รู้ได้อย่างไร “Golden Boy” เป็นของไทย ไม่ใช่เขมร?

โกลเด้นบอย Golden Boy เป็นของไทย ไม่ใช่ กัมพูชา พบ ที่ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา บุรีรัมย์
Golden Boy ประติมากรรมสำริด อายุนับพันปี (ภาพ : กรมศิลปากร)

ช่วงนี้ คนไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชื่อ “Golden Boy” ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองอายุนับพันปี ที่ไทยเพิ่งได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The MET) สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เนื่องจากพิสูจน์ยืนยันได้ว่า Golden Boy เป็นของไทย พบที่ ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา จ. บุรีรัมย์ 

ประติมากรรมสำริดชิ้นนี้ เมื่อครั้งจัดแสดงที่ The MET มีป้ายอธิบายบอกว่า เป็น “พระศิวะยืน” จากนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ก่อนพิสูจน์ทราบภายหลังว่า แท้จริงพบที่ประเทศไทย และถูกจำหน่ายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2531

รู้ได้อย่างไร “Golden Boy” เป็นของไทย ไม่ใช่กัมพูชา?

เรื่องนี้ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระด้านโบราณคดี และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย มีคำตอบ

“ตอนจัดแสดงที่ The MET ไทยไม่เคยติดใจว่ามีการค้นพบ Golden Boy ในไทย จนกระทั่ง แองเจลลา ชิว นักวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งอยู่ที่อังกฤษ หนึ่งในทีมที่ช่วยในการติดตามคืนโบราณวัตถุไทย ได้ส่งข้อมูลมาให้ผมชิ้นหนึ่ง บอกว่าประติมากรรมชิ้นนี้อาจเป็นของไทย” ดร. ทนงศักดิ์ บอก

หลักฐานอ้างอิงอย่างหนึ่ง มาจากหนังสือ “Khmer Gold : Gift for the Gods” ผลงานของ เอมมา ซี. บังเกอร์ และ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ที่ระบุว่า มีประติมากรรมสำคัญพบในประเทศไทย ที่บ้านยาง อ. ละหาน เป็นแบบบาปวน กะไหล่ทอง อยู่ที่เมโทรโปลิทัน

ในหนังสือบอกอีกว่า ตำแหน่ง “บ้านยาง” กับ “ละหาน” นี้ ยังพบฐานประติมากรรมอยู่ เป็นฐานทรายซึ่งยังอยู่ติดที่ ไม่ได้อยู่ในกัมพูชา แปลว่าต้องเป็นของประเทศไทยแน่ๆ

เมื่อทราบข้อมูลนี้แล้ว ดร. ทนงศักดิ์ จึงค้นคว้าต่อไป

ความยากคือ “บ้านยาง” ไม่ได้มีแห่งเดียวในไทย แต่เป็นชุมชนที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในภาคอีสาน ดร. ทนงศักดิ์ จึงต้องสอบถามจากชาวบ้านในพื้นที่ไปเรื่อยๆ และติดตามไปจนพบ “ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา” อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์

ที่นั่น ดร. ทนงศักดิ์ ได้พบผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์การขุดหาโบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ. 2518 และจำรายละเอียดทุกส่วนของประติมากรรมชิ้นนี้ได้ ทั้งยังได้เจอครอบครัวที่ขุดพบ Golden Boy และขายให้ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ไปในราคา 1 ล้านบาท

เหล่านี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้ฝ่ายไทยสามารถยืนยันได้ว่า Golden Boy อยู่ในดินแดนไทยจริงๆ

สืบสวน-สอบสวน ส่ง “โบราณวัตถุ” คืนประเทศต้นทาง

นักวิชาการคนเดิม ที่มีบทบาทสำคัญในการทวงคืนโบราณวัตถุไทยมาอย่างต่อเนื่อง เล่าให้ “ศิลปวัฒนธรรม” ฟังว่า

“รัฐบาลกัมพูชาได้ติดตามคืนโบราณวัตถุที่ออกจากกัมพูชาโดยผิดกฎหมาย เมื่อกัมพูชาตรวจสอบพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศก็จำเป็นต้องเอาข้อมูลมายืนยันว่า เขาครอบครองโบราณวัตถุชิ้นนี้โดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่าเขาไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้เลยว่า โบราณวัตถุทุกชิ้นที่กัมพูชาพยายามติดตามคืน มีการซื้อขายโดยการประมูลที่ถูกกฎหมาย

สำนักอัยการนิวยอร์กใต้ได้เข้าไปร่วมในกระบวนการตรวจสอบพวกนี้ด้วย รวมกับเจ้าหน้าที่นักสืบของ Homeland Security ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนการครอบครองโบราณวัตถุที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทุกคนรับทราบข้อมูลนี้ดีว่า ในแต่ละพิพิธภัณฑ์ไม่มีหลักฐานการได้มาของโบราณวัตถุเหล่านั้นเลย จึงจำเป็นต้องส่งคืนกลับประเทศต้นทาง โดยเฉพาะกัมพูชา เขาส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดต่อกับทางพิพิธภัณฑ์ ติดต่อกับทางนักกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา

เพราะฉะนั้น การได้รับโบราณวัตถุแต่ละชิ้นเกิดจากการสืบสวนสอบสวนของทางกัมพูชาอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็เกิดจากการติดตามของคณะติดตามคืนโบราณวัตถุด้วยส่วนหนึ่ง”

Golden Boy เป็นหนึ่งในโบราณวัตถุที่ไม่พบหลักฐานการซื้อขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และยังพบว่า Golden Boy เป็นของไทย ดังนั้น The MET จึงตัดสินปลดทะเบียนออกจากพิพิธภัณฑ์ และส่งกลับคืนไทยในที่สุด

ใครที่อยากชมความงามของประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองนี้ สามารถเข้าชมได้ที่ห้องศิลปะลพบุรี (ห้อง 404) ชั้น 2 อาคารมหาสุรสิงหนาท ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยยังไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดการจัดแสดง

หมายเหตุ : ติดตามชม SILPA PODCAST GOLDEN BOY พอดแคสต์เดียวที่นำเสนอเรื่องราว Golden Boy ทุกมิติแบบเต็มอิ่ม จาก 4 นักวิชาการชั้นนำได้ ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567