร สร้างเป็นหลังคาทรงจั่วซ้อนชั้นกันสี่ชั้น ลักษณะนี้เป็นหลังคาแบบไทใหญ่ ส่วนที่สองเป็นหลังคาทรงปราสาทซ้อน ซ้อนกันเจ็ดชั้น มีซุ้มบันแถลงประดับไว้ทั้งสี่ด้านทุกชั้น ลักษณะนี้เป็นหลังคาแบบมัณฑเลย์ วัสดุที่ใช้สร้างส่วนใหญ่เป็นไม้แกะสลัก ผสมกับการฉลุสังกะสีประดับชั้นในยอดปราสาท

โบสถ์วัดศรีชุม เครื่องหลังคาทรงปราสาทเจ็ดชั้น สถาปัตยกรรมแบบมัณฑเลย์

ทั้งนี้ ยังมีโบสถ์เป็นอาคารที่สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบพม่าอีกหนึ่งแห่งในวัดศรีชุม ส่วนหลังคาเป็นทรงปราสาทเจ็ดชั้น ทั้งจองและโบสถ์มีการตกแต่งภายในด้วยการประดับกระจกสีที่สวยงามเป็นลวดลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสา เพดาน ผนัง และนิยมตกแต่งเป็นลายเถาว์และดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีซุ้มประตูโขง ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นวัฒนธรรมร่วมของล้านนาและพม่า โดยมีส่วนหลังคาเป็นปราสาทซ้อนกันเจ็ดชั้น เช่นเดียวกับอาคารอื่นๆตามสถาปัตยกรรมแบบพม่า

ซุ้มประตูโขงคือซุ้มประตูทางเข้าบริเวณพื้นที่ศาสนสถานหรืออาคารพิเศษในวัฒนธรรมล้านนา มีวัตถุประสงค์ในการเสริมความเป็นมงคลและให้ความสำคัญแก่บุคคลสำคัญในการต้อนรับ หรือสร้างเป็นทางลอดไปสู้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสัมพันธ์กับระบบความเชื่อและธรรมเนียมประเพณีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ได้รับมาจากอินเดียผ่านพวกขอมในยุคขอมเรืองอำนาจในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วัดศรีชุม ตั้งอยู่ที่ ถนนทิพย์วรรณ ตำบล พระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง อยู่ตรงข้ามกับมัสยิดอัลฟาลาฮุ

วัดศรีรองเมือง

วัดศรีรองเมืองสร้างราว พ.ศ. 2443 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบพม่า คือ จองและเจดีย์ จองจะมีลักษณะการก่อสร้างและการใช้งานคล้ายคลึงกับจองที่วัดศรีชุม แต่จะแตกต่างกันตรงส่วนหลังคา จองวัดศรีรองเมืองสร้างแบบไทใหญ่ทั้งหมด ไม่มีหลังคาทรงปราสาท

วัดศรีรองเมือง จังหวัดลำปาง

จองวัดศรีรองเมืองมีหลังคาแบบจั่วซ้อนชั้นลดหลั่นกันเป็นกลุ่ม วางลดหลั่นและสลับตามแนวขวางและแนวยาวของอาคาร มีการประดับชั้นจั่วด้วยการฉลุไม้และฉลุสังกะสีประดับเป็นป้านลมและหน้าจั่วเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่อาคาร

ส่วนการตกแต่งภายในมีลักษณะเช่นเดียวกับวัดศรีชุม คือเน้นการประดับตกแต่งด้วยลายที่เกิดจากการปั้นรักหรือเดินเส้นรักแล้วประดับกระจกสีไว้เต็มพื้นที่ โดยเฉพาะเสาด้านหน้าห้องพระประธานซึ่งมีการปั้นรักเป็นรูปนูนต่ำ เป็นรูปสัตว์ คน เทวดา และลายเครือพันธุ์พฤกษา ในส่วนของเพดานห้องโถงประดับด้วยกรอบลายเป็นช่อง ๆ เต็มเพดานด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา และรูปสัตว์ โดยใช้เทคนิคการเดินเส้นรักปิดกระจกสีเช่นกัน

จองวัดศรีรองเมืองส่วนของหลังคาเป็นแบบไทใหญ่ ลักษณะเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ในอดีตจะฉลุไม้ประดับส่วนหลังคาด้วยลวดลายต่าง ๆ แต่ปัจจุบันได้บูรณะด้วยการฉลุสังกะสีบางส่วนเพื่อความคงทน

นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมีเจดีย์แบบพม่าสร้างไว้ด้วย โดยเจดีย์แบบพม่าหรือมอญมีรูปแบบอิทธิพลจากศิลปะพุกามราวปลายพุทธศตวรรษที่ 23

วัดศรีรองเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนท่าคราวน้อย ตำบล สบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

เจดีย์แบบพม่า วัดศรีรองเมือง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามเป็นวัดเก่าแก่ของลำปางมาตั้งแต่อดีตก่อนอิทธิพลศิลปกรรมของพม่าจะเข้ามา สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 1979 เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต งานศิลปกรรมพม่าที่พบภายในวัดคือ มณฑปปราสาทแบบพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2452  ลักษณะอาคารเป็นหลังคาทรงปราสาทลดหลั่นกัน และย่อมุมตามลักษณะของแผนผัง มีทางเข้า 3 ทางคือ ทางด้านทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนทางทิศเหนือเป็นผนังทึบชิดกับองค์เจดีย์

ด้านหน้าทางเข้านี้มีการประดับด้วยไม้แกะสลักสร้างเป็นโก่งคิ้ว ทางเข้าทุกทางจะมีมุขยื่นออกมาจากตัวอาคาร ส่วนประกอบของมุขที่ยื่นออกมา ไม่ว่าจะเป็นเพดาน จั่ว หน้าบัน และรวงผึ้งก็ตาม ล้วนประดับด้วยไม้แกะสลักและงานปั้นรักประดับกระจกสีแทบทั้งสิ้น ส่วนชั้นหลังคาถือเป็นงานช่างที่แสดงถึงลักษณะเฉพาะแบบพม่า เป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองเป็นช่อฟ้า เชิงชาย และเมฆตั้งแบบพม่า กลางชั้นหลังคาสร้างเป็นซุ้มปราสาทซ้อนชั้นลดหลั่นกันเป็นมณฑปปราสาท ยอดบนสุดเป็นปลีและฉัตรแบบพม่า ส่วนการประดับตกแต่งภายในก็นิยมทำเช่นเดียวกับวัดพม่าอื่น ๆ เช่นเดียวกัน

มณฑปปราสาทแบบพม่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จังหวัดลำปาง
การตกแต่งภายในมณฑป วัดพระแก้วดอนเต้าฯ

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม ตั้งอยู่ที่ถนนพระแก้ว ตำบล เวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปางลำปาง

เจดียพม่ากับเจดีย์ไทยต่างกันอย่างไร?

เจดีย์แบบมอญและเจดีย์แบบพม่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง คือส่วนของฐาน โดยเจดีย์แบบพม่าจะใช้ผังสี่เหลี่ยมและยกเก็จขนาดเล็ก ส่วนเจดีย์แบบมอญจะยกเก็จขนาดใหญ่จนทำให้แผนผังเป็นแบบแปดเหลี่ยม นอกจากนี้เจดีย์แบบพม่านิยมทำฐานเป็นชั้นประทักษิณแต่เจดีย์แบบมอญทำเป็นฐานลาด คือฐานที่แผ่ขยายลาดเอนอย่างมาก และไม่มีชั้นประทักษิณ

แม้เจดีย์แบบพม่าและแบบมอญจะมีความแตกต่างกันในส่วนฐาน แต่ในส่วนยอดมีความเหมือนกันอย่างสิ้นเชิง คือ เป็นเจดีย์ที่ไม่มีบัลลังก์ มีปล้องไฉนทรงกรวยฐานผายกว้างมาก มีปัทมบาทเป็นส่วนของบัวคว่ำบัวหงายที่มีลายกลีบบัวที่ยาวมากและมีขนาดใหญ่ ปลีขนาดใหญ่มากและเป็นทรงพุ่มเตี้ย ๆ คล้ายดอกบัวตูม และฉัตร

(ซ้าย) เจดีย์ชเวดากอง ไม่มีบัลลังก์ตามแบบเจดีย์พม่า-มอญ (ภาพจาก KHIN MAUNG WIN / AFP) (ขวา) พระปฐมเจดีย์ มีบัลลังก์ (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

ภาพซ้ายบนคือเจดีย์ชเวดากอง ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ภาพขวาคือพระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม ประเทศไทย หากมองอย่างผิวเผินแล้วก็คงจะเห็นความแตกต่างกันได้ไม่ยากว่าแบบไหนเป็นไทยแบบไหนเป็นพม่า แต่หากศึกษาโดยใช้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จะพบว่ารายละเอียดและองค์ประกอบของเจดีย์ทั้งสองชาติแตกต่างกันอย่างมาก สิ่งที่บ่งชี้ที่ชัดที่สุดคือ “บัลลังก์”

บัลลังก์คือส่วนที่อยู่ระหว่างองค์ระฆังกับส่วนยอด เจดีย์แบบพม่าไม่นิยมสร้างบัลลังก์ จึงทำให้ลักษณะส่วนบนตั้งแต่องค์ระฆังไปจนถึงยอดฉัตรเป็นแบบเรียว สูง และยาวกว่าเจดีย์แบบไทย

หากคำที่กล่าวไว้ตอนแรกว่า “ม่านครองเมือง” คงจะไม่ดูผิดแปลกไปนัก เพราะทั่วทั้งเมืองลำปางเต็มไปด้วยวัดแบบพม่าแทบทุกถนน สะท้อนภาพอดีตที่ลำปางนั้นเคยรุ่งเรืองจากยุคสัมปทานป่าไม้ เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง พวกคหบดีพ่อค้าชาวพม่าต่างก็ร่ำรวยเงินทอง บริจาคเงินเป็นเจ้าศรัทธาสร้างวัดใหญ่โตแบบพม่าทั่วเมืองลำปาง

อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายวัดที่ไม่ได้ยกมาให้เห็น เช่น วัดจองคา วัดจองคำ วัดม่อนพญาแช่ ซึ่งก็มีความงดงามไม่แพ้วัดอื่น ความงดงามของวัดพม่าในลำปางนั้นแปลกมาก แต่ละวัดมีเอกลักษณ์ความงดงามเป็นของตัวเอง มีจุดเด่น และให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันไป แต่ยังคงให้ความงดงามของศิลปกรรมพม่าไว้อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน

 


ภาพถ่ายทั้งหมดโดย ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน (สงวนลิขสิทธิ์ภาพ)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2562