ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ประติมากรรม “Golden Boy” ที่พิพิธภัณฑ์ The MET (The Metropolitan Museum of Art) สหรัฐอเมริกา กำลังจะส่งคืนไทยในเดือนพฤษภาคมนี้นั้น ภัณฑารักษ์ของ The MET อย่างมาร์ติน เลิร์นเนอร์ เชื่อว่า เป็นรูปสนองพระองค์ของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ทั้งนี้ รูปสนองพระองค์ไม่ใช่รูปเหมือนแบบ portrait แต่เป็นรูปเหมือนในอุดมคติของพระมหากษัตริย์เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว คล้ายกับรูปพระเชษฐบิดร ผีบูรพกษัตริย์ที่คอยปกป้องอาณาจักรนั่นเอง
อย่างไรก็ดี รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นแย้งในประเด็นที่ว่า เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แต่ได้ฟันธงว่า “Golden Boy” เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์ยุคเขมรโบราณ ก่อนหน้ารัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หลายปี
เหตุผลประการแรกคือ รูปแบบการนุ่งผ้าของ “Golden Boy” ไม่เหมือนกับภาพสลักที่ปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทสำคัญของราชวงศ์มหิธรปุระ ซึ่งมีพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ ปราสาทพิมายไม่ทราบปีก่อสร้างแน่ชัด แต่หากอ้างอิงข้อมูลที่ปรากฏในจารึกกัลปนา ที่สลักบริเวณโคปุระของปราสาทได้ระบุว่า ใน พ.ศ. 1655 ได้มีการกัลปนาข้าวของเครื่องใช้เรียบร้อยแล้ว นั่นจึงแสดงว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างเสร็จตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1655
รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ชี้ประเด็นว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ครองราชย์ใน พ.ศ. 1623 และสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 1650 และรูปสนองพระองค์จะต้องทำเมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ถ้าประติมากรรม “Golden Boy” เกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ลักษณะผ้านุ่งของ “Golden Boy” ก็ควรจะต้องเหมือนกับรูปแบบการนุ่งผ้าที่พบตามภาพสลักที่ปราสาทพิมาย แต่ “Golden Boy” กลับนุ่งผ้าแตกต่างออกไป
เหตุผลประการที่สองคือ รูปแบบการนุ่งผ้าของ “Golden Boy” เหมือนกับประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่
ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า “Golden Boy” มีรูปแบบการนุ่งผ้าต่างจากภาพสลักที่ปราสาทพิมาย โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ระบุว่า ประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะการนุ่งผ้าเหมือนกับประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งเก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นปราสาทที่มีความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พระราชบิดาของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2) โดยพระองค์สั่งให้ขุนนางไปสร้างกำแพงที่ปราสาทแห่งนี้ และต่อมาใน พ.ศ. 1585 ขุนนางทั้งหลาย ได้กระทำการกัลปนาอุทิศ ดังนั้น ประติมากรรมจากปราสาทแห่งนี้ก็ต้องหล่อขึ้นในยุคนี้ด้วย
ซึ่ง รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ยืนยันว่า ประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1
ประเด็นสำคัญคือ ประติมากรรมที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ มีรูปแบบศิลปะหลายประการเหมือนกับ “Golden Boy” มาก โดยเฉพาะรูปแบบการนุ่งผ้าที่เหมือนกันจนแทบจะถอดแบบกันมาเลยทีเดียว คือนุ่งผ้าเว้า ขอบผ้าข้างหน้าต่ำกว่าข้างหลัง ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นของที่สร้างร่วมรุ่นในศิลปะแบบบาปวน
นอกจากนี้ “Golden Boy” ก็ยังมีรูปแบบศิลปะที่เหมือนกับประติมากรรมพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่พบในปราสาทแม่บุญตะวันตก ประเทศกัมพูชา ซึ่งชิ้นนี้มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
ด้วยข้อมูลที่สอดคล้องกันนี้ รศ. ดร. รุ่งโรจน์ จึงมั่นใจว่า “Golden Boy” เก่าแก่กว่ายุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จึงไม่ใช่รูปสนองพระองค์ของเจ้าปฐมวงศ์มหิธรปุระ หากแต่เป็นรูปสนองพระองค์ของพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2
ติดตามรับชมเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.3 “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” กษัตริย์เขมร ไม่ใช่ต้นแบบ “Golden Boy” โดย รศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.00 น. YouTube : Silpawattanatham
อ่านเพิ่มเติม :
- “อีสานใต้” เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม “ทวารวดี-เขมรโบราณ”
- โกลเด้นบอย ไม่มีทางเป็นรูปของ “พระอิศวร” หรือ “พระศิวะ” แน่นอน เพราะเหตุใด?!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567