ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554 |
---|---|
ผู้เขียน | จริยา นวลนิรันดร์ |
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์จักรพรรดิราชผู้ปราศจาก “ช้างเผือก” ไร้ “ช้างแก้ว” ประจำรัชกาล แต่พระบารมีของพระองค์ก็มิได้เสื่อมลง
ปราบดาภิเษกเจ้า ธรณินทร์
กรมเจษฎาบดินทร์ กล่าวอ้าง
ปราชญ์ใดได้สดับยิน ดีช่วย เติมนา
เฉลิมพระเกียรติเจ้าช้าง เผือกผู้พึงฟัง
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พ.ศ. 2363 [1]
โคลงยอพระเกียรติข้างต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2330-94, ครองราชย์ พ.ศ. 2367-94) ทรงพระราชนิพนธ์ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในพระราชวโรกาสที่มี “ช้างเผือก” มาสู่พระบารมีมากถึง 3 ช้าง อันเป็นที่มาของพระนาม “พระเจ้าช้างเผือก” ของสมเด็จพระราชบิดา
ความในพระราชนิพนธ์แสดงการน้อมรับว่า ช้างเผือก เป็นหนึ่งในเครื่องแสดงบุญญาบารมีขององค์จักรพรรดิราช อันประกอบด้วย จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว และดวงแก้ว ตามคติในคัมภีร์ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา
ครั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรอคอยที่จะมีช้างเผือกคู่บารมีของพระองค์ แต่ตลอดรัชสมัย กลับพบแต่ช้างสีประหลาด 20 ช้าง ดังที่ตรัสว่า “จะหาช้างสำคัญสักช้างหนึ่งก็ไม่ใคร่จะได้เอาเลย จะได้ก็เป็นแต่สีประหลาดบ้างเล็กน้อย” [2] ที่พอจะตัวขาวบ้าง ก็กลับมีสีดำที่ตา เล็บ ขน และหาง ถึงจะมีคนกราบทูลว่า “กลิ่นตัวเหม็นคาวเป็นช้างโรค” ก็ทรงแย้งว่า เป็น “ช้างเผือกหางดำไม่ได้หรือ” โปรดเกล้าฯ ให้สมโภชเป็นพระยามงคลนาคินทร์ได้ไม่นานก็ล้ม [3]
หากสิ่งเร้นลับมีอิทธิพลต่อคนสยามในยุคนั้น เมื่อมีปัญหาเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติหรือโรคร้ายนานา สาเหตุของปัญหาก็คงจะมุ่งไปที่องค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว และรัชสมัยของพระองค์ก็คงไม่อาจยั่งยืนได้ แต่ความเป็นจริงแล้ว รัชสมัยนี้ไม่มีกบฏชาวนาแม้แต่ครั้งเดียว แม้บางปีจะมีข้าวยากหมากแพงและต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น แต่ราษฎรก็ไม่คิดว่าเป็นอาเพศ ที่เกิดจากความไร้ช้างเผือกของพระเจ้าแผ่นดิน
สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าในรัชสมัยนี้ สิ่งเหนือธรรมชาติไม่อาจบงการชีวิตของผู้คนได้ หรืออีกนัยหนึ่งระหว่างปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติกับผลงานทางเศรษฐกิจที่พิสูจน์ได้ คนสยามเลือกประการหลัง
ในสมัยโบราณ ความเชื่อโชคลางมีอิทธิพลที่สามารถบงการชีวิตผู้คนให้เกิดเหตุร้ายและดีได้ ไม่เว้นแม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงกริ่งเกรงจะถูกชี้ชะตาเช่นเดียวกัน ดังใน พ.ศ. 2377 เพียงแค่ยอดพระเจดีย์ใหญ่ 3 องค์ที่วัดพระเชตุพนฯ เอียง พระองค์ยังไม่เสด็จออกว่าราชการถึง 2 วัน เพราะทรงไม่สบายพระทัยและวิงเวียนพระเจ้า ตรัสว่า
“ช่างกระไรเลย เอียงหมดทั้ง 3 องค์ทีเดียว จะเหลือให้สักองค์หนึ่งก็ไม่ได้” [4] ยิ่งไม่มีช้างเผือก จะยิ่งบั่นทอนกำลังพระทัยสักเพียงใด แม้เจ้านายชั้นสูงจะพยายามตีความปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอื่นที่เกิดในรัชสมัยนี้ว่าเป็นสิ่งเสริมบารมีของพระองค์ เช่น แผ่นดินไหวหลังจากพิธีราชาภิเษก “เพียงทรงจักรแก้วแผ้วพื้นแผ่นดินเลื่อน…ด้วยผลบารมีสามสิบทัศ” [5] และแผ่นดินไหวใน พ.ศ. 2376 ถึง 2 ครั้งซ้อนว่าหมายถึง “พระบารมีจะยืนยิ่งเป็นมิ่งมงกุฎกรุง” [6] อันเป็นการให้กำลังพระทัยแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะหักล้างความเชื่อเรื่องช้างเผือกได้
ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้ทรงย่อท้อ ทรงใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี ทรงงานหนัก ตรงต่อเวลา และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยใช้เวลาถึง 8-11 ชั่วโมงต่อวัน [7] ในการบริหารงานแผ่นดิน อาทิ ประชุมขุนนาง พิจารณาฎีกา และใบบอกต่างๆ อย่างละเอียด
จนกระทั่งได้รับการยอมรับว่ารัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศมีเศรษฐกิจที่มั่งคั่งเหนือกว่ารัฐใกล้เคียงทั้งหมด ข้อเท็จจริงจึงมีอยู่ว่า แม้ไม่มี “ช้างแก้ว” ประจำรัชกาล เงินทองก็สามารถบันดาลความสุขให้ราษฎรได้ [8]
อย่างไรก็ตาม กว่าที่พระองค์จะทรงเอาชนะกับคติความเชื่อที่ครั้งหนึ่งพระองค์และราษฎรเคยน้อมรับนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ไม่อาจหักหาญความเชื่อเดิมได้อย่างสิ้นเชิง แต่พระองค์ก็ได้ทรงลดทอนความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ ให้เปลี่ยนมาเป็นความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพที่จะ แสวงหาทรัพย์สินเงินทอง ดังคำที่มักตรัสอยู่เสมอคือ “ให้ทำมาหากิน…ซื้อขายสิ่งของสารพัด” [9]
ครั้นล่วงเข้ารัชสมัยมาได้ 20 ปี มีรายงานว่าได้พบช้างเผือกที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ก็มิได้ทรงกระตือรือร้นที่จะรับช้างนั้นมาสมโภชเหมือนครั้งก่อน ทรงพระสุบินและทำนายด้วยพระองค์เองว่า ช้างนั้นไม่ใช่ช้างเผือกบริสุทธิ์ [10] ซึ่งแสดงว่า ไม่ว่าช้างนั้นจะเป็นช้างเผือกจริงหรือไม่ ก็ไม่ได้ทำให้ทรงหวั่นไหวพระทัย หรืออีกนัยหนึ่ง ถึงไม่มีช้างเผือก พระบารมีของพระองค์ก็มิได้เสื่อมลงแต่อย่างใด เพราะมีพระปรีชาสามารถ มีพระสติปัญญาเป็นเลิศ และทรงมีไหวพริบรู้เท่าทันอารยประเทศ [11]
ผลงานของพระองค์เทียบได้กับองค์จักรพรรดิราชแล้ว ดังที่รับสั่งเมื่อใกล้สวรรคตใน พ.ศ. 2393 ว่า “ขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติก็ปรากฏไปทั่วนานาประเทศ” [12]
อ่านเพิ่มเติม :
- รัชกาลที่ 3 ทรงพระประชวรเมื่อเจดีย์ที่วัดโพธิ์ เกิดเอียง
- สื่อนอกอ้าง รัชกาลที่ 3 อยากให้พระราชโอรสครองราชย์ แต่ขุนนางใหญ่ไม่เห็นชอบ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
[1] สันนิษฐานว่าทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2363 เนื่องจากบรรยายเหตุการณ์จบที่ทูตโปรตุเกสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีใน พ.ศ. 2363. ดูรายละเอียดใน นุชนารถ กิจงาม. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก : ประวัติศาสตร์จารีตประเพณีจากพระราชนิพนธ์ยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546), น. 43.
[2] หลวงอุดมสมบัติ. จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530), น. 225.
[3] ปี พ.ศ. 2377 ดูรายละเอียดใน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 1. (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 163.
[4] หลวงอุดมสมบัติ. จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ. น. 212-213.
[5] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ เรื่องจดหมายความทรงตำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2553), น. 549.
[6] จดหมายความทรงจำฯ บันทึกว่า ในปี พ.ศ. 2376 เกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือน 12 แรม 8 ค่ำ เวลา 3 โมง 5 บาท ครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 1 ขึ้น 13 ค่ำ เวลา 7 ทุ่มนาฬิกา. เรื่องเดียวกัน, น. 552-553. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกว่า ครั้งก่อนเกิดเมื่อเดือน 10 ส่วนครั้งที่ 2 วันเดือนตรงกัน. ดูรายละเอียดใน เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 1. น. 136. และจดหมายโหรฉบับพระยาประมูลธนรักษ์ บันทึกไว้ในวันศุกร์ เดือน 10 แรม 8 ค่ำว่า เพลา 2 โมงเศษ แผ่นดินไหว 3 ครั้ง. ใน ประชุมจดหมายเหตุโหร รวม 3 ฉบับ. (นนทบุรี : ต้นฉบับ, 2551), น. 52.
[7] 4-5 มงเช้า และ 1 ทุ่ม-ย่ำรุ่ง ดูรายละเอียดใน หลวงอุดมสมบัติ. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ. น. 254.
[8] วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา เขียนไว้ว่า “ฐานะของประชาชนพลเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับชนชาวเอเชียอื่น ๆ แล้ว นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก” ดู วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา. แผ่นดินพระนั่งเกล้า. นิจ ทองโสภิต (แปล). (กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2514), น. 291.
[9] กรมศิลปากร. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, 2530), น. 29-79. และ “ประกาศห้ามซื้อขาย สูบหรือกินฝิ่นของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3,” ใน เซอร์จอห์น เบาวริ่ง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (บรรณาธิการ). (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2550), น. 305.
[10] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 1209 (พ.ศ. 2390) เลขที่ 46 เรื่อง คัดสำเนาพระสุบินนิมิตของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
[11] มีสำเนาคำแปลข่าวในหนังสือพิมพ์และการชำระความตามบังคับอังกฤษทำผิดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ดังปรากฏในบัญชี จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 อย่างน้อย 3 เรื่อง นอกจากนั้นทูตอังกฤษยังกล่าวถึงพระคุณลักษณะข้อนี้ไว้ตรงกัน อาทิ จอห์น ครอว์ฟอร์ด บันทึกว่า “เจ้าชายกรมเจษฎ์…ทรงมีความรอบรู้ฉลาดเฉลียว…มีสติปัญญาเหนือกว่าเจ้าชายและเสนาบดีทั้งปวง” และ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์ ก็บันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามทรงเป็นบุคคลที่มีความปรีชาสามารถมากที่สุดในราชอาณาจักรของพระองค์” ดูรายละเอียดใน John Crawfurd. Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China. (Kuala Lumpur : Oxford University Press, 1967), pp. 125-126. และ เฮนรี เบอร์นีย์. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 3. ประสิทธิ์ เมธาคุณวุฒิ (แปล). (กรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2551), น. 27.
[12] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1212 (พ.ศ. 2393) เลขที่ 34 เรื่อง พระบรมราชโองการว่าด้วยเรื่องทรงมอบราชสมบัติเมื่อใกล้สวรรคตฯ
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์จักรพรรดิราชผู้ปราศจากช้างเผือก” เขียนโดย จริยา นวลนิรันดร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2564