พระยาพิชัยดาบหัก “แกล้งล้ม” ทำให้ชนะชกมวยหน้าพระยาตาก

พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์ อุตรดิตถ์
พระยาพิชัยดาบหัก

พระยาพิชัยดาบหัก หรือนายทองดี ชาวเมืองพิชัย (จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ผู้เป็นทหารเอกของ “พระเจ้าตากสินมหาราช” ที่เข้ารับราชการกับพระองค์ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่ง พระยาตาก-เจ้าเมืองตาก ด้วยความสามารถในการชกมวย เคยชกมวยต่อหน้าพระยาตาก และชนะด้วยการ “แกล้งล้ม”

พระยาพิชัยดาบหัก อนุสาวรีย์ อุตรดิตถ์

พระยาพิชัยดาบหักและการแกล้งล้ม

เขตร ศรียาภัย ปรมาจารย์มวยไทยเขียนถึงการ “แกล้งล้ม” ไว้ใน “ฟ้าเมืองไทย” เมื่อ 50 กว่าปีก่อน สรุปความได้ว่า

แกล้งล้ม ตามกติกาถือว่า เป็นผิด (foul) เป็นเรื่องที่ขัดต่อประเพณีและหลักการต่อสู้แบบมวยไทย ที่ถือว่าเมื่อฝ่ายใดล้มอีกฝ่ายหนึ่งต้องชะงักหรือหยุดการกระทำไว้ชั่วคราว และหากฝ่ายใดขืนทำอันตรายแก่ฝ่ายที่ล้ม นับว่าผิดประเพณี ยกเว้นแต่ “ลูกติดพัน” ซึ่งยอมให้ใช้ได้

แต่มวยไทยขนานแท้ก็ต้องฝึก “การล้ม” ให้เกิดความชำนาญ ไม่เป็นอันตรายหรือบาดเจ็บ และนอกจากล้มเพื่อมิให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บ ยังต้องฝึก “ลูกไม้” สำหรับทำร้ายคู่ชกที่เจตนาเข้ามาซ้ำอีกด้วย

นักมวยไทยคนใดไม่ได้ฝึกฝนการล้ม หรือไม่รู้วิธี “แกล้งล้ม” ก็นับว่ายังบกพร่องในวิชาต่อสู้แบบมวยไทย เพราะล้มแล้วเจ็บเป็นปมด้อยของนักมวย

การแกล้งล้ม เป็นวิธีเอาตัวรอด เมื่อนักมวยคนใดเสียเปรียบ ถือเป็นวิธีชะงักการต่อสู้ชั่วคราวอย่างหนึ่ง สำหรับมวยไทย เมื่อเสียท่าหรือถูกคู่ต่อสู้ติดตามต้อนกระหน่ำ ก็อาจใช้ไม้ “แกล้งล้ม” เพื่อให้คู่ต่อสู้ที่บุกเข้าหาด้วยกำลังแรงหลวมตัว ข้อสำคัญที่ควรระวังก็คือต้อง “แกล้งล้ม” มิให้หลังราบกับพื้น มิฉะนั้นหัวจะฟาดทำให้หมดสติ

เมื่อ “แกล้งล้ม” แล้ว ต้องรีบหดมือแนบขนานกับอก คู้ขาทั้งสองข้างจนโคนขาจรดหน้าท้อง เป็นวิธีป้องกันการ “ล้มทับ” ซึ่งเป็นแม่ไม้มวยไทย หรือขณะที่ฝ่ายตรงข้ามหลวมตัว เพราะไม่มีแรงปะทะ ทำให้ นักมวยที่ “แกล้งล้ม” อาจเหยียดขาข้างหรือสองข้าง (แบบถีบ) หรือเหน็บออกไปโดยแรง เป็นการป้องกัน “ล้มทับ” แบบลูกติดพัน

ที่สำคัญ อาจไม่มี “พระยาพิชัยดาบหัก” ถ้าไม่มีการ “แกล้งล้ม”

การแกล้งล้มครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติคราวนั้น อาจารย์เขตร ศรียาภัย อ้างอิงจากบันทึกของพระยาศรีสัชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ว่า

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

“อยู่มาวันหนึ่ง พระยาตาก (เจ้าเมืองตาก) พร้อมด้วยข้าราชการได้ประชุมเพื่อประกอบการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดดอยเขาแก้ว อันเป็นวัดใหญ่…วันนั้นพระตากได้จัดให้มีการชกมวยตามขนบประเพณีไทยที่เคยปฏิบัติกันมาแต่โบราณ 

หนุ่มผู้หนึ่งชื่อนายทองดี ฟันขาว (ฟันขาวมิใช่นามสกุล แต่เพราะไม่กินหมากเหมือนคนอื่นๆ) อายุอานามเพิ่งย่างเข้า 20 ปี) ได้เดินทางมาจากเมืองสุโขทัย เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าพระยาตากโปรดปรานการชกมวยยิ่งนัก เมื่อมาถึงเมืองตาก นายทองดีได้เข้าขออาศัยอยู่กับท่านพระครูซึ่งเป็นหมอ (พระ)…พอรู้ว่าพระยาตากจัดให้มีมวยที่วัดซึ่งตนอาศัยอยู่ก็แสนจะดีใจจนเนื้อเต้น แอบเข้าไปในสนามเปรียบมวยโดยมิให้ท่านพระครูระแคะระคายแม้แต่น้อย นายทองดีได้แจ้งความจำนงให้นายสนามหาคู่ให้ตน…” 

คู่ชกของนายทองดี หรือพระยาพิชัยดาบหัก ในวันนั้นก็คือ นายห้าว-ครูมวยมีชื่อของเมืองตากวัย 36 ปี ขณะที่นายทองดีอายุย่าง 21 ปี เป็นนักมวยไม่มีชื่อเสียงอะไร

เมื่อพระครูทราบเรื่องการเปรียบมวยคู่ดังกล่าว ก็มาหานายทองดีและเตือนด้วยความเป็นห่วง ให้นายทองดีกลับใจเสีย เพราะมีแต่เสียกับเสีย การเอาชนะนายห้าวเป็นเรื่องยาก ที่ผ่านมาคู่ชกที่แพ้นายห้าวแต่ละรายอาการปางตายทั้งนั้น หรือถ้าโชคดีชกชนะ นายห้าวที่มีลูกศิษย์เต็มเมืองก็คงอับอายและแค้น ต้องมาลอบเล่นงานแน่

นายทองดีได้ฟังดังนั้นก็กราบลาไปนอนก่ายหน้าผาก คิดหาหนทางจนม่อยหลับไป เมื่อถึงเวลาชกมวย ก็ขานชื่อนายทองดีอยู่หลายครั้งก็ไม่ปรากฏตัว ความทราบถึงพระยาตาก จึงสั่งให้คนออกค้นหานายทองดีให้ได้ ถ้ามันไม่สู้ก็ให้จับเฆี่ยนหลัง 30 ที จึงค่อยปล่อยตัว

ในที่สุดพบตัวนายทองดีก็ขึ้นชก อาจารย์เขตร บรรยายถึงมวยคู่หยุดโลกไว้ว่า

“คนดูต่างโห่ร้องและกระโดดโลดเต้น…นายห้าวไม่แสดงอาการสะทกสะท้านแม้แต่นิดเดียว มุ่งเขม้น ยิ้มแสยะย่างสามขุมเข้าหานายทองดีด้วยความร้อนรนแห่งโทสจริต 

นายทองดีคุมแน่น เพราะรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น

พอได้ระยะอันตราย นายห้าวเตะกราด (เตะตรงๆ ออกไปข้างหน้าเหมือนไก่) ลองเชิง สองตีนซ้อน

นายทองดีกระหยด พอพ้นระยะตีน

ต่อจากนั้นนายห้าวก็โถมเข้าชกและเตะตะบันด้วยพละกำลังมหาศาลเพื่อมิให้นายทองดีตั้งตัวติด 

แต่นายทองดีเตรียมตัวรับการบุกอยู่ทุกอึดใจตาไม่กะพริบ เมื่อเห็นปฏิปักษ์ใช้เชิงโหมรุนแรงเข้ามาก็พยายามปิดปัดอ่อนตามและฉากออกด้วยความว่องไวทันจังหวะ ไม่มีอวัยวะส่วนใดของนายห้าวถูกต้องร่างกายนายทองดีพอที่จะเกิดบาดเจ็บ

การติดตามของนายห้าวอย่างไม่ลดละ ทำให้นายทองดีต้องถอย ถอยเพราะแรงบุกทะลวง จนหลังติดเชือกสายสนาม

คนดูพากันฮือฮาลุกขึ้นยืนเพื่อให้เห็นถนัด

นายห้าวมิได้รับการโต้ตอบ จึงย่ามใจ ระดมชกเตะตะลุมบอนเพื่อขยี้นายทองดีให้ละเอียดเป็นเนื้อหมูสับอยู่กับสายสนาม (เพราะไม่มีกรรมการคอยช่วยเหลือนักมวยที่เสียเปรียบเหมือนในปัจจุบัน)

คนดูที่เอาใจช่วยข้างนายทองดีต่างใจหายใจคว่ำคิดว่าเจ้าหนุ่มตะกอคงสลบ ล่องกลับบ้านเพียงเพิ่งออกจากท่าโดยยังไม่ทันตั้งลำ

แต่ความจริงนายทองดี ฟันขาว มิได้ตระหนกตกใจที่ถูกบุกเป็นพายุบุแคม เมื่อเห็นท่าไม่ดีและเข้าตาจน จึงทำล้ม หรือ ‘แกล้งล้ม’…” 

การแกล้งล้มของนายทองดีครั้งนั้น ยังผลให้การรุกไล่ของนายห้าวเป็นอันต้องชะงักลงชั่วขณะตามประเพณีมวยไทยที่นิยมกันมา คนดูต่างสงสารและเอาใจช่วยนายทองดีหนุ่มแปลกหน้า ด้วยวิตกและเกรงว่านายทองดีอาจถึงตายเพราะฝีมือนายห้าว แม้พระยาตากเองก็ยังรู้สึกผิดหวัง และพะวงสงสัยว่านายทองดีจะเอาตัวไม่รอด จึงได้สั่งคนออกไปถามนายทองดีว่าจะสู้อีกหรือจะยอมแพ้

นายทองดีจึงขอให้คนกลับไปกราบเรียนพระยาตากว่า จะขอลองสู้ต่อไป พระยาตากก็ไม่ว่ากระไร นึกชมน้ำใจนายทองดีที่กล้าหาญสมศักดิ์ศรี เมื่อเริ่มจะชกใหม่สถานการณ์ก็พลิกผัน เป็นนายทองดีได้รับชัยชนะ พระยาตากชอบใจในฝีมือของนายทองดียิ่งนัก

การ “แกล้งล้ม” เป็นเล่ห์เหลี่ยม (tactics) ในวิชามวยไทยขนานแท้ ที่ชะงักความเสียเปรียบเพื่อหาโอกาสได้เปรียบ เป็นยุทธวิธีเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ และถ้าไม่ “แกล้งล้ม” ก็อาจไม่มี “พระยาพิชัยดาบหัก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้ เขียนเก็บความจาก เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย. สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2566