ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การเก็บภาษีเป็นรายได้อย่างหนึ่งของราชสำนัก อย่างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีการเก็บภาษีผลไม้ตามสวน 9 ชนิด ทั้งในสวนใน ได้แก่ ในกรุงเทพมหานครและพื้นที่แขวงเมืองนนทบุรี สวนนอก ได้แก่ สวนเมืองสมุทรสงคราม, ราชบุรี, เมืองนครชัยศรี, สาครบุรี (สมุทรสาคร), เมืองเพชรบุรี และเมืองฉะเชิงเทรา
9 ผลไม้ที่เก็บภาษีในรัชกาลที่ 3
ผลไม้ดังกล่าวมี หมาก, มะพร้าว, พลู, มะปราง, มะม่วง, ทุเรียน, มังคุด, ลางสาด และส้ม
ระบุไว้เพียงแค่นี้ว่าต้องเก็บภาษี ส่วนผลไม้ชนิดอื่น ๆ ไม่ปรากฏข้อมูลการบัญญัติกฎหมายอะไร
ผลไม้แต่ละชนิด จะเก็บภาษีต่างกันไป อย่าง มะพร้าว, มะม่วง, มังคุด, ทุเรียน, ลางสาด, มะปราง และพลู ไม่ได้แยกสายพันธุ์ในการเก็บภาษี
แต่หมากและส้มนั้นจะมีรายละเอียดยิบย่อยมากมาย เช่น หมากเอก หมากโท ภาษีก็จะไม่เท่ากัน หรือ ส้มโอ ส้มแก้ว ส้มเปลือกบาง ก็เก็บภาษีไม่เท่ากันเพราะคนละสายพันธุ์
วิธีการเก็บภาษีในสมัยนั้น ถ้าได้ฟังก็คงตกใจไม่น้อย เพราะต้องใช้คนจากราชการเดินตามสวน นับผลไม้ทีละต้น เนื่องจากผลไม้เหล่านี้เป็นผลไม้ยืนต้น นับได้ไม่ยากนัก
แต่จะลำบากตรงต้องนับพลู เพราะเป็นไม้เลื้อย เลยจะนับบริเวณ “ค้าง” หรือไม้หลักสำหรับให้ไม้เลื้อยขึ้นไปนั่นเอง
นอกจากนี้ก่อนจะเดินรังสวนวัด ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ยังต้องมีหนังสือถวายสัตย์สาบานตนด้วยว่า…
“…ชีวิดข้าพระพุทธเจ้าอันมิได้ซื่อตรง จงวินาศฉิบหาย ตายด้วยอัสนีบาตสายฟ้าฟาดไฟฟ้าราชสถาวุธดาบองครักษจักนะราย กระบือ เสี่ยวช้างแทงจรเข้เสือสัตวในบกในน้ำ จงพิฆาตขบฆ่าข้าพระพุทธิเจ้าให้สิ้นชีวิด… จงปรจักแกตาโลกย์ ใน ๓ วัน ๗ วัน แล้วลงไปเกิดในมหานะรกหมุกไม่ อยู่สิ้นแสนกัลป์ คัรนสิ้นกำม์ในที่นั้นแล้ว ไปเกิดในภพใดๆ อย่าให้ภบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆเจ้าซึ่งจมาโปรดข้าพระพุทธิเจ้านั้นได้เลย”
เพื่อย้ำเตือนให้คนที่ออกไปปฏิบัติงานเก็บข้อมูลภาษีได้ครบถ้วน ไม่ขาดหรือเกิน ต่อแผ่นดิน
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระนั่งเกล้าฯ” พระราชนัดดาองค์โปรดใน ร.1 ด้วยมีพระพักตร์คล้ายกัน?
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กษัตริย์ผู้ปราศจาก “ช้างเผือก” ไร้ช้างแก้วประจำรัชกาล
- สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/17177-จดหมายเหตุ-รัชกาลที่-3-เล่ม-5
https://www.matichonweekly.com/column/article_406120
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567