ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แม้พระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้วกว่า 90 ปี แต่เรื่องราวของพระองค์ยังเป็นที่กล่าวขานกระทั่งถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องพระนางวิกตอเรียขอเจ้าดารารัศมีเป็นบุตรบุญธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือข่าวลือ?
พระนางวิกตอเรียขอเจ้าดารารัศมีเป็นบุตรบุญธรรม?
ในบทความ “การเมืองและเรื่องที่ลือในพระประวัติเจ้าดารารัศมี” ซึ่ง สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์ เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2568 พูดถึงประเด็นที่ถูกยกระดับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ว่า “ไม่เป็นความจริง”
แล้วไม่เป็นความจริงเพราะเหตุใด?

อาจารย์สมฤทธิ์บอกในบทความว่า มีข้อมูลหนึ่งที่มักถูกอ้างถึงเหตุที่เจ้าดารารัศมีต้องไปเป็นบาทบริจาริกาที่กรุงเทพฯ ก็คือเรื่องที่ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร (ครองราชย์ ค.ศ. 1837-1901 หรือ พ.ศ. 2380-2444) มีพระราชประสงค์จะรับ เจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 กับเจ้าทิพเกสร ไปเป็นบุตรบุญธรรม
แล้วเล่าต่อว่า หนังสือพระประวัติเจ้าดารารัศมีส่วนใหญ่มักกล่าวถึงสาเหตุนี้กันทั้งนั้น ซึ่งหากรู้จักจักรวรรดิอังกฤษ รู้จักราชวงศ์วินด์เซอร์ และรู้จักพระนางวิกตอเรียเป็นอย่างดี คงไม่เชื่อหลักฐานนี้
ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้เชื่อข้อมูลดังกล่าว
เมื่อสืบเสาะว่าข้อมูลมาจากไหน อาจารย์สมฤทธิ์ก็พบว่า หนังสือเล่มแรกๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้คือ “เพ็ชร์ลานนา” ของ ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2507 ที่กล่าวว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยผู้เขียนบทความออนไลน์)

“…พ.ศ. ๒๔๒๖ ติดต่อถึง พ.ศ. ๒๔๒๗ เกี่ยวกับข่าวที่เรียกกันในสมัยนี้ว่าข่าวลือลั่นสนั่นเมืองนครเชียงใหม่ แล้วแพร่ออกไปตามหัวเมืองต่างๆ ทางมณฑลพายัพในครั้งกระนั้นว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถวิคตอเรีย กษัตริย์จักรพรรดินีของกรุงอังกฤษ จะทรงขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมีพระราชบุตรีของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรมและสถาปนาเป็น ‘เจ้าในเชื้อพระราชวงศ์อังกฤษ’ เป็นพิเศษ
แล้วจะทรงตั้งเจ้าหญิงดารารัศมีองค์นี้ขึ้นเป็น ‘ปริ๊นเซสออฟเชียงใหม่’ จะทรงยกย่องฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้าหญิงในเชื้อพระราชวงศ์ ‘วินเซอร์’ ของอังกฤษ หรือตรงกับภาษาไทยเราว่า ‘เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่’ ซึ่งหมายมั่นให้เป็น ‘ทายาทที่จะครองเป็นเจ้านครสตรีนครเชียงใหม่ในอนาคต’…”
หนังสือเพ็ชร์ลานนาบอกอีกว่า ข่าวลือนี้เกิดหลังจากพิธีโสกันต์แล้ว และได้แพร่หลายไปทั่วในผู้คนหลายกลุ่ม เช่น ชาวพม่า ต่องซู ไทใหญ่
“…และเรื่องนี้พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ได้ทรงเรียกพวกเฮ็ดแมนอังกฤษ…มาไต่ถามว่าได้ข่าวมาจากไหน?…เฮ็ดแมนชาวไทยใหญ่และต่องซู (ปะโอ) ให้การว่า นายร้อยเอก เซอร์ยอร์ช สก๊อต ผู้สำเร็จราชการอังกฤษเมืองเชียงตุง…ได้ประกาศแก่ชาวเชียงตุงว่าพระนางเจ้าวิคตอเรียพระเจ้ากรุงอังกฤษได้มีพระราชดำริจะขอเอาเจ้าหญิงดารารัศมีมาเป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้วต่อไปเชียงใหม่กับเชียงตุงจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงตั้งเจ้าหญิงดารารัศมีเป็นทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่…”

อาจารย์สมฤทธิ์ระบุอีกว่า ปราณีสร้างความน่าเชื่อถือในข้อมูลของตนเอง โดยอ้างว่าเรื่องนี้ได้ฟังจากปากของ เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ อดีตนายอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรักปราณีประดุจหลานสนิทของท่านคนหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์สมฤทธิ์จึงเชื่อว่า “เพ็ชร์ลานนา” คือที่มาของข่าวลือเรื่องพระนางวิกตอเรียขอเจ้าดารารัศมีเป็นบุตรบุญธรรม เพราะยังไม่พบว่าเคยมีใครกล่าวถึงเรื่องนี้มาก่อน
“ส่วนเจ้าน้อยปิงเมืองจะเล่าเรื่องนี้ให้คุณปราณีจริงหรือไม่ ไม่ทราบ ต่อให้จริงประเด็นคือแล้วเจ้าน้อยปิงเมืองเอาข่าวนี้มาจากไหน? แล้วเหตุใดถึงไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย ยิ่งอ้างว่าลือกันสนั่นเมืองขนาดนั้นคงเป็น ‘talk of the town’ ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เลย
“แม้คุณปราณีจะอ้างอิงตัวบุคคลมายืนยันอย่างไรก็ตาม ผมบอกได้เลยว่าเรื่องข่าวลือที่ว่านี้เป็นเรื่องเหลวไหล ไม่มีความจริง เอาง่ายๆ แค่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ถูกต้องแล้ว ปีที่เจ้าดารารัศมีโสกันต์คือ พ.ศ.๒๔๒๖ ปีนั้นอังกฤษยังไม่ได้ยึดเชียงตุง กว่าจะยึดได้ก็ พ.ศ.๒๔๓๑ ซึ่งเจ้าดารารัศมีได้ถวายตัวไปแล้ว แล้ว เซอร์ยอร์ช สก๊อต จะมาประกาศเรื่องนี้ให้ชาวเชียงตุงใน พ.ศ.๒๔๒๖ ได้อย่างไร?”
เป็นอันคลี่คลายข้อสงสัยในประวัติศาสตร์สยาม-ล้านนา ได้เรื่องหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- เจ้าดารารัศมี “เมียโปลีซี” ของรัชกาลที่ 5
- เปิดเหตุสิ้นพระชนม์ “พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” พระราชธิดา “เจ้าดารารัศมี” ในรัชกาลที่ 5
- เหตุใดรัชกาลที่ 5 ตรัสถึงเจ้าดารารัศมีว่า “ฉันผิดไปเสียแล้ว ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”
- เจ้าดารารัศมี พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2568