
ผู้เขียน | กันตพงศ์ ก้อนนาค |
---|---|
เผยแพร่ |
น้ำใจนักกีฬา ถือว่าสำคัญมากในการแข่งขันทางการกีฬาหรือการแข่งขันอื่นใดก็ตาม ต้องเล่นอยู่ในกฎกติกา รู้แพ้ รู้ชนะ และยิ่งด้วยการรู้อภัย ดั่งเช่นเรื่องราวต่อไปนี้ แม้จะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เป็นยุคแห่งการฟื้นฟูทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ พระราชประเพณี ขนบธรรมเนียมครั้นสมัยกรุงเก่าให้กลับคืนมาเช่นครั้นบ้านเมืองดีอีกครั้ง
จุลศักราช 1150 หรือ พ.ศ. 2331 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ 6 ปี การค้าที่เคยซบเซาลงไปหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เริ่มกลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่ก็ไม่อาจเทียบเท่าแต่ก่อนมากนัก มีเรือกำปั่นฝรั่งเศสเข้ามาถึงพระนครหนึ่งลำโดยเรือกำปั่นนี้ได้นำพาสองพี่น้องนักมวยที่ขึ้นชื่อในวิชามวยมาด้วยไม่ว่าเดินทางไปเมืองใดจะท้าพนันนักมวยเมืองนั้นๆ ไปสู้แล้วเอาชนะมามากนักต่อนักแล้ว
เมื่อถึงกรุงสยามพี่น้องสองคนอยากประกาศศักดาให้ชาวเมืองได้รู้ จึงแจ้งล่ามของตนไปกราบเรียนให้เจ้าพระยาพระคลังให้ทราบที่ใคร่อยากจะขึ้นสังเวียนชกพนันกับนักมวยเมืองสยาม เจ้าพระยาพระคลังเมื่อทราบความจึงนำความนี้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาฯ จึงทรงนำความนี้มาปรึกษา พระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “ครั้นจะไม่แต่งคนมวยออกไปสู้ด้วยฝรั่งๆ เป็นคนต่างชาติก็จะดูหมิ่นว่าพระนครนี้ หาคนมวยดีจะต่อสู้มิได้ ก็จะเสื่อมเสียพระเกียรติยศปรากฏไปนานาประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับแต่งคนมวยที่มีฝีมือออกต่อสู้กับฝรั่ง เอาชัยชนะให้จงได้”

เมื่อทรงฟังดังนี้จาก พระโอษฐ์พระราชวังหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วยจึงทรงรับพนันฝรั่งสองคนพี่น้องโดยมีเดิมพันเป็นเงิน 50 ชั่ง พระราชวังหน้าทรงเป็นผู้คัดเลือกนักมวยฝีมือดีและแล้วก็ได้ หมื่นหาญ ซึ่งเป็นข้าราชบริพารในพระองค์เป็นคู่ชกด้วย หมื่นหาญนั้นมีรูปร่างล่ำสันมีฝีมือทางมวยดีกว่าเพื่อนจึงทรงคัดเลือกหมื่นหาญ การชกมวยครั้งนี้จัดขึ้น ณ บริเวณที่เรียกว่าโรงละครฝ่ายตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การชกมวยคราวนั้นอาจจะใช้เวลาในการชกไม่นานด้วยเหตุที่ว่า “ฝรั่งจะจับหักกระดูกไหปลาร้าหมื่นหาญๆ ยกมือขึ้นกันและชกพรากถอยพลาง” เมื่อฝรั่งจะจับตัวหมื่นหาญก็ไม่สามารถจับได้ เพราะด้วยหมื่นหาญนั้นก่อนแข่งได้ชโลมน้ำมันทาทั่วตัวตามอย่างการชกมวยของไทยก่อนทำการชกจะทาน้ำมันทั่วตัวเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ฝรั่งคนพี่ชายที่ดูการชกครั้งนี้อดรนทนไม่ไหวจึงเข้าไปในสังเวียนช่วยน้องชายจับหมื่นหาญ ซึ่งเป็นการทำผิดกติกา
วังหน้าทอดพระเนตรเป็นเช่นนั้นก็ทรงพระพิโรธ เสด็จเข้าไปในสังเวียนยกพระบาทถีบฝรั่งพี่ชายล้ม เหล่าข้าราชบริพารจึงรุมเข้าไปชกต่อยฝรั่งพี่น้องจนพกช้ำดำเขียวทั้งคู่เหตุการณ์เป็นไปอย่างอลหม่าน
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้ระงับการชกและทรงพระราชทานแพทย์ไปรักษาฝรั่งสองคนพี่น้องก่อนที่ทั้งสองจะเดินทางกลับออกไปจากแผ่นดินกรุงสยาม เรื่องราวคงเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันเป็นอย่างดี จนเป็นที่เล่าขานต่อมามีปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. (2526). กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุดเมื่อ 21 เมษายน 2562