เปิดตำนาน “มวยไชยา” เมืองมวย-ครูมวยฝีมือฉกรรจ์ “ขุนพันธ์” มือปราบดังยังนับถือ

มวยคาดเชือก ศิริ สุวรรณวยัคฆ์ จีน พลจันทร​
ภาพประกอบเนื้อหา - การชกมวยโชว์ สมัยชกคาดเชือกระหว่าง ศิริ สุวรรณวยัคฆ์ กับ จีน พลจันทร​ ณ เวทีแข่งขันมวยนักเรียนสนามสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2470

เปิดตำนาน “มวยไชยา” ที่ “ท่านมา” บุกเบิกไชยาให้เป็น เมืองมวย-ครูมวยฝีมือฉกรรจ์ กระทั่ง “ขุนพันธ์” มือปราบดังยังนับถือ

สำนวนชาวใต้กล่าวยกย่องชาวไชยาและชาวชุมพร เพื่อชี้ให้เห็นความสามารถและความดีเด่นเชิงศิลปะพื้นบ้าน นั่นคือ “มวยดีไชยา – เพลงนาชุมพร”

Advertisement

มวยดีไชยา

ในอดีตไชยาเคยเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลชุมพร เมื่อมีการจัดตั้งเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองไชยาเปลี่ยนเป็นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาจนทุกวันนี้

เล่ากันว่า ผู้บุกเบิกเมืองไชยาเป็นถิ่นนักมวยลือชื่อ คือพระภิกษุรูปหนึ่งชาวบ้านเรียก “ท่านมา” ท่านเป็นชาวกรุงเทพฯ มีปัญหาหลบหนีมาอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ ภายหลังท่านมาเป็นสมภารวัดจับช้าง ปัจจุบันวัดนี้เป็นวัดร้าง (2552 – กองบรรณาธิการ) ชาวบ้านเคยเล่าว่าภิกษุรูปนี้เป็นครูมวยฝีมือดี สามารถสอนหนุ่มชาวไชยายุคนั้นให้รักศิลปะมวยไทย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองไชยาคือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ท่านเป็นผู้สนใจและสนับสนุนมวยไชยา ถึงกับเป็นครูมวยคนหนึ่ง มวยไชยายุคนั้นมีชื่อขจรขจายไปทั่วประเทศ คือ ปล่อง จำนงทอง ศิษย์เอกของเจ้าเมืองไชยา

ปล่องเป็นชาวบ้านหัววัว ตำบลเลม็ด ได้เดินทางไปชกมวยกับนักมวยโคราช ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เรียกกันว่าชกกันหน้าพระที่นั่ง ในงานพระเมรุกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระสุเมรุ (สนามหลวง) ด้านใกล้ป้อมเผด็จดัสกร

ปรากฏว่าปล่อง จำนงทอง เป็นฝ่ายชนะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็น “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อมกับผู้ชนะอีก 2 คน คือ “หมื่นมือแม่นหมัด” ซึ่งไม่ทราบชื่อจริง จากบ้านทะเลชุบศร ลพบุรี และ “หมื่นชงัดเชิงชก” ชื่อจริงคือ แดง ไทยประเสริฐ ชาวโคราช มีผู้กล่าวยกย่องนักมวยทั้งสามว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา”

ด้วยความดีความชอบดังกล่าว นักมวยทั้งสามไม่ต้องเสียส่วยสาอากร แม้มีความผิดก็ให้กรมการเมืองพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษได้ตามสมควร

ยุคสมัยพระยาวจีสัตยารักษ์เจ้าเมืองไชยา วงการเมืองไชยาคึกคัก มีการจัดคู่ชกกันเสมอ เช่น งานเทศกาลชักพระเดือน 11 ทุกปี มีงานสมโภชพระพุทธรูปหน้าศาลาเก้าห้อง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง เจ้าเมืองไชยาเป็นผู้สร้างศาลาเก้าห้อง เพื่อเป็นที่พักคนเดินทาง งานสมโภชดังกล่าวมีการชกมวยให้ชมเสมอ โดยพระยาวจีสัตยารักษ์เป็นประธาน มวยชกกันบนลานดิน ใช้เสาหลัก 4 เสา ขึงเชือกป่านขนาดใหญ่เป็นเวทีมวย

คู่มวยชกกันสมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนัก ดูรูปร่างใกล้เคียงกันเป็นอันใช้ได้ นักมวยใช้ด้ายดิบพันมือแทนนวม ศีรษะคาดด้ายประเจียดตลอดการชก โดยใช้กติกาสู้กัน 5 ยก ชกกันแบบ “ยกเวียน” คือ ยกที่ 1 ให้เวียนกันชกจนครบทุกคู่ จากนั้นขึ้นยกที่ 2 ถึงยกสุดท้ายก็เป็นเช่นนี้ คู่ไหนชกไม่ครบ 5 ยก ก็ให้ออกไป

ต่อมาเมื่อย้ายศาลากลางไปอยู่ที่บ้านดอน พระยาวจีสัตยารักษ์ก็ย้ายไปเป็นเจ้าเมืองที่นั่น เป็นผลให้การชกมวยที่ศาลาเก้าห้องเป็นอันเลิกราไป

ภายหลังมีการจัดชกมวยขึ้นอีกในงานวัดพระบรมธาตุเป็นงานประจำปี เดือน 6 มีการสร้างเวทีแทนชกกันบนลานดิน นักมวยใช้นวม และทุกคู่ชก 5 ยกต่อกัน เลิกชกแบบยกเวียน จัดอย่างกติกามวยไทยปัจจุบัน ต่อมาการชกมวยและการละเล่นมหรสพในงานวัดดังกล่าว ท่านเจ้าคุณพุทธทาสภิกขุให้ยกเลิก คงไว้แต่พิธีศาสนา

ค่าย มวยไชยา มีชื่อเสียงที่สร้างนักมวยมามากต่อมาก เช่น ค่าย ศ. ปักษี ของ นิล ปักษี ศิษย์เอกผู้หนึ่งของพระยาวจีสัตยารักษ์ ค่ายชัยภิรมย์ ของ นุ้ย อักษรชื่น เป็นศิษย์ของหมื่นมวยมีชื่อ ค่ายวงศ์ไชยา ของ จ้อย เหล็กแท้ ค่ายบำรุงหิรัญ ของจ้วน หิรัญกาจญ์ ค่ายศรีวิชัย ของบุญส่ง เทพพิมล ค่าย ศ. สิงห์ชัย (ทองสำลี)

นักมวยไชยาในอดีตเป็นที่รู้จักในวงการมวยยุคนั้น เช่น หมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) สอน ศักดิ์เพชร นิล ปักษี เต็ม กัณหา พร้อม อินทร์อักษร และ จ้อย เหล็กแท้ ฯลฯ

พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร์ พันธรักษ์) หรือหลายคนรู้จักในชื่อ “ขุนพันธ์” ผู้ซึ่งได้รับสมญาว่านายพลตำรวจหนังเหนียว หรือจอมขมังเวท ท่านเคยเขียนเรื่อง “มวยไทย” และพูดถึงเมืองไชยาไว้ว่า “เมืองไชยาเขาให้ชื่อว่าเป็นเมืองมวย เพราะมีครูมวยเก่งๆ มาก และเป็นมวยหักศอก เข่า เรียกว่ามวยวงใน มีฝีมือฉกรรจ์น่านับถือ ผู้เขียนรู้จักแต่รุ่นสนามเสือป่าและสนามสวนกุหลาบ มี เต็ม กัณหา คล่อง กัณหา และนายเข็ม”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “มวยดีไชยา – เพลงนาชุมพร” โดย ประพนธ์ เรืองณรงค์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2565