“อีสานใต้” เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม “ทวารวดี-เขมรโบราณ”

ศิลาจารึก พระเจ้ามเหนทรวรมัน อักษรปัลลวะ แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน ร้อยเอ็ด
จารึกอักษรปัลลวะ บนฐานรูปเคารพ พบที่แหล่งโบราณคดีดอนขุมเงิน จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจาก เว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด)

ดินแดน “อีสานใต้” แหล่งกำเนิด Golden Boy เบ้าหลอมทางวัฒนธรรม “ทวารวดี – เขมรโบราณ”

บริเวณ “อีสานใต้” ของประเทศไทย พบร่องรอยความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับบริเวณทะเลสาบเขมรค่อนข้างเด่นชัด นั่นคือ ปราสาทหิน ตลอดจนโบราณสถาน-วัตถุ เนื่องในวัฒนธรรมเขมรโบราณมากมาย

ขณะเดียวกันยังมีร่องรอยวัฒนธรรม “ทวารวดี” จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏให้เห็นเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่า ในยุคโบราณ พื้นที่อีสานใต้ คือ “เบ้าหลอม” ทางวัฒนธรรม คือมีทั้งวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรโบราณ ผสมปนเปกัน และพัฒนาคลี่คลายเป็นวัฒนธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำมูล แหล่งกำเนิดประติมากรรม “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ที่พิพิธภัณฑ์ The MET สหรัฐอเมริกา กำลังจะส่งคืนไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ 

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและประวัติศาสตร์กัมพูชา ชวนแกะรอย “โกลเด้นบอย” โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องวัฒนธรรมแรกเริ่มในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง หรือ “อีสานใต้” แหล่งกำเนิดประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” ตลอดจนจารึกที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดังกล่าว ในฐานะถิ่นฐานของกษัตริย์ราชวงศ์มหิธรปุระ ที่มีบทบาทในการสถาปนาปราสาทสำคัญมากมายในอีสานใต้และที่ลุ่มทะเลสาบเขมร

อาจารย์ศานติเล่าว่า อีสานใต้มีหลักฐานทางโบราณคดี และลายลักษณ์อักษร ที่ชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมของอาณาจักรเจนละในพื้นที่แถบนี้ โดยเฉพาะศิลาจารึกของพระเจ้าจิตรเสนมเหนทรวรมัน และศิลาจารึกของพระเจ้าภววรมันที่ 2 กษัตริย์อาณาจักรเจนละ ที่มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 อาจอนุมานได้ว่า ภาคอีสานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเจนละมาก่อน

ซึ่งนั่นหมายรวมถึงบริเวณปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์ จุดที่พิสูจน์ทราบว่าคือที่ตั้งของ “โกลเด้นบอย” ประติมากรรมสำริด ที่สร้างขึ้นในอีกหลายร้อยปีให้หลัง คือพุทธศตวรรษที่ 16

อาจารย์ศานติชี้ให้เห็นว่า ร่องรอยของ อาณาจักรเจนละ โดยเฉพาะการพบจารึกอักษรปัลลวะในอีสานใต้ ถือเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมต้นกำเนิดในพื้นที่แถบนี้ ทั้งนี้ ในยุคโบราณภาคอีสานมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าดินแดนอื่น ๆ เพราะเป็นแหล่งเกลือ และเหล็ก ซึ่งถือเป็นสินค้าสำคัญของโลกยุคโบราณ

กระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรเจนละแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ เจนละบก กับเจนละน้ำ เชื่อว่าบริเวณอีสานใต้คือส่วนหนึ่งของเจนละบก กินอาณาบริเวณตั้งแต่ลาวใต้มาถึงอีสานใต้ มีแคว้นสำคัญคือ “ภวปุระ” ส่วนเจนละน้ำ คือบริเวณลุ่มทะเลสาบเขมรไปจนถึงปากแม่น้ำโขง ได้พัฒนาเป็นอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15

แต่เจนละบกแตกต่างออกไป อาจารย์ศานติอธิบายว่า ดินแดนเจนละบกในพื้นที่อีสานใต้ไม่มีผู้ปกครองที่มีอำนาจมาก หรือสามารถรวมตัวกันเป็นอาณาจักรรวมศูนย์ ช่วงเวลานี้เองเริ่มมีวัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางของไทยแพร่เข้ามา ดังปรากฏหลักฐาน เช่น เมืองเสมา ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบร่องรอยของวัฒนธรรมทวารวดีค่อนข้างเด่นชัด โดยนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า นี่คือเป็นศูนย์กลางรัฐโบราณที่ชื่อ “ศรีจนาศะ”

ทั้งนี้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 นี่เอง อาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนครได้แผ่อำนาจขึ้นมายังพื้นที่อีสานใต้อีกครั้ง วัฒนธรรมเขมรโบราณจึงแผ่กลับเข้ามาทับซ้อนกับวัฒนธรรมทวารวดีในพื้นที่ดังกล่าว เมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยุคนั้นจึงมีทั้งวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ

อย่างไรก็ดี เมืองเสมาถือว่าตนเองเป็นรัฐอิสระ เพราะระบุในจารึกชัดเจนว่าตนอยู่นอก “กัมพุชเทศ” หรืออยู่นอกเขตของกัมพูชาโบราณ

กระทั่งสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนคร จึงพบหลักฐานการทับซ้อนทางวัฒนธรรมอย่างเด่นชัดในพื้นที่เมืองเสมา คือ จารึกเมืองเสมา ที่กล่าวถึงพราหมณ์ยัชญวราหะ ราชครูในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ได้เข้ามาสร้างและดูแลศาสนสถานในพื้นที่แล้วก็ทำจารึกต่าง ๆ เอาไว้

อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรโบราณในอีสานใต้หยั่งรากลึกยิ่งขึ้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ดังจะเห็นได้จากการสร้าง “ปราสาทพระวิหาร” ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.1 “เขมรโบราณ” ถิ่นอีสานใต้ แหล่งกำเนิด “Golden Boy” โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ที่ YouTube : Silpawattanatham

 

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กุภาพันธ์ 2567