ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง มักเป็นขนมอันดับแรกๆ ในความคิดของหลายคนว่าเป็นขนมไทยแท้แต่โบราณ จดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับหนึ่งบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ท้าวทองกีบม้า ได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกงและสังขยา…”
อะไรที่ทำให้ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ หันมาทำขนมหวาน?
บันทึกการทำขนมหวานท้าวทองกีบม้ามีความเห็นออกไปในแบบต่างๆ บางบันทึกก็ว่า ชีวิตช่วงหนึ่งของท้าวทองกีบม้าตกอับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2233 ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส และถูกบังคับให้ทำอาหารหวานส่งเข้าวังตามอัตราที่กำหนด เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในบันทึกด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกันในออกไป
ตามหลักฐานของ บาทหลวงโอมองต์ (Fr. Aumont) บันทึกไว้ว่า ท้าวทองกีบม้าหรือ “มาดามฟอลคอน” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นชาววิเสทประจำห้องเครื่องในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
อีกบันทึกของ อเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน อ้างว่า ได้พบกับมาดามฟอลคอนในปี พ.ศ. 2262 ขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการห้องเครื่องต้นแผนกหวาน มีผู้คนรักใคร่นับถือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของ มองสิเออร์โซมองต์ อ้างว่า มาดามฟอลคอน เป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหวาน เป็นหัวหน้าเก็บภูษาและฉลองพระองค์ และยังเป็นผู้เก็บผลไม้เสวยด้วย
ในจดหมายท้าวทองกีบม้าที่เขียนถึงบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนกล่าวไว้ว่า
“ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยาก และระกำช้ำใจ มืดมนธ์อัธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่นอนที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักที่มุมห้องเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังรักษาเฝ้าห้องเครื่องนั้น”
อ่านเพิ่มเติม :
- ท้าวทองกีบม้า เป็นลูกของใคร? สืบเบาะแสหลักฐานต้นสกุล ฤๅจะผสมหลายเชื้อสาย?
- ขนมหวานท้าวทองกีบม้า คิดเองในสยาม หรือสูตรจากญี่ปุ่น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของ ท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ”. กรุงเทพฯ : มติชน 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2561