“ตำหนักเจ้าดารารัศมี” ในพระบรมมหาราชวัง หน้าตาเป็นอย่างไร

รัชกาลที่ 5 โปรด ให้ สร้าง พระตำหนัก แก่ เจ้าดารารัศมี ตำหนักเจ้าดารารัศมี
รัชกาลที่ 5 และเจ้าดารารัศมี

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ทรงเป็น “พระภรรยาเจ้า” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เมื่อจากหัวเมืองเหนือมาแล้วก็ประทับ ณ พระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง “ตำหนักเจ้าดารารัศมี” มีลักษณะอย่างไร ในเมื่อไม่ปรากฏภาพถ่ายให้เห็น

ตำหนักเจ้าดารารัศมี ปรากฏผ่านการบรรยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมที่ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชาววัง และบรรยากาศในรั้วในวังสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างละเอียดยิ่งเรื่องหนึ่ง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บรรยายถึงตำหนักเจ้าดารารัศมีว่า

“ส่วนตำหนักใหญ่สูงสี่ชั้น มียอดหอคอยกลางที่ช้อยบอกว่าเป็นตำหนักเจ้าดารา นับว่าแปลกกว่าที่อื่นทั้งสิ้น เพราะข้าหลวงนุ่งซิ่นไว้ผมมวย แต่งกายอย่างชาวเมืองเชียงใหม่ พูดภาษาเมืองเหนือทั้งตำหนัก”

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เข้าถวายตัวรับราชการเป็นฝ่ายใน เมื่อ พ.ศ. 2429 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชธิดา คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี เมื่อ พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ก็ทรงโปรดให้สร้างตำหนักพระราชทาน

คราวนั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 พระบิดาในเจ้าดารารัศมี ได้ประทานเงินช่วยในการสร้างตำหนักนี้ด้วย

ตำหนักเจ้าดารารัศมี ในพระบรมมหาราชวัง จึงเป็นอาคารที่มีลักษณะใหญ่โต โอ่โถง สูง 3 ชั้น ตัวอาคารเป็นศิลปะแบบตะวันตก ผสมผสานระหว่างศิลปะแบบอิตาเลียนเรเนสซองส์กับศิลปะแบบตะวันออกบางส่วน เช่น หลังคาปั้นหยา มีกระเบื้องดินเผาประดับตกแต่ง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สี่แผ่นดิน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, พิมพ์ครั้งที่ 15, 2554

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “สี่แผ่นดิน” กับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567