กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเสี่ยงทายอธิษฐาน? ก่อนสวรรคต

พระบรมราชานุสาวรีย์ วังหน้า "พระยาเสือ" ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือที่เรียกกันว่า “วังหน้า” เสด็จสวรรคต (3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346) ในพระที่นั่งบูรพาภิมุข อันเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในหมู่พระวิมาน 11 องค์ ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2325 ทุกวันนี้คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เอกสาร “พิพิธภัณฑสาร” ของ กรมศิลปากร (พ.ศ. 2479) อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 พระที่นั่งบูรพาภิมุขเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์จนเสด็จสวรรคต ยังมีที่ยกพื้นไม้ไว้เป็นสําคัญปรากฏอยู่จนบัดนี้ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญโปรดให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมพระชนนีประทับอยู่จนถึงอสัญกรรม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2469 รัชกาลที่ 7 พระราชทานหมู่พระวิมานทั้งหมดให้เป็นที่จัดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงจัดพระที่นั่งบูรพาภิมุขเป็นที่แสดงเครื่องดนตรีต่างๆ สืบมาจนถึงทุกวันนี้

“วังหน้าท่านเป็นน้องชาย รัชกาลที่ 1 ท่านเป็นทหารที่รบเก่ง มีอารมณ์ฉุนเฉียว ไม่สุขุมรอบคอบ เหมือนรัชกาลที่ 1 ครั้งหนึ่งมีเรื่อง โกรธเคืองกันเกือบทะเลาะกัน จนสมเด็จพระพี่นางทั้ง 2 พระองค์ ของรัชกาลที่ 1 กับวังหน้าซึ่งก็เคยเลี้ยงมาทั้งคู่ต้องไปเกลี้ยกล่อมให้ดีกัน ถึงดีกันได้…” ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรทรงเล่า

เรื่องราวตอนสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ทรงพระประชวรจนถึงเสด็จสวรรคต มีอยู่ในหนังสือ “นิพพานวังหน้า” ที่แต่งเป็นโคลงและกลอน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า นิพพานวังหน้าเป็นพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร พระธิดากรมพระราชวังบวรฯ ที่เกิดด้วยนักองค์อี (ธิดาของสมเด็จพระเจ้าอุไทยราชา เจ้ากรุงกัมพูชา) เล่าความตั้งแต่กรมพระราชวังบวรฯ ทรงประชวรว่า

ประชวรแต่มาฆมาเหมันต์   ฤดูนั้นเดือนหนาวเป็นคราวฝน

สิ้นทั้งวังตั้งแต่ทุกข์ระทมทน    ถึงยุคลมิ่งแก้วเกษกำนัล

หนังสือนิพพานวังหน้าเล่าว่ากรมพระราชวังบวรฯ ทรงอธิษฐานว่าถ้าจะหายประชวรให้เสวยพระสุธารสลงไปได้ ครั้นเมื่อเสวยพรพะสุธารสก็ทรงอาเจียน จึงทรงดำริเห็นว่าจะไม่รอด แล้วรับสั่งว่าจะไม่เสวยพระโอสถต่อไป เพราะจะเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้พระชนม์ยืนยาวไปอีก ได้ความทุกขเวทนานาน ดังนี้

เห็นพระทัยเป็นห่วงหน่วงถนอม    จะไกลกล่อมขวัญให้ระหวยหน

จึงเรียกรสอมฤตวิชียรชล    เสี่ยงกุศลซึ่งสร้างพระโพธิญาน

แม้ชนม์จะอยู่ช่วยบำรุงทวีป   ขอให้รีบรับน้ำรสาหาร

ถ้าชีวิตนี้จะปลิดไม่เนานาน   อย่าให้พานสอดคล่องนิยมยิน

เทเวศว่าต่อพระพักตร์พระชินศรี   แล้วเทวีทรงพระวิตกถวิล

พิษฐาณเสร็จเสวยวารีริน   แต่ชั้นกลิ่นกลืนกลับวิบัติเป็น

พระอาเจียนเวียนประทะอุระหมอง   จึงตรัสร้องว่าโอ้มิพ้นเข็ญ

เห็นสุเมรุเอนแล้วจะตรมตรอม    ………….

ทีนี้ถึงเทพถือโอสถทิพย์   ผจงหยิบมาประมูลทูลฉลอง

ไม่เสวยเลยให้เวทนาปอง  จะต้องเนิ่นทรมานรำคายเคือง

หนังสือนิพพานวังหน้ายังเล่าต่อไปอีกว่า ภายหลังได้เสด็จออกวัดมหาธาตุ ซึ่งพระมณฑปอันเพลิงไหม้ยังทําไม่แล้ว ขณะนั้นทรงพระประชวรมีทุกขเวทนากล้า จึงชักพระแสงดาบออกจะแทงพระองค์เสีย แต่พระโอรสทิ้งไว้ แล้วทูลเล้าโลมได้พระสติระงับเสด็จกลับเข้าพระราชวัง ทอดพระเนตรพระวิมานมณเฑียรด้วยความอาลัย

สุกรปักษ์เหมันติกามาส  เสร็จบําราศเอกานิราหาย

กําสรดสั่งยังวิหารอารามพราย  ถวายกรวอนทูลพระชินวงษ์

มณฑปดังจุฬามณีสวรรค์  พระเพลิงหั่นล้างให้เป็นผุยผง

พึ่งทรงสร้างฤาจะร้างไปเอองค์  จะชีพจงคตสิ้นเสียก่อนกาล

สถิตเถิดลาแล้วพระชินศรี   ชุลีหัตถ์ไห้ร่ำด้วยคําหวาน

พระวรรณโรครึงรนไม่ทนทาน  ทรมานนานเนิ่นก็เกินแรง

ประชวรซูบผิดพระรูปร่ำเทวษ   ชลเนตรนองพักตร์ชักพระแสง

จะล้างองค์ลงให้วางเสียกลางแปลง  โอรสแย่งเคียงยุดพระกรกุม

หนังสือนิพพานวังหน้าเล่าว่าสมเด็จพระเขษฐาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ที่ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือพระนิพพานวังหน้าเรียก “พระปิตุลา” เสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร แล้วกรมพระราชวังบวรฯ ทูลฝากพระโอรสและพระธิดา ขอให้คงครองอยู่ในพระราชวังบวรฯ สืบไป สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงรับคำเป็นมั่นคงดังนี้

เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว สมเด็จพระเชษฐาธิราชเสด็จไปประทับเบื้องพระเศียร ทรงพระกรรแสงเศร้าโศก ดังนี้

ทรงสถิตเหนือจอมพระศิโรเพฐน์    เห็นสังเวชหวามหวาบพระทัยหาย

กรายพระกรกรีดน้ำพระเนตรกระจาย  กระหม่อมหมายเหมือนชีวิตประลัยไป

………………………….   …………………………….

ดำรัสร่ำเรียกโอ้พ่อมิ่งเมือง   ถึงยามเคืองพี่ก็ข้ามตามถนอม

สู้เอาใจไม่ถือทั้งอดออม     เพราะหมายกล่อมขวัญน้องประคองเคือง

ถึงคราวณรงค์เคยรบประจัญหน้า หมู่ปัจจาถอยท้อไม่ต่อเถียง

ความสุขให้พี่แสนสำราญเวียง  อุระเพียงเพียบทุกข์สักพันกอง

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็ตสวรรคตในพระที่นั่งบูรพาภิมุขที่พระองค์ทรงสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2325 และทุกวันนี้คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่กรมศิลปากรจัดเป็นห้องแสดงเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีต่างๆ

แต่เดิมห้องดนตรีไทยนี้ไม่มีใครเหลียวแล จึงเป็นห้องรกรุงรัง ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปรารภว่าน่าจะจัดให้งามเพื่อความรอบรู้และรื่นรมย์แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้าชม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2562