“8 ผลไม้” ที่เก็บภาษีสมัยรัชกาลที่ 4 มีอะไรบ้าง?

เกษตรกร 8 ผลไม้ เก็บภาษี สมัยรัชกาลที่ 4
กลุ่มเกษตรกรที่ทุ่งหันตรา พระนครศรีอยุธยา, ปี 2498 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

“8 ผลไม้” ที่เก็บภาษีสมัยรัชกาลที่ 4

เคยกล่าวถึง “9 ผลไม้” ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเก็บภาษีไปแล้ว (อ่าน คลิก) ครั้งนี้จึงจะมาพูดถึง “8 ผลไม้” ที่เก็บภาษีในสมัยรัชกาลที่ 4 บ้าง พร้อมบอกเกณฑ์ในการเก็บภาษีที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น…

ผลไม้ที่เก็บภาษีในสมัยรัชกาลที่ 4 มี 8 ชนิด ได้แก่… หมาก, มะพร้าว, พลู, มะม่วง, มะปราง, ทุเรียน, มังคุด และสุดท้ายคือ ลางสาด

โดยรัฐมีเกณฑ์การเก็บภาษี 8 ผลไม้ ดังนี้

หมาก

หมากใช้ความสูงเป็นเกณฑ์หลัก

หมากเอก สูง 3 วา 4 วา ให้เก็บต้นละ 50 เบี้ย ถ้า 100 ต้น เก็บ 3 สลึง 200 เบี้ย

หมากโท สูง 5 วา 6 วา เก็บต้นละ 40 เบี้ย ถ้า 100 ต้น เก็บ 2 สลึงเฟื้อง

หมากตรี สูง 7 วา 8 วา เก็บต้นละ 30 เบี้ย ถ้า 100 ต้น เก็บ 1 สลึงเฟื้อง 600 เบี้ย

หมากผกา ให้เก็บเท่าหมากโท เก็บต้นละ 40 เบี้ย ถ้า 100 ต้น ให้เก็บ 2 สลึงเฟื้อง

หมากกรอก ไม่ให้เก็บเป็นเงิน แต่เก็บเป็นผล หมาก 1 ต้น เก็บอากร 11 ผล

หมาก
หมากสง (ขวา) หมากสุก (ซ้าย) หมากสวนคลองบางประทุน

มะพร้าว

ถ้าขนาดเล็ก คือ ตั้งปล้องสูงหนึ่งศอกขึ้นไป อากรจะเท่ากับหมากเอก เก็บต้นละ 50 เบี้ยเท่ากัน ส่วนมะพร้าวที่สูงคอดคอเรียวชายเอนไม่ต้องเก็บภาษี ส่วนการเก็บแบบเดินสวนระบุไว้ว่า เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2397 

มะพร้าวขนาดใหญ่ สูง 8 ศอกขึ้นไป เก็บอากรต้นละ 100 เบี้ย ถ้า 8 ต้น เก็บ 1 เฟื้อง

มะพร้าวที่มีน้ำมันเฉลี่ย ตั้งปล้องสูง 1 ศอกขึ้นไปถึง 7 ศอก ยังไม่เก็บอากร เริ่มเรียกเก็บ พ.ศ. 2397 ส่วนน้ำมันเฉลี่ยยังไม่เก็บอากร

มะพร้าวมูลสีนาฬิเกหงสิบบาท ไม่เก็บอากร มีเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายและเป็นของกำนัล

พลู

พลูจะนับบริเวณ “ค้าง” หรือไม้หลักสำหรับให้ไม้เลื้อยขึ้นไป สูง 7 ศอก 8 ศอกขึ้นไป คิดเป็นพลูใหญ่ คิดอัตราค้าง คิด 4 ค้าง เสียอากรเฟื้อง ถ้า 100 ค้าง เสียอากร 3 บาทเฟื้อง แต่ถ้าสูง 5 ศอก 6 ศอก จะเป็นพลูเล็ก ไม่เก็บค่าอากร (แต่เริ่มเก็บ พ.ศ. 2397)

ทุเรียน มะม่วง มังคุด มะปราง และลางสาด ใช้ความสูงและความกว้างของโคนเป็นหลัก โดย “ทุเรียนและมะม่วงวัดตั้งแต่โคนต้นขึ้นไปสูง 3 ศอก สูงขึ้นไปเพียงตาโอบรอบ 3 กำ ให้คิดเป็นต้นใหญ่ เก็บอัตราต้นละ 1 บาท

ส่วนมะม่วงเก็บอัตราต้นละเฟื้อง ถ้าทุเรียนและมะม่วง มีขนาดโอบรอบไม่ถึง 3 กำลงมา จนถึง 2 กำ ให้ถือเป็นขนาดเล็ก ยังไม่เก็บอากรให้เก็บในปีรุ่งขึ้นคือ พ.ศ. 2397”

ทุเรียน
ภาพประกอบบทความ (จากห้องสมุดภาพมติชน)

มะปรางก็เหมือนทุเรียน แต่คิด 2 ต้น เก็บ 1 เฟื้อง

มังคุด ลางสาด เช่นกัน วัดจากความสูงและความกว้างเป็นหลัก โอบ 2 รอบ คิดเป็นต้นใหญ่ เก็บ 1 เฟื้อง

ส่วนส้มที่เคยเก็บภาษีในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ปรากฏการเก็บภาษีในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะเหตุใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://old-book.ru.ac.th/e-book/h/HI322/hi322-part4-9.pdf


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2567