
ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ถึง 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 27 ปี แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ไม่มีการแต่งตั้ง “พระบรมราชินี” พระอัครมเหสี หรือพระมเหสี ทั้งที่ทรงมีพระภรรยาเป็นเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมจำนวนถึง 56 คน
รัชกาลที่ 3 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) กับสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) ประสูติ ณ วันจันทร์ เดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายทับ”
พ.ศ. 2356 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 พระองค์เจ้าชายทับได้รับการสถาปนาเป็น “พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” กำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจว่าความฎีกา ทั้งได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณอยู่เสมอ กระทั่งพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์จึงได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3
เป็นที่ทราบกันว่าตลอดรัชสมัยของพระนั่งเกล้าฯ พระองค์ต้องเผชิญปัญหาทางการเมืองเรื่องสิทธิธรรม หรือพระชาติกำเนิด เพราะประสูติแต่พระมารดาที่เป็นตำแหน่ง “เจ้าจอม” มิใช่พระมเหสี ขณะที่พระอนุชา เจ้าฟ้ามงกุฎ (ภายหลังคือ รัชกาลที่ 4) ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
แม้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อพระราชอำนาจโดยตรง แต่ถือว่าทำให้เกิดความคลางแคลงใจในหมู่ชนจำนวนหนึ่ง ชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามมองว่าพระองค์คือลูกนอกสมรสของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน และรุนแรงถึงขั้นมองว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์จากการชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระอนุชาธิราช
สภาวการณ์ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “พระนั่งเกล้าฯ” ตั้งพระราชหฤทัยว่าจะคืนราชสมบัติแก่ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ จึงไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินี แม้จะทรงมีพระราชโอรสที่ประสูติในเจ้าจอมมารดาอยู่หลายพระองค์ด้วยกัน
แน่นอนว่า พระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมารดาที่มีพระอิสริยยศเป็น “พระบรมราชินี” ย่อมมีสิทธิธรรมในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ แต่กลับทรงปล่อยให้ตำแหน่งดังกล่าวว่างเว้น มีเพียงตำแหน่งเจ้าจอมมารดากับเจ้าจอมเท่านั้น
รัชกาลที่ 3 ทรงมีเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมทั้งสิ้น 56 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าจอมมารดา 36 คน เช่น เจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ พระธิดาในกรมขุนสุนทรภูเบศร์, เจ้าจอมมารดาจัน (เจ้าจันทร์แห่งเวียงจันทน์) พระราชธิดาเจ้าอนุวงศ์
เป็นเจ้าจอม 20 คน เช่น เจ้าจอมกลีบ ธิดาเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และเจ้าจอมน้อยเล็ก (น้อยเล็ก ณ นคร) ธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) เป็นต้น
ทรงมีพระราชโอรส 22 พระองค์ พระราชธิดา 29 พระองค์ รวมเป็น 51 พระองค์
ทั้งนี้ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า การที่พระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงสถาปนาตำแหน่งพระบรมราชินี เป็นเพราะทรงตั้งพระราชหฤทัยจะ “คืน” ราชสมบัติแก่เจ้าฟ้ามงกุฎอย่างจริงจังหรือไม่ อันที่จริง ตำแหน่งดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งยืนยันรับประกันว่าพระราชโอรสของพระองค์จะได้สืบราชสมบัติอย่างแน่นอน
เพราะตัวพระองค์เองยังเป็นพระราชโอรสในเจ้าจอมมารดา มิใช่พระราชโอรสในพระอัครมเหสี
เมื่อมีพระประชวรก่อนจะเสด็จสวรรคต ยังทรงมีพระราชดำรัสอนุญาตให้ขุนนางน้อยใหญ่ “ปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด…เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้.. (ก็ให้) ยกพระบรมวงศ์พระองค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราช”
ส่วนหนึ่งที่ใกล้เคียงที่สุด (เรื่องการคืนราชบัลลังก์) เห็นจะเป็นที่ “พระนั่งเกล้าฯ” ทรงมีพระราชดำรัสกับพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ว่า “ที่มีสติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านเจ้าฟ้าใหญ่ (รัชกาลที่ 4) ท่านฟ้าน้อย (พระปิ่นเกล้า)” กระนั้นก็มิได้รับสั่งมอบให้โดยตรง เพราะสุดท้ายก็ทรงปล่อยให้ที่ประชุมของพระบรมวงศานุวงศ์กับขุนนางทั้งหลายคัดเลือกกันเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไม กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จึงเป็น “พระราชธิดา” ที่รักยิ่งของ ร. 3
- เจาะลึกข้อมูลเชื้อสายอิสลาม มอญ จีน ในราชินีกุลรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5
- สื่อนอกอ้าง รัชกาลที่ 3 อยากให้พระราชโอรสครองราชย์ แต่ขุนนางใหญ่ไม่เห็นชอบ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปวีณา หมู่อุบล. (2567). อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : มติชน.
ส.พลายน้อย. (2554). พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ :ฐานบุ๊คส์.
วุฒิชัย มูลศิลป์. “มหาชนนิกรสโมสรสมมุติ” : พระราชปะเพณีการสืบราชสมบัติสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2429. ใน วารสารราชบัณฑิต ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค. 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2567