“Golden Boy” ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง รูปสนองพระองค์ “พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2” ?

Golden Boy
Golden Boy

ถกเถียงกันมานานว่า “Golden Boy” เป็นรูปสนองพระองค์ของใคร จนมีข้อเสนอหนึ่งเสนอว่า Golden Boy เป็นรูปสนองพระองค์ของ “พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2”

ข้อเสนอนี้เป็นของ “รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เล่าไว้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.3 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมร ไม่ใช่ต้นแบบ “Golden Boy” !? ใน YouTube : ศิลปวัฒนธรรม (ดูครบทั้ง 4 EP. ได้ที่นี่ คลิก) แบ่งเป็น 2 เหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

1. รูปแบบการนุ่งผ้าของ “Golden Boy” ไม่เหมือนกับภาพสลักที่ปราสาทพิมาย

ปราสาทพิมาย ที่ อ. พิมาย จ. นครราชสีมา เป็นปราสาทสำคัญของราชวงศ์มหิธรปุระ หากอ้างอิงจากจารึกกัลปนา จะเห็นว่ามีการกัลปนา (ส่วนบุญที่ผู้ทำอุทิศให้แก่ผู้ตาย) ข้าวของเครื่องใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 1655 แล้ว จึงทำให้ทราบได้ว่าปราสาทพิมายนั้นต้องสร้างเสร็จก่อน พ.ศ. 1655

ขณะเดียวกันพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1623 และสิ้นพระชนม์ปี 1650 ซึ่งการทำ Golden Boy ก็ต้องทำหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต ทว่าหากดูที่ลักษณะผ้านุ่งห่มของประติมากรรมชิ้นนี้กลับมีลักษณะที่แตกต่างออกไป ไม่เหมือนกับที่พบในภาพสลักที่ปราสาทพิมาย

จากตรงนี้ ทำให้คาดได้ว่า “Golden Boy” อาจไม่ใช่รูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6

2. สืบเนื่องจากข้อแรก ที่ลักษณะผ้านุ่งไม่เหมือนกับภาพที่สลักในปราสาทพิมาย ตรงนี้ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ มองว่า ผ้านุ่งของประติมากรรมที่ไทยเพิ่งได้รับนี้ เหมือนกับประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทที่เชื่อมโยงกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งเก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ปราสาทแห่งนี้ พระองค์ได้สั่งให้ขุนนางสร้างขึ้น ก่อนที่ขุนนางจะทำการกัลปนาอุทิศถวาย ประติมากรรมจากปราสาทแห่งนี้จึงต้องหล่อในยุคนี้ ทำให้ทราบได้ว่าประติมากรรมสระกำแพงใหญ่เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

ที่สำคัญคือประติมากรรมสระกำแพงใหญ่มีรูปแบบศิลปะที่คล้ายคลึงกับ Golden Boy อยู่มาก โดยเฉพาะรูปแบบการนุ่งผ้า คือมีการนุ่งผ้าเว้า ขอบผ้าข้างหน้าต่ำกว่าข้างหลัง ซึ่งลักษณะนี้เรียกว่าเป็นการสร้างร่วมรุ่นในศิลปะแบบบาปวน

ทั้ง Golden Boy ยังมีรูปแบบศิลปะเหมือนกับประติมากรรมนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่พบในปราสาทแม่บุญตะวันตก ประเทศกัมพูชา ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้มีข้อมูลระบุว่า หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้คาดการได้ว่า “Golden Boy” ไม่ใช่รูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แต่ Golden Boy เป็นรูปสนองพระองค์ของ “พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2” ต่างหาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.silpa-mag.com/history/article_126814


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2567