ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงเจริญพระชันษาได้ 3 ปี 4 เดือน กับอีก 19 วัน ก็สิ้นพระชนม์ เหตุการณ์นี้ทำให้รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเจ้าดารารัศมี ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยยิ่ง แล้วพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใด?
พระเจ้าลูกเธอ ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ประสูติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดให้มีพิธีขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน
พิธีขึ้นพระอู่เริ่มขึ้นในช่วงเช้า โดยรัชกาลที่ 5 โปรดให้เลี้ยงพระ ณ ตำหนักที่ประสูติ จากนั้นเวลาค่ำ รัชกาลที่ 5 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จลงสมโภชตามโบราณราชประเพณีทั้งแบบไทยและลาว มีบายศรีพื้นเมืองอย่างเชียงใหม่ ทั้งบายศรีโต๊ะเงิน บายศรีโต๊ะทอง
รัชกาลที่ 5 พระราชทานสมโภชสำหรับพระอู่ เป็นทองคำหนัก 5 ตำลึง เงินราง 6 แท่ง เงินวางข้างพระอู่ 10 ชั่ง ขันลงยาสำหรับหนึ่ง กาทองคำกาหนึ่ง แต่เงิน 100 ชั่งได้งดไว้พระราชทานวันอื่น
ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่า พระญาติวงศ์ของพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีมากันพรั่งพร้อมเป็นการครึกครื้น จึงพระราชทานเงินเพิ่มอีก 100 ชั่ง รวมเป็น 200 ชั่ง และโปรดให้ทำ “ชื่อเงิน ชื่อทอง ชื่อนากอย่างลาว” สำหรับผูกพระหัตถ์ข้างละ 3 ข้อ พระบาทข้างละ 3 ข้อ จากนั้นทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือตามประเพณีทางเหนือ
จากนั้นรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” แปลว่า “ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่” เป็นอันเสร็จพิธีขึ้นพระอู่ โดยรัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ว่า “ลูกหญิงวิมลนาค”
ทว่าผ่านไปราว 2 ปีกว่า พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีก็ประชวร และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 ยังความโทมนัสสู่รัชกาลที่ 5 และเจ้าดารารัศมีอย่างยิ่ง
พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใด?
รศ. (พิเศษ) นพ. เอกชัย โควาวิสารัช สูตินรีแพทย์ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพกว่า 35 ปี ได้นำหลักการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์มาวิเคราะห์อาการป่วยของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยอิงจากหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองเท่าที่สืบค้นได้มากที่สุด ได้สันนิษฐานถึงเหตุสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีไว้ในผลงานเล่มล่าสุด “ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
มีเอกสารชั้นต้นเพียงชิ้นเดียวที่กล่าวถึงพระอาการประชวรของพระองค์ไว้ก่อนสิ้นพระชนม์ คือ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 แผ่นที่ 48 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 111 (พ.ศ. 2435) ดังความตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อความสะดวกในการอ่าน-กอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)
“…ข่าวสิ้นพระชนม์
เปนที่อนาถใจ ในการที่พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี มาสิ้นพระชนม์ลงโดยพระโรคอันไม่หวังใจว่า จะทำให้หทัยของพระองค์ ถึงแก่ความทำลายไปได้โดยฉับไว เพราะฉนั้นจึ่งเปนเหตุให้พระบรมวงษานุวงษ์ทรงพระอาไลยโดยมาก
พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ได้ประสูติเมื่อวันพุฒ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู เอกศก ศักราช 1251 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก 108 พระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ประชวรลงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 เวลาเย็น มีพระอาการพระองค์ร้อนเล็กน้อย แลพระอาเจียน
พระสุขมาลบริหารว่าเปนพระโรคเพื่อพระวาโยเปนพิศม์ ได้ประกอบพระโอสถถวาย ครั้นเวลา 2 ทุ่มเศษ บันทมหลับไป จนเวลา 5 ทุ่มเศษ มีพระอาการหนัก ให้กระตุกแลหายพระไทยเหนื่อยหอบไม่สดวก หมอประกอบพระโอสถแก้ก็ไม่สามารถที่จะทำพระโรค ซึ่งเปนอยู่นั้นให้หายฤาทุเลาลงไปได้
หมอรัชได้ตรวจพระอาการว่า เปนพระโรคลมจับหทัย ยังหาทันที่จะประกอบพระโอสถถวายไม่ พอเวลา 5 ทุ่มเศษ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ คำนวณพระชนม์พรรษาตามสุริยคติกาลได้ 3 ปี 4 เดือน กับ 19 วัน ฤานับเรียงวันได้ 1238 วัน…”
รศ. (พิเศษ) นพ. เอกชัย บอกว่า จากการค้นคว้าตำราแพทย์โบราณ ไม่พบว่ามีการเขียนถึงโรค “พระวาโยเปนพิศม์” จึงไม่สามารถชันสูตรได้ว่าคือพระโรคใดกันแน่
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์นักเขียนผู้นี้ได้ชันสูตรพระโรคว่า จากพระอาการที่เริ่มจากมีไข้ บ่งบอกว่าน่าจะมีพระโรคติดเชื้อ และต่อมาทรงชักกระตุก ซึ่งเป็นอาการของระบบประสาท
พระอาการที่ทรงเป็นนี้ สันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ 2 โรค คือ พระโรคเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบ (โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) หรือ พระโรคพระมัตถลุงค์อักเสบ (โรคสมองอักเสบ)
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นสาเหตุของภาวะไข้ร่วมกับอาการ และอาการแสดงของโรคในระบบประสาทส่วนกลางที่พบในเด็ก การติดเชื้อไวรัสของระบบประสาทส่วนกลางพบบ่อยกว่าเชื้อแบคทีเรีย และพบมากกว่าเชื้อรา (Fungus) และเชื้อปรสิต
การติดเชื้อของโรคนี้จะเริ่มต้นที่เยื่อหุ้มสมอง ขณะที่การติดเชื้อของโรคสมองอักเสบเริ่มต้นที่เนื้อสมอง แต่เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองอยู่ชิดติดกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักมีการติดเชื้อทั้งเยื่อหุ้มสมองและเนื้อสมองร่วมกัน
ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มักมีอาการไข้ อาเจียน และปวดศีรษะอย่างรุนแรง แต่ในระยะแรกๆ ของโรคและในเด็กเล็ก อาการและอาการแสดงของโรคมักจะไม่จำเพาะนัก
เมื่อพิจารณาพระอาการของพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีแล้ว รศ. (พิเศษ) นพ. เอกชัย เห็นว่า มีพระอาการหลายอย่างที่ชวนให้สงสัยว่าอาจเป็นพระโรคเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบได้ เช่น มีพระอาการไข้ ทรงอาเจียน ทรงชัก และจากการที่พระอาการของพระองค์ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จึงคิดว่าพระองค์น่าจะเป็นพระโรคเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบ
ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ จึงน่าจะเป็นพระโรคเยื่อหุ้มพระมัตถลุงค์อักเสบ
อ่านเพิ่มเติม :
- 2 ตุลาคม 2432 วันประสูติพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาเจ้าดารารัศมี
- เหตุใดรัชกาลที่ 5 ตรัสถึงเจ้าดารารัศมีว่า “ฉันผิดไปเสียแล้ว ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”
- “ตำหนักเจ้าดารารัศมี” ในพระบรมมหาราชวัง หน้าตาเป็นอย่างไร
- เจ้าดารารัศมี พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใด?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอกชัย โควาวิสารัช. ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2567