ชาติกำเนิดปริศนา “ท้าวทองกีบม้า” เป็นลูกของใคร? สืบเบาะแสหลักฐานต้นสกุล

ท้าวทองกีบม้า ถิ่นกำเนิด หมู่บ้านโปรตุเกส พรหมลิขิต
ท้าวทองกีบม้า ในละครเรื่องพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook : Ch3Thailand)

ประวัติชีวิตในตำนานของ ท้าวทองกีบม้า ภรรยาของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน ตามที่ปรากฏหลักฐานในเอกสารต่างๆ จัดว่ามีอยู่น้อย กระจัดกระจาย และสับสนเกินกว่าจะผูกเรื่องราวชีวิตของหญิงผู้นี้ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เว้นแม้กระทั่งข้อสันนิษฐานที่อ้างว่า ท้าวทองกีบม้าผู้นี้คือต้นคิดขนมไทยตำรับโปรตุเกส รวมไปถึงนามบรรดาศักดิ์ “ท้าวทองกีบม้า” ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานเอกสารใดๆ ที่อ้างอิงไว้อย่างชัดเจนว่า มารี กีมารด์ คือเจ้าของนามบรรดาศักดิ์ท้าวทองกีบม้าคนแรก

ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแนวคิด และการตีความของนักวิชาการในชั้นหลังทั้งสิ้น

Advertisement

แม้ว่าประวัติชีวิต ท้าวทองกีบม้า หรือ มาดามฟอลคอน จะไม่มีความชัดเจน เนื่องจากถูกบดบังไปกับประวัติชีวิต และงานของ ก็องสตังซ์ ฟอลคอน เป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ดีหลักฐานจากบันทึกในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ ก็ได้ทิ้งเบาะแสไว้ให้แกะรอยท่านผู้หญิงหมายเลขหนึ่งท่านนี้ ในช่วงเวลาที่ฟอลคอนเรืองอำนาจในสยาม และยามตกอับ เพียงพอให้เห็นเงาร่างของท้าวทองกีบม้าได้พอสมควร

ท้าวทองกีบม้า ลูกใคร?

จากประวัติท้าวทองกีบม้าในเอกสารหลายฉบับทั้งในภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ มีความสับสนจนถึงคลาดเคลื่อนในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง “พ่อ” ของท้าวทองกีบม้า กับภาคภาษาไทยที่สับสนในคำว่า Grandmother ว่าควรจะเป็น “ยาย” หรือ “ย่า” มากกว่ากัน ความสับสนนี้ทำให้เกิดบทสรุปในชีวิตของท้าวทองกีบม้าผิดแผกไปจากที่ควรจะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องของชาติกำเนิด

ต้นสกุลลึกที่สุดที่มีหลักฐานปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ต้นสกุล คือ อิกเนซ มาร์แตงซ์ (Ignez Martinz) แต่งงานกับชาย “ชาวญี่ปุ่น” ที่เป็นเจ้านายชั้นสูง ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่ในสยาม จากนั้นก็อนุญาตให้ “บุตรชาย” แต่งงานกับหญิงสาวชาวญี่ปุ่นคือ อุรซุล ยามาดา (Ursule Yamada) ซึ่งพำนักอยู่ในสยามเช่นเดียวกัน แล้วก็ให้กำเนิดท้าวทองกีบม้า ในลำดับต่อมา

เท่ากับว่า อิกเนซ มาร์แตงซ์ แท้จริงคือ “ย่า” ของท้าวทองกีบม้า ในขณะที่ “บุตรชาย” ของ อิกเนซ มาร์แตงซ์ ซึ่งไม่ปรากฏชื่อในบันทึกใดๆ ก็ควรจะเป็น “พ่อ” แท้ๆ ของท้าวทองกีบม้า

ฟานิค พ่อท้าวทองกีบม้า? 

แต่แล้วก็ปรากฏชายชื่อ ฟานิค (Phanick) ขึ้นมา ซึ่งถูกอ้างในเอกสารหลายแห่งว่าเป็น “พ่อ” ของท้าวทองกีบม้า ที่มีบทบาทหวงลูกสาว เมื่อคราวฟอลคอนไปขอแต่งงาน ทำให้เกิดปัญหาว่า ฟานิค ผู้นี้คือใครกันแน่

จดหมายของ “อิงลิช คาทอลิก” ที่มีไปถึง หลวงพ่อปิแอร์ ด’อรเลอังส์ (Letter of “An English Catholic” to Pere d”Orleans) ระบุว่า ฟานิค เป็นคนผิวคล้ำ ลูกครึ่งระหว่างเบงกอลกับญี่ปุ่น และเป็นคาทอลิก

การที่ฟานิคถูกระบุว่าเป็นลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น จึงไม่ใช่ “บุตรชาย” ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ กับ “ชายชาวญี่ปุ่น” แน่

ในขณะที่บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอ แบส ซึ่งอ้างว่าได้พบและพูดคุยกับ อิกเนซ มาร์แตงซ์ ย่าของท้าวทองกีบม้า ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กล่าวถึงฟานิคในฐานะเป็น “พ่อ” รวมทั้งเอกสารของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสหลายฉบับ ไม่ลังเลที่จะใช้คำว่า “พ่อของมารี กีมารด์” (Her father”s name was Fanique)

ดังนั้นจึงเป็นไปได้สองทาง อย่างแรกคือ ฟานิคคนนี้เป็น “พ่อเลี้ยง” ของท้าวทองกีบม้า โดยที่ อุรซุล ยามาดา แม่ของท้าวทองกีบม้า แต่งงานใหม่กับฟานิค หลังจากให้กำเนิดท้าวทองกีบม้าแล้ว

ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สอดคล้องกับบทความของ อี. ดับเบิลยู. ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยพระนารายณ์ฯ ในหนังสือ 2 เล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century และ 1688 Revolution in Siam ฮัตชินสันมักจะใช้คำว่า “ผู้เลี้ยงดู” หรือ “พ่อเลี้ยง” เมื่อกล่าวถึงฟานิค

อีกทางหนึ่งคือ ฟานิคเป็นพ่อแท้ๆ ของท้าวทองกีบม้า ซึ่งแต่งงานใหม่กับอุรซุล ยามาดา ภายหลัง “บุตรชาย” ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ แล้วให้กำเนิดท้าวทองกีบม้า ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานบางชิ้นที่ระบุว่า ท้าวทองกีบม้ามี “ผิวคล้ำ” ซึ่งใกล้เคียงกับฟานิค ก็เป็นลูกครึ่งเบงกอล-ญี่ปุ่น และมีผิวคล้ำ

เราไม่สามารถหาข้อสรุปในกรณีนี้ได้อย่างชัดเจนว่า ท้าวทองกีบม้าแท้จริงแล้วเป็นลูกใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีคำกล่าวอ้างในทางร้ายเกี่ยวกับอุรซุล ยามาดา แม่ของท้าวทองกีบม้า ว่าเป็นหญิงที่มีความประพฤติไม่ดีในทางชู้สาว ฟานิคอาจจะเป็นคนที่เข้ามาตรงกลางระหว่าง “บุตรชาย” ของอิกเนซ มาร์แตงซ์ กับอุรซุล ยามาดา จนให้กำเนิดท้าวทองกีบม้าก็เป็นได้

แต่ที่แน่ๆ คือ ฟานิคเป็นบุคคลที่คนยอมรับให้เป็น “พ่อ” ของท้าวทองกีบม้า ไม่ว่าจะเป็นพ่อเลี้ยง หรือพ่อตัวจริงก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 16 มีนาคม 2560