ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“หีบกุดั่นลายมังกร” คือ “หีบศพ” เป็นหีบไม้จำหลักลาย “มังกรไทย” ปิดทอง ประดับกระจก (“กุดั่น” หมายถึง ลายปิดทองประดับกระจก) ตัวหีบก้นสอบ ปากผาย ไม่มีฝา ในอดีตเวลาใช้งานจะมีผ้าเยียรบับคลุมบนหลังหีบ ถือเป็น “หีบศพ” ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความวิจิตร แต่ไม่ปรากฏประวัติที่มาชัดเจนนัก
ประวัติการใช้งานหีบกุดั่นลายมังกรนั้น ทราบเพียงแต่เดิมถูกใช้พระราชทานประดับบรรดาศักดิ์ศพของข้าราชการที่มีฐานันดรชั้นพระและชั้นหลวงเชื้อสายจีน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า หีบนี้เคยเป็น “หีบศพบรรดาศักดิ์” สมบัติของวังหน้ารัชกาลที่ 1 คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
วิเคราะห์จากรูปทรงหีบที่เป็นแบบโบราณ ผูกลายมังกรไทย ศิลปะยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นงานฝีมือเดียวกันกับผู้ผูกลายหย่องพระบัญชร หมู่พระวิมาน ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และหอมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสนาดราม (วัดพระแก้ว) จึงเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือช่างในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 แน่ และอาจมีความเก่าแก่กว่าหีบหลวงใบอื่น ๆ
หีบนี้ถูกสร้างให้ประดับกระจกทั้งตัว ที่ชำรุดหลุดร่วงไปก็มาก แต่ยังมีชิ้นกระจกติดเหลืออยู่บ้าง คงเพราะถูกใช้งานหลายครั้งจนเสื่อมสภาพ และด้วยขนาดที่เล็กกว่าหีบศพทั่วไป จึงอนุมานได้ว่าเป็นหีบที่สร้างขึ้นสำหรับศพผู้หญิง
กรมพระยาดำรงฯ ทรงวิเคราะห์ว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ คงโปรดให้สร้างหีบกุดั่นลายมังกรเพื่อใส่ศพ นักนางแป้น (แม้น) หรือ “นักชี” มารดาของ “นักองค์อี” พระสนมเอกในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาถ
นักนางแป้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระชายาในพระนารายน์รามาธิบดี (นักองค์ตน) พระเจ้ากรุงกัมพูชา ภายหลังเมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ได้บวชชี จึงเรียก “นักชี”
ทั้งนี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงพระกรุณาให้ความยกย่องอุปถัมภ์นักชีมาก แต่ไม่ปรากฏว่ามียศศักดิ์ในทางราชการ
เมื่อนักชีสิ้นชีพ จึงโปรดเกล้าให้ทำหีบลายมังกรประดับกระจกใส่ศพให้เป็นเกียรติยศ
หีบกุดั่นลายมังกรถูกเก็บรักษา และใช้งานเรื่อยมา แต่ยุคหลัง ๆ ขาดผู้รู้ตำนาน จึงถูกใช้เป็นหีบพระราชทานประดับศพข้าราชการชั้นผู้น้อย เมื่อกรมพระยาดำรงฯ ได้สืบค้นประวัติความเป็นมา และเล็งเห็นว่าเป็นหีบศพที่มีคุณค่าในฐานะที่เป็นงานฝีมือช่างไทยยุคแรกเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงแนะนำให้เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้เป็นของโบราณแทน
ปัจจุบัน “หีบกุดั่นลายมังกร” เก็บรักษา และจัดแสดงอยู่ที่โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อ่านเพิ่มเติม :
- “วังหน้า” กรุงรัตนโกสินทร์ มีกี่พระองค์ ใครบ้าง?
- กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเสี่ยงทายอธิษฐาน? ก่อนสวรรคต
- พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕ ในการออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ. สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๗๘ : วินิจฉัยเรื่องประวัติโกศและหีบศพที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถาน. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2567