ฝรั่งตามขุนนางไปเก็บภาษีหัวเมืองใต้ 170 ปีก่อน บันทึกการเดินทาง-สภาพบ้านเมืองอย่างไร?

ภาพลายเส้นเมืองสงขลา-ช่องเต็นตามเล็ม (ภาพจาก“ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” )

ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 ราชสำนักสยามต้องเดินทางไปหัวเมืองทางใต้ เช่น ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สงขลา ฯลฯ เพื่อเก็บภาษีอากรประจำปี โดยใช้เรือเป็นพาหนะ ซึ่งมีชาวต่างชาติร่วมเดินทางและได้บันทึกเหตุการณ์ไว้

ชาวต่างชาติที่ว่าคือ นายเฟรริค อาร์เธอร์ นีล ชาวอังกฤษที่รักการท่องเที่ยวและการแสวงหาความรู้ เดินทางมายังกรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ภายหลังรับราชการในกรมทหาร ตำแหน่งราชองครักษ์เจ้าฟ้าจุฑามณี (ภายหลังสถาปนาเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) บันทึกเรื่องต่างที่เขาพบเห็นและมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือภายหลัง

หนังสือของนายนีลชื่อว่า “Narrative of a Residence in Siam”  ตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2395 (ค.ศ.1852) โดยรวบรวมจากประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็น และค้นคว้าอ้างอิงเพิ่มเติมจากหนังสือของชาวต่างชาติ, บาทหลวงที่เดินทางเข้ามาไทยก่อนหน้า หนังสือของเขาได้แปลเป็นภาษาไทยโดยเรือเอกหญิงลินจง สุวรรณโภคิน ใช้ชื่อว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” (กรมศิลปากร 2525) ซึ่งขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอ (โดยมีการจัดวรรคตอนใหม่เพื่อสะดวกในการอ่าน) ดังนี้

ประมาณ 3 วันก่อนที่เรือเซอร์ วอลเตอร์ สก็อต [เรือราชฤทธิ์] จะขนสินค้าจากจันทบูรณ์เสร็จสิ้น และออกจากแหลมสิงห์กลับบางกอก ก็มีเรือรบไทยอีกลําหนึ่งคือเรือวิคทอรี่ [เรือวิทยาคม] แวะมาหาเพื่อเยี่ยมเยียนและถามทุกข์สุข แล้วก็เติมน้ำเติมเสบียงขึ้นเรือของตัวเองอยู่ จุดหมายของเรือลํานี้ก็คือเมืองตรังกานูซึ่งเป็นเมืองสําคัญของมณฑลชื่อเดียวกันนี้ อยู่ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของแหลมมะลายู อยู่ที่ตําแหน่ง 5 องศา 20 ลิบดาเหนือ (เกือบจะขนานกันกับเกาะปีนัง) และตําแหน่ง 103 องศา 00 ลิบดา ตะวันออก เมืองนี้เป็นเมืองขึ้นของกรุงสยามมานานแล้ว

และเหตุที่เรือวิคทอรี่ [เรือวิทยาคม – กัปตันชื่อโรเยอร์] ออกเดินทางไปครั้งนี้ก็เพื่อไปเก็บภาษีอากรประจําปี และกัปตันเรือรบก็ตั้งใจจะออกสํารวจหมู่เกาะหลายเกาะทางฝั่งตะวันตกของอ่าวสยาม ก่อนจะลงไปตรังกานู และเขาก็ทราบว่าข้าพเจ้าเคยวาดรูปอยู่บ้างตามแบบของข้าพเจ้าเองที่ไม่ค่อยเป็นเรื่องนัก แต่กัปตันก็ยังอยากชวนให้ข้าพเจ้าไปกับเรือของเขาด้วย ในที่สุดข้าพเจ้าก็ตอบตกลงด้วยความยินดี

เราแล่นเรือออกจากแหลมสิงห์มุ่งตรงไปยังเกาะบาร์เดีย (1) (คือชุมพร) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองชุมพร ข้าพเจ้าคงจะเสียใจไม่น้อยถ้าหากไปอยู่ที่อื่นเสียที่ไม่ใช่บนเรือรบลํานี้ที่มีอาวุธครบทันสมัยและเป็นเรือที่มีระเบียบวินัยมาก ลูกเรือและนายทหารได้รับการเลือกเฟ้นอย่างดีที่สุด ทั้งเรือรบลํานี้ก็เป็นลําที่มีประสิทธิภาพที่สุดลําหนึ่งของราชนาวีสยาม เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อันทันสมัยทุกอย่าง

ภาพลายเส้นเมืองชุมพร (ภาพจาก“ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” )

สภาพอากาศในอ่าวสยามตลอดระยะเวลาการเดินทางนั้นไม่ค่อยดีเท่าใดนัก ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ ก็พบกับฝนและมรสุมมาเรื่อยๆ ระหว่างทางไปเกาะแถวๆ ชุมพร ขณะที่ข้ามอ่าวไทยมาได้ครึ่งทาง เช้าวันหนึ่งเราก็เจอพายหนักที่สุดในอินเดีย เราเรียกกันว่าพิชาช์ (Pishash) หรือลมนรก แต่โชคยังดีที่มันพัดผ่านไปรวดเร็วมาก แล้วก็พัดหนักอยู่ไม่กี่นาที พอลมนี้ผ่านไปทุกสิ่งทุกอย่างก็คืนสภาพสู่ปกติ ทะเลสงบราบเรียบ หลังจากนั้นเรากินอาหารเช้ากัน

ชายคนที่ถือพังงาเรือก็แหงนดูเสากระโดง เขาแลเห็นนกกระจอกชวายืนเกาะอยู่ ข้าพเจ้าแลเห็นกัปตันเรือเดินเล่นอยู่แถวๆ ท้ายเรือ เดินสูบซิก้าอย่างสบายใจหลังอาหารเช้า ข้าพเจ้าเองนั่งอยู่ใต้กันสาดท้ายเรือ พยายามวาดรูปตาแก่ช่างไม้ชาวจีนในขณะที่เขานั่งมองดูทะเลโดยไม่รู้ตัว

พวกสรั่งเรือก็กําลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับการสอนเด็กๆ ให้หัดผูกเชือกเรือ พวกคนอื่นก็พยายามจับปลา อีกสองสามคนก็ช่วยกันขัดเสาให้มันสะอาดแล้วเอาน้ำมันดินทาสายใบเรืออยู่ พ่อครัวตัวดําคนหนึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อสีดํายิ่งกว่าตัวเขา แต่กําลังจะเปลี่ยนเป็นสีขาวเหมือนเหล็กที่ร้อนๆ กําลังเอาปีกไก่ที่เขาเพิ่งฆ่าไปหยกๆ มากะพือแทนพัด มีนายทหารนั่งเข้าเวรรักษาการณ์อยู่แถวหัวเรือ

มีหมู 2 ตัวที่เขายอมให้ขึ้นมาเดินเพ่นพ่านอยู่บนดาดฟ้าเรือมันก็หาที่ร่มๆ นอนเหมือนกัน ส่วนเป็ดไก่ในเรือนั้นมันช่างทนความร้อนกันได้ดีเสียจริงๆ ไม่ได้ยินแม้แต่เสียง มีกลาสีคนหนึ่งนั่งอยู่บนใบเรือ วุ่นวายอยู่กับการดึงเอาฟางเก่าๆ ออกมาจากริมหมวกของเขา ในขณะนั้นก็มีไก่ตัวหนึ่งหนีออกมาจากกรง ค่อยๆย่องหนีออกมาจากข้างเรือ ก็มายืนขาเดียวอยู่ข้างๆ เรือบดแล้วก็ผงกหัวทั้งกรงอย่างเชื่องซึมเต็มที่ สภาพแบบนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในตอนเช้า โดยไม่ได้รับเตือนมาล่วงหน้าเลยว่ามีลมพายุมาใกล้เรืออีกแล้ว

คนจีนเป็นคนแรกที่รู้สึกว่ามีพายุ ข้าพเข้าเห็นเขาดูหน้าตาซีดเหมือนผี และในที่หมวกของเขาก็ปลิวไปตกลงทางข้างเรือ ไม่เคยมีเสียงอะไรดังอย่างนี้มาก่อน แม้แต่เรือโนอาก็ตามเถิด ทุกคนต่างก็พากันหาที่ยึดกันไว้ให้แน่นเพื่อให้ แน่ใจว่าจะได้ช่วยให้ความปลอดภัยกับเขาได้ สักนาทีหนึ่งต่อมาลมก็เริ่มพัดเสียงดังหวิวโหยหวน ใบเรือทั้งสามใบก็สบัดไปมาอย่างแรงข้าวของก็ถูกลมพัดกระจัดกระจายไปทั่ว บ้างก็ตกไปในน้ำ ผู้คนก็ตะโกนส่งเสียงกันลั่น รวมทั้งหมูไก่ก็พากันร้องระงม

ทุกสิ่งทุกอย่างดูมันโกลาหลไปหมด ชะนีตกลงไปในน้ำ ใบเรือหน้าขาดไม่เป็นชิ้นดี ใบเรือใบใหญ่ก็ขาดวิ่น ใบเรืออีก 3 อันก็อยู่ในสภาพคล้ายๆ กัน  พ่อครัวเข้าไปอยู่ใต้เตาในครัว ตาแก่จีนคนนั้นก็ยังห้อยอยู่บนเชือกไก่แก่ตัวนั้นก็หล่นลงไปในน้ำ  ตัวข้าพเจ้าเองนั้นหลบอยู่ใต้ชายคาทางด้านหลังเรือ กอดไม้กวาดไว้แน่น เพราะตอนที่เกิดชุลมุนวุ่นวายกันนั้น ข้าพเจ้านึกว่าเป็นราวเหล็กท้ายเรือก็เลยจับเอาไว้เสียแน่น

ในเวลาต่อมาก่อนที่เราจะรู้ว่าเราอยู่ในสภาพใดว่ายืนอยู่หรือห้อยหัว แต่เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่ละคนอยู่ในสภาพอย่างไร รวมทั้งเห็นเพื่อนๆ ต่างคนต่างก็จ้องมองดูกันแล้วก็อดเสียที่จะหัวเราะด้วยความขบขันไม่ได้ สิ่งที่หักพังก็ได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม ในเรือวิคทอรี่ [เรือวิทยาคม] เองก็ไม่ได้ใช้ใบแล้ว ฉะนั้น 3 วันหลังจากเกิดเหตุ เราก็มาทอดสมออยู่ระหว่างเกาะแถวชุมพร และชุมพรบริเวณแถวนั้นน้ำลึกราว 7 ฟาธอมครึ่ง น้ำก็ใสพื้นใต้น้ำเป็นดินโคลน

ทางฝั่งตะวันตกของเกาะบาร์เดียนี้ เกือบจะตรงข้ามกับชุมพร มีหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่ง ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนมีอัธยาศัยดีและขยันขันแข็ง ในท้องนาใกล้ๆ นั้นก็มีหมู เป็ด ไก่ แพะ และมีวัวสองสามตัว แต่เราก็ยังไม่อยากได้ไข่สดหรือนมหรือแม้แต่เนย ระหว่างที่เราพักอยู่ที่นั้น พวกผู้ชายก็ดูหน้าตาดีกว่าจนแทบไม่มีเค้าของชาวมะลายูเลย พวกผู้หญิงและเด็กก็ดูหน้าตาดีกว่าและไม่มีรูปหน้าเหมือนมะลายูเลย รูปร่างก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคนพื้นเมืองแถวชุมพรนี้คงไปแต่งงานกับชายและหญิงชาวเมืองตะนาวศรี ซึ่งคนพวกหลังนี้สืบเชื้อสายมาจากคนอินเดียบางวรรณะ เช่น พวกเจนตู ฯลฯ พวกเจนตูนี้ถึงแม้ผิวจะคล้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นคือรูปร่างสง่าภาคภูมิ

ในเกาะบาร์เดียนั้น เราเห็นว่ามีพืชผักอุดมสมบูรณ์และราคาถูกด้วย ดอกไม้ป่าก็มีขึ้นมากมายหลายชนิด พวกนกสวยๆ และผีเสื้อนั้นในแถบนี้ไม่ค่อยจะมี ชุมพรอยู่ขึ้นไปจากแม่น้ำท่ายุง (Tayung) (2) ราว 7 ไมล์ เราไปแวะเมืองนี้สองสามครั้ง และซื้อพวกเครื่องหนังมาจากชาวบ้าน ของเหล่านี้เป็นของหายากพอดู โดยเฉพาะพวกหนังกระรอก ข้าพเจ้านั่งพิจารณาดูว่าแม่น้ำท่ายุง (Tayung) นี้ อาจจะให้พวกเรือที่มีระวางขับน้ำขนาดกลางล่องขึ้นไปได้จนถึง เมืองรินโดนี (Rindoney) [น่าะเป็นระนอง] ทางฝั่งตะวันตก และถ้าทําได้ก็จะช่วยย่นระยะทางเดินเรือจากเมืองมาดราสและกัลกัตตาที่จะไปยังเมืองจีนได้มากขึ้น

เราพักอยู่ที่เกาะบาร์เดียราวๆ สองสัปดาห์ จากนั้นก็แล่นใบเรียบฝั่ง ตรงไปยังเมืองตรังกานูผ่านเมืองพงัน (Sancori) (3) และแหลมขนอม (Carnon) ลมขณะนั้นพัดปานกลาง เราก็แล่นผ่านช่องแคบอยู่ระหว่างนครศรีธรรมราช (Ligor) และหมู่เกาะตันตาเลม (Tamtalem) บางแห่งการเดินเรือก็ค่อนข้างน่ากลัว เพราะเต็มไปด้วยโขดหิน แต่คนนำร่องของเราเคยผ่านทางนี้มาแล้วด้วยเรือเล็ก เขาก็เลยอาสานำเรือ ทิวทัศน์แถบนทั้งสองฟากดูใหญ่โตมาก

ทางฝั่งเมืองนครศรีธรรมราชเก่า ทิวเขาก็แสดงความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันคือ ทางยอดเขานั้นรู้สึกโล่งเตียนไม่เหมือนทานต่ำกว่า ที่อุดมสมบูรณ์ของเกาะตันตาเลม (Tantalem) นอกจากนั้นยังมีอ่าวเล็กๆ และเมืองตาลุง (Talung) [พัทลุง] ราว 4 โมงเย็น เราก็มาถึงนอกเมืองสงขลา (Sangora) ที่เมืองนี้เองทําให้นี้เอง ในเมืองนั้นพากันหวาดกลัว เพราะเรายังสลุตด้วยปืนใหญ่ 21 นัด เสียงของปืนดังสะท้อนไปทั่วทุกทิศ ในไม่ช้าเสียงก็ค่อยๆ หายไป ตัวเจ้าพระยานครบอกสั่งงดการล่องเรือพระราชพิธี และกลับมุ่งหน้าตรงมาหาเราเพื่อไต่ถามเรื่องนี้ และความตกใจก็เปลี่ยนเป็นความสุขและขอบอกขอบใจ เมื่อกัปตันเอสแจ้งว่าเป็นการยิงสลุตให้กับเจ้าพระยานคร

ท่านขอให้เราจอดอยู่ 2-3 วัน แต่กลับปรากฏว่ามีลมดีพัดมาออกจะดีเกินกว่าที่เราจะยอมเสียเวลา เราจึงขอร้องให้เขาช่วยส่งจดหมายต่อทางบกไปให้ถึงเมืองเคดะห์ (ไทรบุรี) และปีนังให้ได้ ลมพัดเราออกไปอ้อมแหลมที่อยู่ตรงข้ามหลังสวน (Lun Sun) มุ่งหน้าออก ไปยังเกาะโลซิน และต่อจากนั้นก็มุ่งหน้าลงไปปัตตานี เรือวิคทอรี่แล่นราวกับแม่มดเหาะไปกลางอากาศเพราะลมพัดแรง ทําให้เรือวิ่งเร็วเหมือนอยู่บนผิวน้ำ

ในตอนเช้าเราก็แลเห็นแผ่นดินแล้ว ซึ่งทําให้กัปตันแปลกใจมาก จากการคํานวณของเขาเราควรจะเห็นฝั่งก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แต่เมื่อฟ้าสางก็เห็นเกาะโลซินอยู่ไกลลิบทางท้ายเรือ แต่กัปตันก็พอใจในตําแหน่งที่ของเรือในขณะนี้ เรือก็แล่นไปค่อยๆ จนได้ลมดี เราอยู่ตรงทางระหว่างเกาะซานติงโก (Santingo) และโรดังใหญ่

เมื่อสายเข้าลมก็พัดแรงขึ้นเป็นลําดับจนแรงขึ้นทุกทีเป็นลมพายุ เราเริ่มลดใบลงเรื่อย ๆ จนเหลือใบเพียง 2 ใบเท่านั้น เรือโคลงไปตามพายุคลื่น และพอตกเที่ยงก็เห็นเกาะโรดังใหญ่ ตอน 3 โมงครึ่ง เราก็เข้าไปในช่องแคบ แต่เรือก็ยังโคลงอยู่ เวลา 6 โมงเราก็จอดทอดสมออยู่ในที่กําบังลมอย่างดีของเกาะเล็กๆ นอกฝั่งเมืองตรังกานู

ในเช้าวันรุ่งขึ้นอากาศก็ค่อยๆ สงบ เราจึงออกเดินทางต่อไปในเมืองซึ่งห่างจากที่จอดประมาณ 25 ไมล์ เราถึงเมืองในตอนเที่ยง ข้าพเจ้าเองรู้สึกผิดหวังในตอนที่ลงเรือเล็กขึ้นบกว่า เจ้าเมืองได้เตรียมของขวัญไว้สําหรับการมาถึงของเรา แต่ก็ไม่มีอะไรจะหยุดเราได้ เราก็หาเสบียงและน้ำจืดลงเรือ เราเดินเตร่ออกไปทั่วตัวเมือง เป็นเมืองที่จัดเป็นระเบียบเรียบร้อย มีสวนผลไม้แวดล้อมเต็มไปหมด ชาวเมืองทั้งหญิงชายดูหน้าตาผ่องใสและมีความสุขดี

เรารับประทานอาหารค่ำกับเจ้าเมือง และยังไปเยี่ยมชมโรงสําหรับเก็บสินค้าเข้าและสินค้าออกทุกอย่าง โรงพักสินค้านี้เป็นของเจ้าเมือง ซึ่งเป็นพ่อค้าของเมืองนั้นด้วย และควบคุมกิจการค้าแต่ผู้เดียว ในโรงเก็บสินค้านี้มีสินค้าของแปลกๆ มากมายหลายอย่าง และที่แปลกที่สุดก็คือมีของเล่นจากเมืองจีนอยู่มาก ซึ่งเจ้าเมืองก็เล่าให้เราฟังว่าเป็นสินค้าที่ทําเงินให้ได้มากที่สุด เด็กๆ ตั้งแต่ 5 ขวบจะรู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นรถคันเล็กๆ วิ่งไปได้ด้วยสปริงไขลานเหมือนลานนาฬิกา

ในคืนนั้นเราก็ออกเดินทางต่อแล่นใบกลับเมืองสยาม และก็มาจอดทอดสมออยู่หน้าวังของเจ้าฟ้าจุฑามณี

วังเจ้าฟ้าจุฑามณี (ภาพจาก“ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” )

(1) น่าจะเป็นเกาะชุมพร “ประวัติการทหารเรือของไทย” – ผู้แปล

(2) เกาะพงัน-ประวัติการเรือไทย” พลเรือตรี แชน ปัจจุรานนท์ หน้า 315

(3) TAYUNG น่าจะเป็นท่ายาง – ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2562